3 เหตุผลที่ ก.ล.ต.สหรัฐ เอาจริงในการฟ้อง Binance และ Coinbase
Binance US และ Coinbase เป็น 2 Exchange อันดับที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดในโลก ได้ถูกฟ้องร้องจาก ก.ล.ต.สหรัฐ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ ด้วยข้อหาที่ค่อนข้างรุนแรงและสื่อถึงความไม่ต้อนรับ Cryptocurrency ของ ก.ล.ต.สหรัฐ อย่างชัดเจน เหตุผลเบื้องหลังการกระทำเหล่านี้คืออะไร
ทางเราได้สรุปคดีที่ Binance US และ Coinbase โดนฟ้องร้อง และรวบรวมเหตุผลที่ ก.ล.ต.สหรัฐ ทำแบบนี้ไว้ 3 เหตุผล โดยรายละเอียดดังนี้
สรุปคดี Binance US
วันที่ 5 มิ.ย. ก.ล.ต.สหรัฐยื่นฟ้อง 13 ข้อหากับ Binance US และ Changpeng Zhao (CEO Binance) โดยประกอบด้วยข้อหาต่างๆอย่าง การให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนแก่ชาวสหรัฐ, การขายคริปโทเคอร์เรนซีที่ตัวเองเป็นเจ้าของคือ BNB และ BUSD stablecoin, การให้บริการผลิตภัณฑ์ Simple Earn และ BNB Vault, การบิดเบือนความจริงว่ามีการคุ้มครองนักลงทุนสหรัฐบน Binance.US, การที่ Binance US ดำเนินกิจการไม่อิสระกับ Binance การแอบให้นักลงทุนสหรัฐใช้บริการ Binance ทั้งที่รู้ว่าผิดกฎหมาย, การแอบใช้เงินของลูกค้าโดยไม่ได้รับความยินยอม, มีส่วนร่วมกับการทำ Wash trading บน Binance US
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง BAM Trading ของ Binance.US ให้บริการโดยไม่จดทะเบียน ส่วน Changpeng Zhao โดนข้อหาผู้มีอำนาจควบคุมแต่ละเลยการทำหน้าที่ ซึ่ง Binance US ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและแสดงความผิดหวังต่อ ก.ล.ต.สหรัฐ เนื่องจากพยายามให้ความร่วมมือมาตลอดแต่กลับไม่ได้รับความชัดเจน
หลังจากการฟ้องร้องจาก ก.ล.ต.สหรัฐ เผยแพร่สู่สาธารณะ เม็ดเงินก็ไหลออกจาก Binance และ Binance US มากกว่า 778 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในเวลา 24 ชั่วโมง และราคา BNB ร่วงเกือบ 10% ทันที นอกจากนี้ ก.ล.ต.สหรัฐยังยื่นศาลให้ระงับเงินของลูกค้าใน Binance, Binance US และ Changpeng Zhao อีกด้วย อย่างไรก็ตามศาลมีคำสั่งไม่อนุมัติคำร้องนี้
สรุปคดี Coinbase
วันที่ 6 มิ.ย. ก.ล.ต.สหรัฐได้ฟ้องร้องว่า Coinbase ให้บริการหลักทรัพย์ที่ไม่ได้ลงทะเบียนจำนวน 13 เหรียญ จึงทำให้ Coinbase ผิดข้อหาการให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่ได้ลงทะเบียน, การเป็นนายหน้าและตัวแทนจำหน่ายที่ไม่ได้รับอนุญาต และการเป็น Clearing Broker ที่ผิดกฎหมายเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการให้บริการ Staking-as-a-service กับการโฆษณาที่ “อาจ” มีประเด็นได้อีกด้วย ทำให้เมื่อตลาดหุ้น NASDAQ เปิด ราคาหุ้น Coinbase (COIN) ร่วงทันที 12% จากเหตุการณ์นี้
อย่างไรก็ตาม ทาง Coinbase มั่นใจในความถูกต้องของตนเอง และผิดหวังกับก.ล.ต.สหรัฐเช่นกันที่ไม่เคยให้ความกระจ่างในด้านกฎหมาย โดยทาง Coinbase เองก็ให้ความร่วมมือมาตลอดหลายปี อีกทั้งตอนเริ่มเปิดให้บริการก็มีรายชื่อคริปโทเคอร์เรนซีที่ให้บริการซึ่งทาง SEC ก็อนุมัติมาหลายปีแล้ว แต่กลับมาใช้ข้อหานี้เล่นงานในตอนนี้ ทาง Coinbase ยืนยันจะสู้คดีและไม่ Delist เหรียญใดออกหรือหยุดให้บริการ Service ใดๆก็ตาม
เหตุผล 1: กลบเลื่อนคดี Ripple (XRP) ที่มีแววว่าจะแพ้
เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่คดี ก.ล.ต.สหรัฐได้ทำการฟ้อง Ripple Labs บริษัทผู้อยู่เบื้องหลังการขายเหรียญ XRP ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ได้ลงทะเบียน ล่าสุดในวันที่ 13 มิถุนายน มีคำตัดสินของผู้พิพากษา Torres ให้เปิดเผย “อีเมลล์บันทึก Speech ของ Hinman อดีตกรรมการ ก.ล.ต. สหรัฐ เรื่องมุมมอง Ethereum (ETH) ไม่เป็นควรถูกจัดเป็น “หลักทรัพย์” โดยมีทั้งรายละเอียดและมุมมองความคิดเห็นที่สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้ว่า XRP ซึ่งเป็นคริปโทเคอร์เรนซีแบบเดียวกับ ETH จะไม่เป็น “หลักทรัพย์” ด้วยเช่นกัน
John Deaton ทนายที่ติดตามเรื่องคดี Ripple ได้ให้ความเห็นว่า ก.ล.ต.สหรัฐ ตั้งใจจะฟ้องร้อง Binance US และ Coinbase ก่อนที่อีเมลล์จะเปิดเผย เพราะเอกสารเหล่านี้จะเป็นข้อเสียเปรียบให้ทาง ก.ล.ต.สหรัฐ สามารถชนะคดีต่างๆได้ยากขึ้น ดังนั้นการรีบฟ้อง Binance US และ Coinbase ก่อนการเปิดเผยอีเมลล์จึงเป็นความตั้งใจจาก ก.ล.ต.สหรัฐ ปัจจุบัน
เหตุผล 2: ปิดบังความล้มเหลวเหตุการณ์ FTX ล่มสลาย
FTX และ FTX US เป็น Exchange ที่เคยเป็นอันดับ 2 ในปีก่อน ซึ่งมีทั้งสายสัมพันธ์กับ Gary Gensler ประธานก.ล.ต.สหรัฐในปัจจุบัน และ Sam Bankman-Fried (SBF) อดีต CEO FTX ก็บริจาคเงินสูงถึง 5.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ไบเดนเพื่อใช้ในการหาเสียง (คิดเป็นการบริจาคมูลค่าสูงอันดับ 2)
แต่ในปลายปีก่อนได้ประกาศล้มละลายเนื่องจากมีการ “มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง” จากการสืบค้นอย่างละเอียดพบว่า FTX “แอบนำเงินลูกค้า” ไปให้ Alameda Research บริษัทลูกของ FTX นำไปลงทุนโดยคาดหวังว่าจะได้กำไรแล้วคืนที่หลัง และยังมีอีกหลายคดีที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี
โดยเหตุการณ์นี้ทาง Gary และ ก.ล.ต.สหรัฐ ควรแสดงความรับผิดชอบอย่างมากที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้ามากกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในช่วงเวลานั้น Gary กลับเงียบหายออกไปจากสื่อโดยที่ไม่มีการดำเนินคดีอะไรที่รุนแรงแบบที่ปฏิบัติกับ Exchange อื่นมาโดยตลอด ในทางกลับกัน
หลังจากคดี FTX ประกาศล้มละลาย Gary ได้ดำเนินการฟ้องร้อง Exchange และบริษัทอื่นๆทั้ง Kraken, Kucoin, Bittrex และ Paxos ด้วยข้อหาการให้บริการ “หลักทรัพย์ที่ไม่ได้ลงทะเบียน” ซึ่งยังไม่มีคดีไหนที่สิ้นสุด และทุกคนต่างตั้งคำถามว่าถึงรายละเอียดว่าจะทำแบบไหนให้ถูกกฎหมายแต่ก็ยังไม่ได้คำตอบที่กระจ่าง
จึงทำให้นักลงทุนหลายคนอดคิดไม่ได้ว่าการกระทำของ Gary Gensler นั้นมีปัจจัยทางการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือต้องการกลบเกลื่อนความรับผิดชอบจากคดี FTX หรือไม่
เหตุผล 3: ผลักคริปโทเคอร์เรนซีออกจากสหรัฐ
มีบทสัมภาษณ์ของ Gary หลังจากที่ฟ้อง Binance US และ Coinbase ได้กล่าวว่า “เรา (สหรัฐ) ไม่ต้องการ เงินดิจิทัล เพิ่มอีกแล้ว เพราะในตอนนี้เรามีทั้ง US dollar, เงิน Euro และเงิน Yen เงินเหล่านี้ก็นับเป็นเงินดิจิทัลแล้ว” คำพูดนี้ที่ออกโดยประธาน ก.ล.ต.สหรัฐจึงเป็นประกาศการต่อต้านการเกิดขึ้นของคริปโทเคอร์เรนซีในสหรัฐอย่างชัดเจนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ซึ่งตรงกันข้ามกับ Gary ในยุคก่อนที่จะเข้ามาเป็นประธาน ก.ล.ต.สหรัฐ ในตอนนั้น Gary ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากนักลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีอย่างมากเพราะเคยเป็นอาจารย์สอนด้าน Blockchain ที่มหาวิทยาลัย MIT จึงเป็นการแสดงถึงความเข้าใจในเทคโนโลยีและเคยพูดในการสอนว่า ETH และ BTC ไม่เป็นหลักทรัพย์อีกด้วย
การกระทำที่สวนทางของ Gary จึงอาจมีผู้ชักใยเบื้องหลังที่ไม่ต้องการให้คริปโทเคอร์เรนซีเจริญได้เร็วเกินไปในสหรัฐ ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับ Central Bank Digital Currency (CBDC) ที่หลายประเทศกำลังพยายามผลักดันกันอยู่ก็เป็นได้
อนาคตของคริปโทเคอร์เรนซี
โดยสรุปแล้ว เรามองว่าคริปโทเคอร์เรนซีจะเติบโตได้ลำบากหากกฎหมายยังมีความคลุมเครือและการฟ้องร้องที่ยังไม่สิ้นสุด นักลงทุนสถาบันจะไม่กล้าเข้ามาลงทุนด้วยเม็ดเงินก้อนใหญ่ที่จะสามารถผลักดันตลาดได้ นอกจากนี้ Exchange หลายแห่งเช่น eToro และ Robinhood ก็ต่าง Delist เหรียญที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ได้ลงทะเบียนจาก ก.ล.ต.สหรัฐแล้ว หลาย Exchange ที่ยังให้บริการในสหรัฐอย่าง Gemini, Kraken, Crypto.com และ Okcoin ต่างก็ทำตัวไม่ถูกว่าจะเอาอย่างไร
อย่างไรก็ตาม Adoption ของคริปโทเคอร์เรนซีในตอนนี้ก็ยังไม่มีทีท่าแผ่วลง โดยเราเห็นฮ่องกงที่ตั้งตัวเองเป็น Crypto Hub ในวันที่ 1 มิถุนายน และยังเชื้อเชิญ Coinbase ให้มาเปิดให้บริการที่นี่ นอกจากนี้ Blackrock Hedge fund ระดับโลกก็ยื่น Filing เพื่อขอให้บริการ Bitcoin ETF แก่ลูกค้าเช่นกัน
เรามองว่าเมื่อคดีความต่างสิ้นสุดลงและได้ข้อสรุปที่ชัดเจน Bullrun ครั้งหน้าของคริปโทเคอร์ซีจึงจะเกิดขึ้นได้ โดยทาง Rostin Behnam ประธานหน่วยงานกำกับซื้อขายสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ (CFTC) กล่าวว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปีในการทำกฎหมายด้านนี้ให้แล้วเสร็จ
ช่วงเวลานี้อาจเป็นตลาดหมีที่ยาวนานจนทำให้นักลงทุนเลิกสนใจในคริปโทเคอร์เรนซี แต่ในอีกมุมก็เป็นจังหวะที่เหมาะสมในการทยอยสะสมให้พร้อมกับ Bullrun หน้าของนักลงทุนที่มั่นใจเช่นกัน