ทำไมแก้โควิดจาก ‘ดาวรุ่ง’ เป็น ‘ดาวตก’
ผลจัดอันดับดัชนีการฟื้นตัวจากโควิด ชี้ให้เห็น 3 ประเทศที่ปีที่แล้วเป็นดาวรุ่งในการแก้โควิด แต่ ปีนี้พลิกเป็น “ดาวตก” ทำไมถึงเป็นเช่นนี้
อาทิตย์ที่แล้วมีแฟนคอลัมน์ส่งผลจัดอันดับดัชนีการฟื้นตัวจากโควิด รวบรวมโดยนิตยสาร Nikkei Asian Review มาให้ที่สามประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย อดีตเป็นดาวรุ่งในการแก้โควิดปีที่แล้ว ปีนี้เป็น “ดาวตก” เพราะมีการระบาดและการเสียชีวิตมาก ถูกจัดให้อยู่ท้ายตารางดัชนีการฟื้นตัว โดยมีจีนอยู่อันดับหนึ่ง อินโดนีเซียอันดับ 110 มาเลเซียอันดับ 114 และไทย 119 จาก 120 ประเทศ คำถามคือทำไมถึงเป็นเช่นนี้ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ในบทความ “มีทางออกไหมสำหรับวิกฤตโควิด-19 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Is there a way out of Southeast Asia’s Covid-19 disaster) ตีพิมพ์วันที่ 21 กรกฎาคม ผู้เขียน Swee Kheng Khor ให้ความเห็นว่า มีเพียงสามประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทางการขณะนี้ยังควบคุมสถานการณ์ระบาดได้ คือ บรูไนสิงคโปร์และเวียดนาม ส่วนที่เหลือสถานการณ์อ่อนไหวมากโดยเฉพาะไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นมากจากปีที่แล้ว และถ้าเทียบสามประเทศนี้กับประเทศที่ทำได้ดี เช่น สิงคโปร์และเวียดนาม ความแตกต่างเห็นได้ชัดเจน
หนึ่ง จำนวนการตรวจเชื้อเชิงรุกทั้งสิงคโปร์และเวียดนามทำได้จริงจังกว่า
สอง ความเข้มแข็งของรัฐบาลที่สามารถรวบรวมพลังภาครัฐและสังคมเข้าแก้ปัญหา
สาม การควบคุมการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลทำได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อหยุดการระบาด แต่ที่อินโดนีเซียและไทยไม่ได้ทำ (หมายถึงวันหยุดสงกรานต์) ทำให้การระบาดเร่งตัวมากสองอาทิตย์ให้หลัง
สี่ การฉีดวัคซีนทำได้ช้า แต่เวียดนามก็ช้า
ห้า การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่ระบาดเร็ว
นี่คือห้าปัจจัยที่ทั้ง อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย ทำได้ไม่ดี ทำให้การระบาดมีต่อเนื่อง บทความเสนอสี่แนวทางที่อาจเป็นทางออกจากวิกฤติ
หนึ่ง ต้องเน้นพฤติกรรมคนในสังคมให้สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง เร่งเรื่องการตรวจติดตามแยกผู้ติดเชื้อ และหยุดกิจกรรมเศรษฐกิจหรือลดการเดินทางในและเข้าออกพื้นที่เป้าหมาย
สอง การทำนโยบายและมาตรการต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริง (Evidence-based) มีเงินสนับสนุนและปลอดเงื่อนไขที่ไม่จำเป็น (Excessive Red Tape)
สาม ฉีดวัคซีนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
สี่ ประเทศต่างๆ ควรร่วมมือกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา เช่น สั่งซื้อวัคซีนเป็นล็อตใหญ่ร่วมกัน หรือเจรจาต่อรองบริษัทยาเรื่องสิทธิบัตรวัคซีนและยาร่วมกัน เพื่อเพิ่มพลังในการต่อรอง
ข้อเสนอเหล่านี้น่าสนใจ แต่ที่สำคัญและพูดถึงกันน้อย คือประเด็นการตัดสินใจด้านนโยบายของรัฐบาลที่ต้องจริงจังและตรงประเด็น เพื่อให้การแก้ปัญหาประสบความสำเร็จ ไม่ล่าช้าหรืออ่อนกว่าที่ควรจะเป็นเพราะอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ เช่น ภาคธุรกิจ ซึ่งตัวอย่างในเรื่องนี้คือ อินโดนีเซีย
สำนักข่าวบลูมเบอร์ก วันที่ 22 กรกฎาคมออกบทความ ทำไมชนชั้นนำที่ไม่ชอบมาตรการล็อกดาวน์ เปลี่ยนความคิดของโจโควีจนวิกฤติอินโดนีเซียบานปลาย (How Anti-Lockdown Elites Swayed Jokowi, Fueling Indonesia Crisis?) ได้ยกประเด็นนี้และพูดถึงมาตรการล็อกดาวน์ที่ประธานาธิบดีประกาศเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม จากแผนเดิมที่จะล็อกดาวน์เต็มที่หลังหารือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เปลี่ยนเป็นล็อกดาวน์ไม่เต็มที่หลังหารือกับกลุ่มธุรกิจ
เป็นที่รู้กัน รัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ใต้ร่มเงาและอิทธิพลของภาคธุรกิจ นักธุรกิจรายใหญ่หลายคนเข้าร่วมเป็นรัฐมนตรี เช่น รัฐมนตรีสาธารณสุขก็มาจากซีอีโอธนาคารพาณิชย์ของรัฐ รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจและรัฐมนตรีดูแลรัฐวิสาหกิจล้วนเป็นนักธุรกิจหรือมีผลประโยชน์กับภาคธุรกิจ
จนมีการตั้งข้อสังเกตว่า ภาคธุรกิจไม่ชอบยาขม และจะอ้างเหตุผลทางเศรษฐกิจในการตัดสินนโยบายแก้โควิดมากกว่าเหตุผลทางสาธารณสุข เพราะคนที่รุมล้อมประธานาธิบดีส่วนใหญ่เป็นเจ้าของธุรกิจหรือมีผลประโยชน์ทางธุรกิจ
เห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของประธานสภาหอการค้าอินโดนีเซีย ที่เข้าประชุมกับประธานาธิบดีเรื่องล็อกดาวน์ ที่พูดว่า “เราเข้าใจว่าสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราจะหยุดเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิงไม่ได้” ผลคือนโยบายล็อกดาวน์ที่ออกมาไม่สามารถควบคุมการระบาดได้จนสถานการณ์บานปลาย
สิ่งที่ต้องตระหนักคือ การมีนักธุรกิจหรือมีคนที่กลุ่มธุรกิจส่งเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาลมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียก็อย่างที่เห็นคือ เมื่อถึงจุดที่ต้องตัดสินใจ นักธุรกิจจะนึกถึงธุรกิจและให้ความสำคัญกับผลที่จะมีต่อธุรกิจก่อนเสมอ
เพราะนักธุรกิจโตมากับการทำธุรกิจ การทำกำไรและประโยชน์ที่จะได้จากนโยบายรัฐ เช่น ภาษี ไม่ได้โตมากับการดำเนินนโยบายสาธารณะที่มองส่วนรวมก่อน ทำให้นักธุรกิจที่เข้ามาเล่นการเมือง ถึงจุดหนึ่งจะแยกไม่ออกระหว่างผลประโยชน์ของประชาชนและประโยชน์ส่วนตน อย่างที่มีให้เห็นในบ้านเรา นี่คือข้อจำกัด
อีกประเด็นคือ สังคมมีความอดทนจำกัดต่อความผิดพลาดในการทำงานและนโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะเรื่องความเป็นความตายเช่นโควิด ซึ่งตัวอย่างเรื่องนี้คือ มาเลเซีย
ในบทความ ความผิดพลาดในการระบาดใหญ่จะเปลี่ยนการเมืองมาเลเซีย (Pandemic failures will transform Malaysian politics) ตีพิมพ์ในวันที่ 18 กรกฎาคม ผู้เขียนนาย Bridget Welsh ให้ความเห็นว่า ความผิดพลาดในการบริหารโควิดทำให้สถานะทางการเมืองของรัฐบาลมาเลเซียอ่อนแอมาก จากที่ประชาชนเหนื่อยล้ากับการเจ็บป่วย การสูญเสียชีวิตและมาตรการล็อกดาวน์ครึ่งๆ กลางๆ ที่กระทบเศรษฐกิจและไม่มีผลต่อการหยุดการระบาด
สังคมมาเลเซียกำลังมองว่า ชนชั้นนำในสังคมหรืออีลิธ (elite) ที่มีอำนาจ ไม่แคร์หรือไม่สนใจความทุกข์ยากของประชาชน จึงไม่ออกมาคัดค้านหรือกดดันรัฐบาลให้ทำงานให้ดีขึ้น ทำให้การเมืองมาเลเซียในอนาคตอาจเปลี่ยนเป็นการเมืองระหว่างกลุ่มมีและกลุ่มไม่มีจากการเมืองเรื่องเชื้อชาติที่เป็นอยู่
ประเด็นนี้ผมเคยเขียนในคอลัมน์นี้ว่า กลุ่มอีลิธ เช่น ในอเมริกา มองว่า วิกฤติโควิดสำหรับพวกเขาจบแล้ว เพราะกลุ่มเขาสามารถปรับตัวได้ ปรับธุรกิจได้และมีรายได้ดีเหมือนเดิม ขณะเดียวกันก็ป้องกันตัวเองได้จากการระบาดทั้งด้วยการฉีดยา มีอุปกรณ์ทางการแพทย์พร้อมและมีชีวิตจำกัดเฉพาะในกลุ่ม
การแพร่ระบาดของโควิดจึงเป็นปัญหาของประชาชนที่รัฐบาลต้องแก้ไข ไม่เกี่ยวกับพวกเขา เพียงแต่รัฐบาลอย่าออกมาตรการ เช่น ล็อกดาวน์ที่จะกระทบธุรกิจและการหารายได้ของเขา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
เห็นได้ว่า การร่วงจากดาวรุ่งมาเป็นดาวตกนั้นเป็นผลจากหลายปัจจัย เพราะสังคมประกอบด้วยคนหลายส่วน พฤติกรรมและการแสวงหาของมนุษย์ก็มักมองตนเองเป็นที่ตั้ง ทำให้การแก้ปัญหาให้กับสังคมหรือส่วนรวมเป็นเรื่องยาก ในบ้านเราปัญหาที่พูดถึงทั้งหมดในบทความวันนี้ก็คงมีเช่นกัน เพียงแต่เราไม่พูดกัน.