พลังงานแสงอาทิตย์ ทางเลือกบนถนนสู่ความยั่งยืน
สวัสดีครับ
โลกของเรายังคงเผชิญกับปัญหาใหญ่หลายระลอก ตั้งแต่โรคระบาด ด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และที่หนักหนาที่สุดซึ่งยากจะหลีกเลี่ยงคือวิกฤตด้านพลังงาน
โดยเฉพาะประเด็นด้านค่าไฟฟ้าที่พุ่งขึ้นอย่างชัดเจน ธุรกิจต่างๆ จึงเริ่มมองหาทางเลือกที่ทั้งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายและสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานได้ในเวลาเดียวกัน โดยหนึ่งในตัวเลือกที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงและมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ คือ พลังงานแสงอาทิตย์จากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป
ที่น่าสนใจคือ ได้มีการประเมินไว้ว่า ตลาดโซลาร์รูฟท็อปภาคธุรกิจอาจมีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยในช่วงสองสามปีมานี้ รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก อาทิ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐ ต่างเร่งผลักดันนโยบายทางด้านโซลาร์รูฟท็อป ทำให้การติดตั้งระบบการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
ซึ่งข้อมูล ณ สิ้นปี 2020 กำลังการติดตั้งสะสมทั่วโลกทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 714 กิกะวัตต์ (GW) สำหรับในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ทยอยออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับทั้งผู้ประกอบการที่ผลิตและผู้ประกอบการที่นำโซลาร์รูฟท็อปมาใช้งานในด้านการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม
จุดเด่นที่เห็นได้ชัดที่สุดประการหนึ่งของพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านโซลาร์รูฟท็อปคือ ระบบนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่และธุรกิจ SME ซึ่งเมื่อธุรกิจตัดสินใจลงทุนและติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแล้ว จะสามารถเข้าถึงไฟฟ้าที่ใช้งานได้จริงได้ทันที ทั้งนี้ อาจจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างในวันที่ท้องฟ้ามืดครึ้มหรือไม่มีแสงแดด แต่โซลาร์รูฟท็อปนี้ก็ยังสามารถกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ในระบบแบตเตอรี่เพื่อเอาไว้ใช้งานเพื่อผลิตไฟฟ้าในวันที่ไม่มีแสงแดดเพียงพอ
นอกเหนือจากคุณภาพสินค้าและบริการแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคแห่งความยั่งยืนนี้ ลูกค้าต่างพิจารณาและผนวกมิติด้านความยั่งยืนเข้าไปในกระบวนการการตัดสินใจก่อนจะซื้อสินค้าหรือใช้บริการ และประเด็นด้านความยั่งยืนนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในจุดขายที่บรรดาธุรกิจน้อยใหญ่ต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง
ด้วยเหตุนี้ การใช้โซลาร์รูฟท็อปจึงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของธุรกิจต่อแนวทางความยั่งยืน และเป็นอีกหนึ่งวิธีการสื่อสารพันธกิจและกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจให้ลูกค้าทราบด้วย อันจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีแก่ธุรกิจในระยะยาวต่อไป
ทั้งนี้ แม้หลายฝ่ายจะยอมรับว่าพลังงานสะอาดนี้จะช่วยประหยัดพลังงานได้ดี แต่จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่ส่งผลต่อภาพรวมของธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนสำหรับติดตั้ง ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์รูฟท็อป หรือความคุ้มค่าของแต่ละกิจการ โดยคาดกันว่ากลุ่มธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่สูง อาทิ อุตสาหกรรมผลิตซีเมนต์และเหล็ก อุตสาหกรรมโรงแรม หรือธุรกิจค้าปลีกอย่างห้างสรรพสินค้า น่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่จะเริ่มนำแผงโซลาร์รูฟท็อปมาใช้ในกิจการของตนอย่างแพร่หลาย
อย่างไรก็ดี หนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานแสงอาทิตย์คือค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับการติดตั้งที่ค่อนค้างสูง เงินลงทุนขั้นต่ำสำหรับธุรกิจที่สนใจอาจจะเริ่มต้นที่หลักแสนจนถึงหลักล้าน แม้ว่าในช่วงหลัง เราจะเห็นบรรดาสถาบันการเงินเริ่มขยับตัวออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้สินเชื่อเพื่อโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น ทว่าธุรกิจต่างๆ ยังคงต้องชั่งน้ำหนักในเรื่องความคุ้มค่า เพราะจำเป็นต้องนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้นำมาคำนวณและบวกเข้าไปในต้นทุนค่าสินค้าและบริการด้วย
ข้อควรพิจารณาถัดมาคือทิศทางของสิ่งปลูกสร้างสำหรับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ร่มเงาของอาคารหรือประเภทของหลังคาล้วนแล้วมีผลโดยตรงต่อการรับแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาที่มีความลาดชันจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ และหากไปติดตั้งบนหลังคาที่มีลักษณะราบก็อาจมีปัญหาด้านการระบายน้ำตามมาได้ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจติดตั้ง เจ้าของธุรกิจอาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้แน่ใจว่าลักษณะการติดตั้งแบบใดจึงจะเหมาะกับธุรกิจของตน
หากพิจารณาเพียงมิติด้านเม็ดเงินลงทุนเพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์อาจจะดูเหมือนว่าต้องใช้เงินลงทุนที่สูง แต่หากนำประโยชน์จากการลงทุนระยะยาวและข้อดีด้านความยั่งยืนมาพิจารณา กล่าวได้ว่าการลงทุนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์นี้
ก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกด้านการประหยัดพลังงานสำหรับธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าที่สูง ทั้งนี้ ต้องนำข้อมูลต่างๆ มาพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อประโยชน์สูงสุด และในอนาคตหากทุกฝ่ายร่วมมือกันหันไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ย่อมหมายถึงการเดินถอยออกจากปากเหววิกฤติโลกร้อนที่กำลังคุกคามโลกของเราอยู่ในทุกวันนี้นั่นเองครับ