ยุบสภา ลาออกหรือถูกขับออก
นอกจากตัวคุณประยุทธ์และคนรอบข้างแล้วไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า โอกาสที่คุณประยุทธ์จะอยู่ครบวาระ 4 ปีนั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาโควิดที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย มีคนฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจกันเป็นระยะๆ ฯลฯ จนเป็นเหตุให้ผู้คนจำนวนมากต่างออกมาประท้วงขับไล่ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะในทางสื่อออนไลน์หรือออนกราวนด์ ไม่ว่าจะเป็นการลงถนนของม็อบหลายกลุ่มที่เคยมีความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองก็หันกลับมาจับมือกัน และล่าสุดคือการประท้วงรูปแบบใหม่โดยCar Mobหรือการขับรถยนต์เป็นขบวน บีบแตร เปิดไฟกระพริบ ฯลฯ พร้อมกันไปเกือบ 50 จังหวัดทั่วประเทศ
โอกาสที่เป็นไปได้
1.ยุบสภา มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะง่ายและคุณประยุทธ์ยังสามารถรักษาการในตำแหน่งไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาภายใน 60 วันสำหรับเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลอีกประมาณอีกเดือนหนึ่ง อีกทั้งยังสามารถมีโอกาสพิสูจน์ตัวเองว่าการตอบรับของประชาชนยังดีอยู่หรือไม่
ที่สำคัญคือคุณประยุทธ์เองก็ยังสามารถอ้างได้ว่ากลับมาอย่างชอบธรรม เพราะประชาชนเลือกตั้งเข้ามาแม้ว่าจะเป็นทางอ้อมก็ตาม แต่ในทำนองกลับกันก็มีโอกาสถูกบดขยี้ในการหาเสียงหากยังยืนยันที่จะกลับมาอีก แต่หากประกาศตัวว่าไม่กลับมาอีก เช่น ผมพอแล้ว ฯลฯ ก็จะเป็นโอกาสที่จะลงจากหลังเสือได้ แต่ก็ยังมีโอกาสถูกเช็คบิลได้อยู่ตลอดเวลาหากฝ่ายรัฐบาลในปัจจุบันพ่ายแพ้การเลือกตั้งจนไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้
2.ลาออก โอกาสน้อยกว่าการยุบสภา เพราะจะเป็นการยอมรับว่าตนเองผิดพลาดในการบริหารงาน แต่ก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะปัจจัยในการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไทยนั้นมีมากกว่าจำนวนมือที่อยู่ในสภา เมื่อลาออกแล้วก็เป็นหน้าที่ของสภาที่จะเสนอชื่อผู้ที่อยู่ในบัญชีของพรรคการเมืองที่เคยเสนอต่อ กกต.ไว้ในตอนเลือกตั้งทั่วไปตาม รธน.มาตรา 88 และมาตรา 159 โดยเป็นพรรคที่มีจำนวน ส.ส.ในสภา25 คนขึ้นไป ซึ่งตอนนี้ก็เหลือคุณชัชชาติ คุณหญิงสุดารัตน์ และคุณชัยเกษมสำหรับพรรคเพื่อไทย คุณอภิสิทธิ์สำหรับพรรคประชาธิปัตย์และคุณอนุทินจากพรรคภูมิใจไทย ส่วนคุณธนาธรนั้นถูกตัดสิทธิโดยศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว
แต่ในความเป็นจริงก็น่าจะคงเหลือเพียงคุณชัยเกษมกับคุณอนุทินเท่านั้น เพราะคุณหญิงสุดารัตน์ก็ไปตั้งพรรคใหม่แล้ว ส่วนคุณชัชชาติได้ปฏิเสธพรรคเพื่อไทยไป โดยแสดงตัวว่าจะไปสมัครผู้ว่ากทม.อิสระ ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็คงไม่เอากลับมาแน่ ส่วนคุณอภิสิทธิ์นั้นแม้ว่าจะลาออกจากการเป็น ส.ส.และการเป็นหัวหน้าพรรคไปแล้วแต่ยังคงเป็นสมาชิกพรรคอยู่ก็ยังมีสิทธิอยู่ แต่โอกาสในการถูกเสนอชื่อเป็นไปได้ยาก
ส่วนคำถามที่ว่าแล้วคุณประยุทธ์ล่ะจะกลับมาถูกเสนอชื่อได้อีกไหม โดยทางนิตินัยนั้นได้อยู่แล้วเพราะไม่มีข้อห้าม แต่ในทางพฤตินัยแล้วเป็นไปไม่ได้เพราะการลาออกคือการแสดงการยอมรับแล้วว่าตนเองมีความผิดพลาด การกลับเข้ามายอมรับการเสนอชื่อแล้วยังได้รับการโหวตโดยการช่วยเหลือจากสมาชิกวุฒิสภาอีก ผลที่ตามมานั้นคงเกิดความโกลาหลวุ่นวายจนควบคุมไม่ได้อย่างแน่นอน
หากเกิดว่าเลือกนายกฯแทนไม่ได้หรือไม่มีการเสนอชื่อผู้ที่อยู่ในบัญชีที่ว่านี้ล่ะจะทำอย่างไร ในกรณีนี้มาตรา 272 บัญญัติไว้ว่าในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดําเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทําในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาและมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88
ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดําเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้
ซึ่งก็หมายความว่าจะเอาใครมาก็ได้ถ้ามีคุณสมบัติครบและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ แต่จะได้รับการยอมรับหรือทำงานได้หรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อดูเงื่อนไขแล้วเป็นไปได้ยากมาก ผมยังนึกภาพไม่ออกว่าถ้ามาด้วยวิธีนี้จริงๆบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟขนาดไหน
3.ถูกขับออก แต่ถ้าคุณประยุทธ์ไม่ยุบสภาและไม่ลาออกล่ะ ผลที่ตามมาก็คือการถูกขับออก ซึ่งอาจจะโดยการถูกขับออกโดยวิธีที่ไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็มีอยู่ 2 วิธี คือ การรัฐประหารหรือการถูกโค่นล้มโดยการขับไล่ของประชาชนเหมือนในหลายๆประเทศ
4.ถูกลงมติไม่ไว้วางใจ โดยภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์เปลี่ยนข้าง ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยที่สุดเรียกได้ว่าไม่มีเลย
จากที่กล่าวมาข้างต้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งหมดตามลำดับความเป็นไปได้จากมากไปหาน้อย คุณประยุทธ์และกองเชียร์ควรศึกษาจากประวัติศาสตร์การเมืองของไทยที่ผ่านมาว่าจุดจบของผู้นำอำนาจนิยมนั้นเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นจอมพล ป.,จอมพลสฤษดิ์,จอมพลถนอมและ จอมพลประภาส,พล.อ.สุจินดา ฯลฯ หรือจะให้ดีก็ศึกษาจากต่างประเทศไปด้วยก็ยิ่งดี เมื่อศึกษาแล้วคงรู้ว่าควรจะตัดสินใจอย่างไร เพราะผู้นำนั้นไม่ว่าจะมาโดยวิธีใด ถ้าประชาชนไม่เอาด้วยหรือไม่ศรัทธาแล้ว ไม่มีใครอยู่ได้ครับ.