‘พ่อแม่ยุคใหม่’เตรียมพร้อมอย่างไร ให้ลูกรักใช้ชีวิตยุคเอไออย่างสมดุล
มองหาโอกาสที่จะได้รับจากเอไอ มากกว่ากังวลว่าเอไอจะเข้ามาทดแทน
ในยุคที่เราได้เห็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเอไอ มีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง และเข้ามามีอิทธิพลกับการดำรงชีวิตในทุกด้าน การเลี้ยงดูลูกในยุคที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีต่างๆ ในทุกวินาที จึงเป็นสิ่งพ่อแม่ยุคใหม่นี้จะต้องใส่ใจ และปรับแนวคิด รวมถึงปรับวิธีการเลี้ยงดูอบรมลูกด้วยเช่นกัน
ในบทความนี้ ผมจึงอยากพูดถึงประเด็นในการเลี้ยงดูลูกในยุคที่เอไอเป็นตัวแปรสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้ ทั้งในด้านการปลูกฝังทักษะพื้นฐานที่เด็กควรมี เพื่อเติบโตไปใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปัจจัยภายนอกจากการสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะร่วมสร้างทรัพยากรที่มีคุณภาพสู่ยุคที่ต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีต่อไป
ทักษะ 4 ด้านที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรปลูกฝังลูก เพื่อใช้ชีวิตร่วมกับเอไอเมื่อเขาอยู่ในช่วงวัยที่เปิดรับการเรียนรู้ อันดับแรก ควรสอนให้เด็กรู้จัก ตั้งเป้าหมายกับตัวเอง (Goal) เพื่อเข้าใจความฝัน ความต้องการของตัวเอง และมีแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและสำเร็จ เพราะเอไอ ยังต้องรอการตั้งเป้าหมาย หรือคำสั่งจากมนุษย์ เมื่อฝึกให้เด็กรู้จักวางแผน จะส่งผลให้พวกเขาใช้ชีวิตกับเอไอได้อย่างไร้อุปสรรค
ลำดับถัดมาคือ จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ (Imagination & Creativity) ซึ่งเป็นสิ่งที่เอไอไม่สามารถริเริ่มเองได้ถ้าไม่มีการสร้างขึ้นจากมนุษย์ เด็กจึงควรมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างรอบด้าน ทั้งด้านดนตรี ศิลปะ การประดิษฐ์ และการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อให้พวกเขาได้ใช้ความคิด เกิดข้อสงสัย มีการตั้งคำถาม และการคิดนอกกรอบ โดยไม่ต้องกังวลถึงความผิดพลาด
ความร่วมมือซึ่งกันและกัน (Collaboration) ก็เป็นอีกทักษะที่เด็กจะได้ฝึกฝนผ่านการใช้ชีวิต จากการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น หรือแม้แต่เล่นกับเด็กด้วยกันเอง เกิดการเข้าสังคมและรู้จักแบ่งปัน
และทักษะสุดท้ายคือ การสื่อสาร (Communication) ถือเป็นหัวใจในการที่เด็กจะเติบโตเพื่อใช้ทั้งชีวิตส่วนตัว และการทำงาน ผ่านการพูด เขียน และสื่อผ่านภาษากายได้อย่างเหมาะสมกับผู้อื่น
ทั้งการรับสาร และส่งสาร โดยสามารถตีความหมายได้อย่างถูกต้องชัดเจน รวมถึงการรับฟังผู้อื่น และการกล้าที่จะแสดงความเห็นส่วนตัวอย่างมีเหตุผล เหล่านี้ถือเป็นทักษะขั้นพื้นฐาน ที่จะติดตัวเด็กไปตลอดเมื่อเขาเติบโตขึ้น
สำหรับเครื่องมือสื่อสาร และอุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันจากเอไอ ก็จะเข้าไปมีบทบาทต่อเด็กๆ ให้เกิดการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิผล เมื่อได้รับคำแนะนำจากพ่อแม่อย่างถูกต้องและเหมาะสม
นอกจากนี้ ความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะจากหน่วยงานด้านการศึกษา ในการสนับสนุนการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีของเด็กให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยเรียนรู้ของเด็ก ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ
เช่น หลักสูตรที่พัฒนาให้ก้าวทันยุคสมัย เปิดโลกกว้างด้านเทคโนโลยีให้รับกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างการเขียนโค้ด (Coding) และการสร้างโปรแกรมสำหรับเด็ก เพื่อสร้างความคุ้นเคย และเป็นแต้มต่อที่ดีให้กับเด็กในการทำงานในอนาคต
รวมไปถึงการวางนโยบายในการจัดตั้งองค์กร หน่วยงาน และตำแหน่งที่จะรองรับบุคลากรด้านเทคโนโลยี รวมทั้งมอบโอกาสและสนับสนุนการต่อยอดการเรียนรู้ของบุคลากรที่มีความถนัดทางด้านเทคโนโลยีที่จะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวทันการแข่งขันในสังคมของโลกยุคเอไอ
แม้เอไอจะถูกพัฒนาให้มีความสามารถรอบด้าน แต่ยังมีอีกหลายสิ่ง และหลากหลายปัจจัยที่ทำให้เอไอยังไม่สามารถเข้ามามีบทบาทแทนมนุษย์ได้ โดยเฉพาะการใช้เหตุผล การแก้ปัญหา การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือการมีจิตสำนึกด้านจริยธรรม ที่มีเพียงมนุษย์ที่ได้รับการเลี้ยงดูและการปลูกฝังที่ดีจากพ่อแม่เท่านั้น ที่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้เหนือกว่าเอไอ
ดังนั้นจึงจำเป็นสำหรับพ่อแม่ที่จะเตรียมพร้อม ปูพื้นฐานและเสริมความมั่นใจในตัวลูก ให้พวกเขาพร้อมรับมือกับการใช้ชีวิตอย่างสมดุลร่วมกับเอไอ โดยให้มองหาโอกาสที่จะได้รับจากเอไอ มากกว่ากังวลว่าเอไอจะเข้ามาทดแทนความสามารถของลูกในอนาคต