องค์กรแห่งความสุข คำเรียบง่ายที่อยากเข้าเป็นส่วนหนึ่ง

องค์กรแห่งความสุข คำเรียบง่ายที่อยากเข้าเป็นส่วนหนึ่ง

ชีวิตวิถีใหม่หลัง COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์กัน ตั้งแต่ บุคคล ครอบครัว องค์กร สังคมในท้องถิ่นและในระดับประเทศ

หลายองค์กรจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหาร “คน” โดยเน้นให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ภายในตัวบุคคลแต่ละคนมากขึ้นนั่นคือ “ความสุข” ซึ่งเป็นเรื่องของจิตใจ เพราะคนมีความสำคัญในการทำให้องค์กรสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน สร้างคุณค่าและความแตกต่างให้กับองค์กร การสร้าง “องค์กรแห่งความสุข” จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งในการพัฒนาและรักษาคนไว้กับองค์กรได้ 

สภาพแวดล้อมดี สุขภาวะดี และมีส่วนร่วม 

    “องค์กรแห่งความสุข” ริเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2513 จากองค์กรด้านสุขภาพ ประเทศแคนาดา ซึ่งมีความสนใจในสุขภาพของสถานที่ทำงาน และความอยู่ดีมีสุขขององค์กร จึงได้สร้างระบบสุขภาวะของสถานที่ทำงานขึ้นมาโดยมีหลักการและเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาองค์กรแห่งความสุขที่มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพและจิตวิทยาทางสังคม  ด้านทรัพยากรมนุษย์ และด้านการปฏิบัติการด้านสุขภาพหรือรูปแบบการใช้ชีวิต  

องค์การอนามัยโลกได้กล่าวถึงแนวคิดนี้ว่า องค์กรแห่งความสุขเป็นสถานที่ทำงานซึ่งพนักงานและผู้บริหารร่วมมือกันเพื่อพัฒนากระบวนการของการปกป้องและสนับสนุนสุขภาพ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ของพนักงานทุกคน ทั้งในด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัว ไม่ว่าการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยและกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน การดูแลสภาพแวดล้อมทางสังคมจิตวิทยาในการทำงาน เช่น วัฒนธรรมองค์กร ทัศนคติ แนวปฏิบัติ การดูแลสุขภาพของพนักงานในองค์กรให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ทั้งข้อมูลข่าวสาร ความยืดหยุ่นในการทำงาน และการมีส่วนร่วมของชุมชนกับองค์กร โดยล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกัน (Burton, 2010)

การขยายแนวคิดองค์กรสร้างสุขในประเทศไทย
    ประเทศไทยเริ่มออกกฎบัตรส่งเสริมสุขภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2548 หลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้จัดประชุมการส่งเสริมสุขภาพโลก ครั้งที่ 6 ในปีดังกล่าว ซึ่งได้มีคำมั่นสัญญาในทางปฏิบัติต่อการจัดการองค์กรที่ดี ต่อมาสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสุนนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ริเริ่มนวัตกรรมแนวคิดองค์กรแห่งความสุข (Happy Work Place) เพื่อให้องค์กรเกิดระบบและกลไกการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งมิติกาย ใจ สังคม และปัญญา โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 3  ประการ ได้แก่

 • คนทำงานมีความสุข: พนักงานตระหนักว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีความสำคัญขององค์กร มีความเป็นมืออาชีพ มีความเป็นอยู่มีครอบครัวที่อบอุ่นมีศีลธรรมอันดีงาม เอื้ออาทรต่อตนเองและสังคม
    • ที่ทำงานน่าอยู่: พนักงานต้องรู้สึกว่าที่ทำงานคือบ้านหลังที่สองของพนักงาน มีความรักและความสามัคคีในองค์กร 
    • ชุมชนสมานฉันท์: ชุมชนต้องมีความสามัคคีมีการทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและอื้ออาทรกับสังคมรอบข้าง และยังรวมถึงลูกค้าหรือผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กร

แนวคิดนี้ ได้รับการขยายไปสู่องค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งกำลังจะขยายไปสู่องค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในด้านสังคม สุขภาพและสิ่งแวดล้อม 

เดินหน้าองค์กรแห่งความสุข สุขแบบ Win – Win  
    การพัฒนาแนวคิดองค์กรสร้างไปข้างหน้า ย่อมอาศัยสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายองค์กร ซึ่งได้ลงมือทำและเกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าประโยชน์เหล่านั้นเกิดขึ้นต่อพนักงานและต่อองค์กรพร้อมๆ กันไป 
    จากการที่พนักงานได้รับการดูแลตามมาตรฐาน ที่กฎหมายกำหนดเป็นอย่างน้อย มีความเครียดน้องลง ลดการลาออก ลดการขาดงาน ลดการป่วย การเกิดอุบัติเหตุในองค์กร เสริมสร้างให้พนักงานตระหนักและมีความรู้ด้านสุขภาพ มีสุขภาวะทั้งทางร่างกายและจิตใจดีขึ้น มีรูแปบบการใช้ชีวิตที่ส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดี และมีแรงจูงในในการทำงาน มีความพึงพอใจต่องานและองค์กร มีความผูกพันต่อองค์กร
    ขณะเดียวกันประโยชน์ต่อองค์กรที่ค่อยๆ ตามมา ก็คือ ช่วยลดต้นทุนด้านค่ารักษาพยาบาล ประกันสุขภาพ และลดการเรียกร้องสิทธิ์จากประกัน  ลดความเหลื่อมล้ำในองค์กร การบริหารอัตรากำลังและทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงสามารถสรรหาและคัดเลือกพนักงานได้ง่ายขึ้น สุดท้ายพนักงานมีขวัญและกำลังใจในการทำงานเพิ่มมากขึ้น, มีส่วนร่วมและมีความผูกพันต่อองค์กร ลดอัตราการขาดงาน ลาออก และบรรยากาศการทำงานดีขี้น ซึ่งย่อมมีผลดีต่อองค์กรทั้งภายในอย่างแท้จริงและเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคมภายนอกด้วย
    แต่ละองค์กรต้องสร้างความสุขในแบบฉบับของตนเอง เพื่อไปสู่องค์กรแห่งความสุขในแบบที่ปรารถนา สิ่งสำคัญที่จะต้องรู้และเข้าใจก่อนคือ ต้องรู้ว่าองค์กรคืออะไร เป้าหมายคืออะไร และวัฒนธรรมองค์กรหมายความว่าอย่างไร เพื่อง่ายต่อการนำมาปรับและสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งความสุข ให้เหมาะกับการทำงานในยุควิถีใหม่ต่อไปตามที่ต้องการ.

เรียบเรียงโดย:  ปุณยนันท์ จันทนา  นักวิจัย และสมาชิกทีมพัฒนาองค์กรสุขภาวะ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
แหล่งข้อมูล:
ก้านทอง บุหร่า, องค์กรแห่งความสุข: แนวคิด กระบวนการ และบทบาทของนักบริหารทรัพยากรมนุษย์, วารสารวิทยบริการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (2560), 28(3), 169-176, 2560
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์และคณะ, มาสร้างองค์กรแห่งความสุขกันเถอะ, 2556
Burton, J. (2010). WHO Healthy workplace framework and model: Background and supporting literature and practice.