การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด...โลกปรับไว ไทยต้องตามให้ทัน

การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด...โลกปรับไว ไทยต้องตามให้ทัน

ประเทศไทยได้ ETI 55.8 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 60 (ลดลงจากอันดับ 54 ในปี 2566) ซึ่งคะแนนดังกล่าวไม่เพียงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 56.5 คะแนน แต่ยังต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน ทั้งเวียดนาม (61 คะแนน) มาเลเซีย (60.1 คะแนน) และอินโดนีเซีย (56.7 คะแนน) เป็นสัญญาณว่าทุกภาคส่วนของไทยต้องเร่งปรับตัว

หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของสหภาพยุโรป (Copernicus Climate Change Service) เปิดเผยว่า เดือนมิถุนายน 2567 เป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกันที่อุณหภูมิโลกสูงกว่า 1.5°C เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และยังมีโอกาสที่จะเห็นการทำลายสถิติเช่นนี้อีกหลายครั้ง เนื่องจากอุณหภูมิโลกยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่รุนแรงและต่อเนื่อง ทุกประเทศจึงต้องร่วมมือกันปรับเปลี่ยน ทั้งนโยบาย เทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทุนมนุษย์ เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด เนื่องจากภาคพลังงานมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด 

ทั้งนี้ World Economic Forum (WEF) ได้จัดทำดัชนีเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด (Energy Transition Index: ETI) เป็นประจำทุกปี เพื่อสะท้อนประสิทธิภาพของระบบพลังงาน (System Performance) และความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด (Transition Readiness) ของแต่ละประเทศ สำหรับการประเมิน ETI ปีล่าสุดมีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของโลก อาทิ

  • การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของโลกมีความคืบหน้า สะท้อนจากคะแนน ETI เฉลี่ยทั่วโลกในปี 2567 อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีถึง 107 ประเทศ รวมถึงไทย จากทั้งหมด 120 ประเทศที่มีคะแนนล่าสุดเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2558 สะท้อนถึงความก้าวหน้าของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดของโลก แม้ความเร็วในการเปลี่ยนผ่านในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้จะชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กดดันให้หลายประเทศจำเป็นต้องยกเลิก/ชะลอแผนการลดการใช้ฟอสซิลเป็นการชั่วคราวเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน อีกทั้งวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นยังมีผลให้เงินเฟ้อและดอกเบี้ยในหลายประเทศขยับสูงขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนใหม่ ๆ ด้านพลังงานสะอาด 
  • หลายประเทศมีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดของโลกมากขึ้น แม้ปัจจุบัน 10 ประเทศที่มีคะแนนสูงสุดยังคงเป็นประเทศในแถบยุโรป ได้แก่ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ออสเตรีย เอสโตเนีย และเนเธอร์แลนด์ แต่มีอีกหลายประเทศที่ตื่นตัวในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเช่นเดียวกัน เห็นได้จากที่มีถึง 30 ประเทศ รวมถึงจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก มีคะแนน ETI ในปี 2567 สูงขึ้นกว่า 10% เทียบกับปี 2558 โดยจีนได้วางมาตรการและนโยบายหลากหลายด้านเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมโลก โดยเฉพาะการหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในโลก โดยในปี 2566 จีนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ใกล้เคียงกับที่ทั่วโลกผลิตได้ทั้งปี 2565 ด้านพลังงานลมก็มีการผลิตเพิ่มขึ้น 66% ส่วนอินเดีย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นมากกว่า 20 เท่า และปัจจุบัน 40% ของกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดมาจากแหล่งพลังงานที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลให้อินเดียเป็นประเทศที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก
  • อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นช้ากว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (GDP) โลก แสดงให้เห็นว่าเราสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตโดยไม่ต้องเพิ่มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากได้ โดยผู้ประกอบการอาจต้องหาแนวทางที่ทำให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับการลดการปล่อยคาร์บอน เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงานหรือปรับลดขนาดบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม ซึ่งนอกจากช่วยลดต้นทุนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยขยายตลาดในกลุ่มผู้บริโภคที่รักษ์โลกอีกด้วย ทั้งนี้ ในปี 2566 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงานขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 37.4 กิกะตัน เพิ่มขึ้น 1.1% ขณะที่ GDP โลกเติบโต 3.3% 

สำหรับประเทศไทยได้ ETI 55.8 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 60 (ลดลงจากอันดับ 54 ในปี 2566) ซึ่งคะแนนดังกล่าวไม่เพียงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 56.5 คะแนน แต่ยังต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน ทั้งเวียดนาม (61 คะแนน) มาเลเซีย (60.1 คะแนน) และอินโดนีเซีย (56.7 คะแนน) เป็นสัญญาณว่าทุกภาคส่วนของไทยต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะปัจจัยที่ไทยยังมีคะแนนน้อยอย่างการศึกษาและทุนมนุษย์ เช่น การพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมด้านพลังงานหมุนเวียน ตลอดจนการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ส่วนอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง เช่น เหล็ก ซีเมนต์ อะลูมิเนียม และสารเคมี นอกจากการปรับตัวโดยเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดแล้ว อาจยังต้องเพิ่มการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น การนำเครื่องจักรอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงมาใช้เพื่อลดการใช้พลังงาน ทั้งนี้ EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนา พร้อมสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการทุกท่าน ทั้งการปรับปรุงเครื่องจักรหรือโรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ตลอดจนการดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกท่านสามารถก้าวทันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของโลก

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK