พูดคุยเรื่องวัฒนธรรมองค์กรในยุคโควิด

พูดคุยเรื่องวัฒนธรรมองค์กรในยุคโควิด

หัวข้อประจำในวาระการประชุมของผู้บริหารองค์กรต่างๆ หนีไม่พ้นเรื่องของกลยุทธ์ ทั้งกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดและกลยุทธ์เพื่อเติบโตหลังโควิด

ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จขององค์กรที่สำคัญแต่ไม่ได้รับความสำคัญเท่ากับกลยุทธ์นั้นคือ วัฒนธรรมและค่านิยมองค์กร ลองสังเกตดูได้ว่าสัดส่วนของเวลาที่ผู้บริหารใช้ไปกับกลยุทธ์นั้นมากกว่าเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรอย่างชัดเจน

แต่ในทางกลับกันผู้บริหารจำนวนมากก็ยอมรับถึงความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กร ผลสำรวจล่าสุดของ PwC (2021 Global Culture Survey) พบว่า 67% ของผู้บริหารที่สำรวจต่างเห็นตรงกันว่าวัฒนธรรมองค์กรมีความสำคัญต่อผลการดำเนินงานมากกว่ากลยุทธ์ ขนาดกูรูทางด้านการจัดการชื่อดังของโลกอย่าง Peter Drucker ยังเคยกล่าวไว้ว่า “Culture eats strategy for breakfast” 

ยิ่งในยุคโควิดที่พนักงานส่วนใหญ่ต้อง Work from home กัน เรื่องของวัฒนธรรมองค์กรยิ่งควรเป็นหนึ่งในเรื่องกังวลใจของผู้บริหาร ถึงแม้วัฒนธรรมองค์กรจะไม่ได้ถูกเชื้อโควิดเข้าทำลายให้ละลายหายไป แต่สิ่งที่หายไปคือเมื่อพนักงานต้องทำงานแบบ Work from home ไม่ได้เข้ามาทำงานที่องค์กร กระบวนการในการสร้างและปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรในรูปแบบที่เคยเป็นมาก็จะไม่มีประโยชน์ ถ้ายังจำกันได้ในยุคก่อนโควิดนั้นองค์กรต่างๆ จะมีการเสริมสร้างและปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้พนักงานได้มี แนวประพฤติ ปฏิบัติ ตามที่องค์กรปรารถนาผ่านทางกิจกรรม และพิธีการต่างๆ การมีปฏิสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันระหว่างพนักงาน รวมถึงการออกแบบสำนักงานและการแต่งกายด้วย 

เมื่อพนักงานต้องทำงานที่บ้าน เมื่อเจอบุคคลอื่นก็จะผ่านหน้าจอเล็กๆ และเวลาที่เจอส่วนใหญ่ก็ใช้คุยแต่เรื่องงาน ผู้บริหารจะปลูกฝังและส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องการได้อย่างไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพนักงานรุ่นใหม่ ที่เพิ่งเข้ามาร่วมงานกับองค์กร และถ้าในอนาคตเมื่อโควิดดีขึ้น และบามีนโยบายที่จะให้พนักงานทำงานในลักษณะ Hybrid มากขึ้น รูปแบบและแนวทางในการเสริมสร้างและปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กร ก็จะต้องเปลี่ยนไปจากอดีตที่เคยเป็นมา

จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และอาจจะสำคัญต่อการดำเนินงานขององค์กรมากกว่ากลยุทธ์ด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันก็กำลังถูกท้าทายจากสถานการณ์โควิดและ Work from home แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้อาจจะไม่ได้รับความสนใจเท่ากับกลยุทธ์คือการเป็นสิ่งที่จับต้องลำบาก ไม่สามารถทำออกมาให้เป็นรูปธรรมเหมือนกลยุทธ์หรือแผนงานอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีมุมมองว่าการกำหนดวัฒนธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ก็ยังเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายกว่าการกำหนดแผนงานทั่วๆ ไปอีกด้วย

ดังนั้นเพื่อแสวงหาคุณลักษณะของวัฒนธรรมที่ใช้กันอยู่ทั่วไปและเป็นแนวทางในการกำหนดวัฒนธรรมองค์กร ก็ได้มีนักวิจัยจาก MIT ในโครงการ Culture 500 ศึกษาและสำรวจวัฒนธรรมและค่านิยมที่ตีพิมพ์เผยแพร่ของบริษัทชั้นนำในสหรัฐ และรวบรวมคุณลักษณะของวัฒนธรรมองค์กรมาได้ 60 ประการ จากนั้นก็คัดเลือกเฉพาะคุณลักษณะของวัฒนธรรมองค์กรที่โดดเด่นและพบเจอบ่อยที่สุดในองค์กรต่างๆ ออกมา 9 ประการ

โดยเรียกทั้ง 9 คุณลักษณะว่าเป็น The Big 9 Cultural Values ซึ่งประกอบไปด้วย 1. Agility ความยืดหยุ่นและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง 2. Collaboration การทำงานร่วมกันเป็นทีมของพนักงานในหน่วยต่างๆ 3. Customer การให้ความสำคัญและมุ่งเน้นไปที่ลูกค้า 4. Diversity การให้ความสำคัญกับความแตกต่างและหลากหลายของแต่ละบุคคล 5. Execution การมุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติ 6. Innovation การมุ่งเน้นที่นวัตกรรม การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ เทคโนโลยี และวิธีการใหม่ๆ 7. Integrity การปฏิบัติตัวอย่างซื่อสัตย์และมีจริยธรรม 8. Performance การให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ในการดำเนินงาน และ 9. Respect การคำนึงถึงบุคคลอื่นและปฏิบัติต่อบุคคลอื่นด้วยดี

จากคุณลักษณะของวัฒนธรรมทั้ง 9 ข้อข้างต้น ไม่ได้หมายความว่าองค์กรต่างๆ จะต้องมีทั้ง 9 ข้อ องค์กรสามารถที่จะเลือกได้ว่าจะมุ่งเน้นและโดดเด่นในด้านใด และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้บริหารองค์กรต่างๆ ได้พูดคุย อภิปรายเรื่องวัฒนธรรมของตนในยุคโควิดได้มากขึ้น.