ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ VS การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ VS การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เป็นที่แน่ชัดอย่างมีนัยสำคัญ ที่หากเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว อาจจะต้องแลกกับความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น
ปกติการวัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เรามักจะนึกถึงเครื่องชี้ที่มีชื่อว่า สัมประสิทธิ์จีนี (GINI coefficient) จะมีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 GINI coefficient ที่ต่ำจะแสดงถึงความเหลื่อมล้ำน้อย ในขณะที่ถ้าค่านี้สูงจะแสดงถึงความเหลื่อมล้ำที่สูง GINI coefficient สามารถวัดได้ทั้งด้านรายได้และด้านรายจ่าย เมื่อมองย้อนไป 20-30 ปี จะเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยลดลงเรื่อยๆ แม้จะมีเพิ่มขึ้นบ้างในบางปี
ฟังดูวิชาการใช่ไหมครับ ผมมีเครื่องชี้ที่เข้าใจง่ายกว่านั้น ไม่ได้วัดความเหลื่อมล้ำเชิงประเด็น (รายได้ รายจ่าย เงินออม ที่ดิน การศึกษา) แต่วัดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ แถมมองเห็นภาพลาง ๆ ไปในอนาคตหลังโควิด-19 นั่นก็คือ การดูโครงสร้างเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product) หรือที่พวกผมเรียกว่า GPP นอกจากจะอธิบายความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ได้ชัดเจนแล้ว ยังสามารถอธิบายถึงเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Engine of Economic Growth) ไปพร้อมๆ กันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ซึ่งผมมองว่า ลองดูภาพนี้ครับ
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product) หรือ GDP ก็คือ การผลิตสินค้าและบริการทั้งหมด GDP ปี 2563 อยู่ที่ 16.9 ล้านล้านบาท ปรากฏว่า 70% ของ GDP มาจากการผลิตสินค้าและบริการจาก 15 จังหวัดนี้เท่านั้น ซึ่งได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ นครราชสีมา และขอนแก่น ผมเลยขออนุญาตเรียกว่า 15 จังหวัดเศรษฐกิจชั้นนำ ส่วนอีก 30% ของ GDP มาจากการผลิตสินค้าและบริการของ 62 จังหวัดที่เหลือ
มาถึงตรงนี้ลองตามผมมาวิเคราะห์ลึกลงไปอีกชั้นนึง คือ ไปดู “ขนาดของเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ว่ามีขนาดใหญ่แค่ไหน ผมยกมาเฉพาะ 4 เครื่องยนต์หลัก คือ เกษตร อุตสาหกรรม การค้าการขาย และการท่องเที่ยว (ที่พักแรม ร้านอาหาร และคมนาคมขนส่ง)
เราพบว่า 15 จังหวัดเศรษฐกิจชั้นนำ มีสัดส่วนภาคเกษตร 22% ของเกษตรทั้งประเทศ มีสัดส่วนอุตสาหกรรม 72% ของอุตสาหกรรมทั้งประเทศ มีสัดส่วนการค้าการขาย 77% ของการค้าการขายทั้งประเทศ และมีสัดส่วนการท่องเที่ยวสูงถึง 88% ของการท่องเที่ยวทั้งประเทศ จะเห็นว่า Engine of Growth ของ 15 จังหวัดนี้ ก็คือ อุตสาหกรรม การค้าการขาย และท่องเที่ยว ซึ่งแน่นอนว่าช่วงโควิด-19 ทั้ง 15 จังหวัดนี้ย่อมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะมีภาคการท่องเที่ยวและการค้าขายเป็นเสาหลักเศรษฐกิจ แต่ถ้าเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว ผมเชื่อว่า 15 จังหวัดเศรษฐกิจชั้นนำจะฟื้นตัวได้เร็วกว่ามาก เพราะมี Value added สูงกว่า
ในขณะที่ 62 จังหวัดที่เหลือ มีสัดส่วนภาคเกษตรสูงถึง 78% ของเกษตรทั้งประเทศ มีสัดส่วนอุตสาหกรรม 28% ของอุตสาหกรรมทั้งประเทศ มีสัดส่วนการค้าการขาย 23% ของการค้าการขายทั้งประเทศ และมีสัดส่วนการท่องเที่ยวเพียง 12% ของการท่องเที่ยวทั้งประเทศเท่านั้น จะเห็นว่า Engine of Growth คือ เกษตร ซึ่งในช่วงโควิด-19 อาจจะไม่ได้รับผลกระทบเท่าไร เพราะภาคเกษตรถือเป็น Safe Zone ของระบบเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 แต่ในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว ภาคเกษตรอาจจะฟื้นตัวได้ช้ากว่า เพราะมี Value added ต่ำกว่า
ฉะนั้น หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป เมื่อเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเริ่มทำงานได้เป็นปกติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเปิดเต็มที่ เต็มเวลา นักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมา การค้าการขายกลับสู่สภาพปกติ สิ่งที่จะเห็น คือ เศรษฐกิจของ 15 จังหวัดเศรษฐกิจชั้นนำ จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด (Exponential Growth) ทิ้งห่าง 62 จังหวัดที่เหลือ ที่จะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป (Linear Growth) ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น แต่ถ้ามองในมุมของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ก็ต้องยอมรับว่า การฟื้นตัวของ 15 จังหวัดเศรษฐกิจชั้นนำ จะเป็นความหวังของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ถ้า 15 จังหวัดนี้ ฟื้นตัวยิ่งเร็วเท่าใด เศรษฐกิจในภาพรวมก็จะฟื้นตัวได้เร็วเท่านั้น ในทางกลับกัน หาก 15 จังหวัดนี้ฟื้นตัวช้า ภาพรวมทั้งประเทศก็จะฟื้นตัวช้าตามไปด้วย
ดังนั้น การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วอาจจะต้องแลกกับความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด