วังวนแห่งความซ้ำซากของการบริหาร

วังวนแห่งความซ้ำซากของการบริหาร

ผู้บริหารหลายท่านที่ผมพูดคุยด้วยต่างบ่นว่า “บางวันรู้สึกหมดไฟและไม่คึกคักเลย เพราะวันๆ มีแต่งานเดิมๆ และต้องแก้ปัญหาซ้ำซากไม่รู้จบ…”

ผมฟังแล้วเข้าใจได้ทันที  เพราะการจมอยู่กับความรู้สึกหมดไฟแบบนี้ก็เกิดขึ้นกับผมบ่อยๆ จึงรับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่ว่า “ไม่มีอะไรใหม่ๆ ที่ท้าทายอีกแล้ว” และต้องอยู่ใน “วังวนแห่งความซ้ำซาก” บ่อยครั้ง ว่าไปแล้ว  ปัญหาต่างๆ ของผู้บริหาร ไม่ใช่ปัญหาซ้ำซากที่ต้องแก้ไขด้วยวิธีเดิมๆ ทุกเรื่อง  แต่เป็นปัญหาที่เราสามารถแก้ไขด้วย “วิธีการใหม่ๆ”  โดยใช้ “เครื่องมือใหม่ๆ”  ซึ่งต้องมาจากการปรับเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดวิธีทำงานของเราด้วย ดังนั้น  สิ่งที่จะทำให้ผู้นำเกิดมุมมองใหม่และวิธีคิดใหม่ๆ ก็คือ “การเรียนรู้ตลอดเวลา” อาจจะด้วยการอ่านหนังสือ ฟังคลิปวีดีโอ ค้นหาในกูเกิ้ล พูดคุยกับผู้รู้ และอื่นๆ ที่เป็นแหล่งความรู้หรือประสบการณ์
    การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ  จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งในปัจจุบัน  โดยเฉพาะเรื่องที่ทำให้เราสามารถ “เพิ่มผลผลิต” และ “แก้ปัญหาขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ”  ซึ่งได้แก่ ความรู้ในเรื่องของ การออกแบบและพัฒนาองค์กร  การบริหารจัดการยุค 4.0  ระบบดิจิทัล  เทคโนโลยีที่ทันสมัย  นวัตกรรม  เป็นต้น
    ทุกวันนี้  “การบริหารเพื่อความเปลี่ยนแปลง” (Change Management) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้นำต้องเรียนรู้ และนำไปปฏิบัติให้เกิดผล  เพื่อจะได้นำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการและพัฒนาองค์กร ผู้นำของหลายต่อหลายองค์กรในปัจจุบัน  โดยเฉพาะเจ้าของกิจการประเภท SMEs ต่างมีปัญหาที่ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง  คือไม่สามารถทำให้พนักงานในองค์กรปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานไปสู่รูปแบบใหม่ๆ  เพื่อที่จะทำให้องค์กรอยู่รอด เติบโต และยั่งยืนต่อไป

กรณีตัวอย่างที่เห็นชัด  ก็คือเรื่องของการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) ที่มีความจำเป็นสำหรับองค์กรในปัจจุบัน  เพื่อที่จะทำให้กิจการสามารถแข่งขันในตลาดได้  เพราะสร้างความแตกต่าง และเพิ่มผลผลิตได้เร็วมากขึ้น
แต่จนแล้วจนรอด  ก็จะเห็นแต่องค์กรใหญ่ๆ เท่านั้น ที่ปรับองค์กรด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จนเห็นการเปลี่ยนแบบก้าวกระโดดที่ชัดเจน ต่างจากกิจการประเภท SMEs ที่ยังยึดติดกับระบบเดิมๆ ที่ทำอยู่  ด้วยการอ้างถึงความไม่พร้อมต่างๆ นาๆ  ทั้งของตัวเจ้าของกิจการเองและของพนักงาน  โดยเฉพาะปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการลงทุนในเทคโนโลยี และการต้องเสียเวลาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
    แต่ถ้าเราพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเราในชีวิตประจำวันแล้ว  วันนี้แทบจะไม่มีใครไม่ใช้ “โทรศัพท์มือถือ” เลย  ทั้งที่หลายปีก่อนเกิดสถานการณ์โควิด พ่อค้าแม่ค้าและผู้คนยังไม่นิยมใช้กัน  แต่เมื่อมีการโปรโมท โดยเฉพาะโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการกระเป๋าตัง  โครงการคนละครึ่ง  โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้  โครงการไทยชนะ  โครงการเที่ยวทั่วไทยคนละครึ่ง  จนถึง “หมอพร้อม” และ “ไทยร่วมใจ” ในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนที่เคยรู้สึกว่ายุ่งยากในการใช้โทรศัพท์มือถือ  เมื่อเรียนรู้แล้วก็ไม่รู้สึกยุ่งยากอีกต่อไป กลับทำให้ทุกคนพึงพอใจในความสะดวก รวดเร็ว และเห็นถึงผลลัพธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้การทำมาค้าขายคล่องตัวเป็นระบบ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

การปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ Digital Transformation ก็คงไม่ต่างจากกรณีตัวอย่างข้างต้นนี้ ปัญหาในวันนี้จึงอยู่ที่ “การสร้างความเปลี่ยนแปลง” ที่สามารถวัดถึงกึ๋นหรือฝีมือทางการบริหารจัดการของท่านผู้นำทั้งหลายเท่านั้น ดังนั้น  เรื่องแรกที่ผู้นำต้องทำ จึงเป็นเรื่องของการมี “เป้าหมาย” หรือ “วิสัยทัศน์” ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมจับต้องได้  ซึ่งสามารถสื่อสารให้พนักงานทุคนในองค์กรได้เข้าใจและเห็นพ้องต้องกันในเป้าหมายนั้น  โดยการอธิบายถึง “ความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง” คือ การทำให้พนักงานทุกคนในองค์กรเห็นพ้องว่า เราจะอยู่กันแบบเดิมๆ เช่นทุกวันนี้ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ถ้ายังอยากให้องค์กรของเราอยู่รอดและมีอนาคต (ซึ่งทำให้พวกเรามีอนาคตด้วย)  ก็มีแต่จะต้องร่วมด้วยช่วยกันลดต้นทุน  เพิ่มคุณภาพ  และเพิ่มผลิตภาพในทุกกระบวนการ  เพื่อสร้างผลงานใหม่ๆ ที่สามารถแข่งขันในตลาดได้
    เรื่องที่น่าศึกษาและเรียนรู้มากที่สุดในวันนี้  ก็คือกรณีการประกาศเปลี่ยนแปลงและปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของ CEO ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เมื่อเร็วๆ นี้ไปสู่ SCBX  โดยให้ธนาคารเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งของโครงสร้างใหญ่  เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกการเงินในอนาคตที่จะมีผลกระทบต่อธนาคารอย่างรุนแรง  จึงทำให้ธนาคารอื่นๆ และกิจการใหญ่ๆ ตื่นตระหนกและกำลังพิจารณาปรับเปลี่ยนองค์กรให้ทันการ ทุกวันนี้  การที่องค์กรจะเปลี่ยนแปลงเอง หรือต้องเปลี่ยนแปลงเพราะผู้อื่นหรือสถานการณ์บังคับให้เปลี่ยน  ก็อยู่ที่ “ผู้นำ” เป็นผู้เริ่มและกล้าตัดสินใจ  เพื่อที่จะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
    ทั้งหมดทั้งปวงนี้  เพียงต้องการยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลง คือ สิ่งที่ทุกองค์กรจะต้องทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อความอยู่รอด เติบโต และยั่งยืนในอนาคต ในขณะที่ “คุณภาพของการเปลี่ยนแปลง”  จะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง พร้อมกับ “ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์” ที่จะทำให้เราหลุดพ้นจาก “วังวนแห่งความซ้ำซาก” ได้ ครับผม!