แผนการเงินตลอดชีวิตของคนเจน Z
คน Gen Z ซึ่งเกิดตั้งแต่ช่วงปี 1997 ถึง 2012 หรือคนที่ในวันนี้มีอายุ 10-25 ปี นั้น ถูกนิยามว่าเป็นคนรุ่นที่ “เหงาที่สุด” และก็ผูกพันกับสื่อสังคมยุคใหม่ที่เป็นดิจิทัลมากที่สุด
พวกเขาน่าจะมีพี่น้องน้อย และเมื่อเติบโตขึ้นและมีหรือไม่มีคู่ชีวิตก็น่าจะมีลูกน้อยมากหรืออาจจะไม่มีเลย ดังนั้นพวกเขาจึงมักจะไม่สามารถพึ่งพาคนอื่นได้มากนักในยามแก่เฒ่า และนั่นทำให้การวางแผนการเงินสำหรับคนเจน Z เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งยวด
ก่อนที่จะเริ่มคิดวางแผนการเงินนั้น คงต้องตั้งสมมุติฐานที่สำคัญเสียก่อนเพราะคนเจน Z นั้นผมคิดว่าจะมีความแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อน โดยเฉพาะคนรุ่นเบบี้บูมอย่างผมค่อนข้างมาก ประการแรกก็คือ เราคงต้องกำหนด “วันตาย” หรืออายุขัยของคนเจน Z ว่าจะต้องเป็นประมาณ 90-100 ปี ไม่ใช่ 70-80 ปีอย่างในปัจจุบัน เหตุเพราะการสาธารณสุขและสุขภาพของคนรุ่นหลังๆ ดีขึ้นมาตลอดซึ่งทำให้อายุขัยของคนไทยสูงขึ้น
เรื่องที่สองก็คือ ประเทศไทยกลายเป็น “สังคมคนแก่” ซึ่งทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะเติบโตช้าลงมากและในไม่ช้าก็อาจจะไม่เติบโตเลย และคนเจน Z ก็อาจจะประสบกับการที่จะมีรายได้ที่แท้จริงเท่าเดิมไปเรื่อยๆ หรือถ้าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นก็มักจะมาจากภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้การบริโภคไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือพูดง่ายๆ คล้ายๆกับภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาที่ดูเหมือนว่าคนงานทั่วๆ ไปแทบจะไม่เคยได้เงินเดือนเพิ่มเลยเป็นสิบๆ ปี ซึ่งนี่ก็ต่างจากภาวะของประเทศไทยในอดีต 40-50 ปีที่ผ่านมาที่คนทำงานได้เงินเดือนเพิ่มทุกปี ปีละอย่างน้อย 5-10% ขึ้นไป
คำถามที่สำคัญก็คือ คนเจน Z ที่มีสถานะครอบครัวระดับกลาง มีความสามารถระดับกลาง และจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรืออาชีวศึกษาจะวางแผนการเงินอย่างไรเพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและไม่ต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดชีวิตได้อย่างไร? สมมุติว่าชายหรือหญิงคนหนึ่งอายุ 22 ปีและเริ่มทำงานในบริษัทมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท
แนวทางหรือแผนของผมก็คือ ให้เก็บออมเงิน 15% ของรายได้ทุกก้อนไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน โบนัส หรือรายได้อื่น ๆ ทั้งหมดในทุกเดือนแล้วนำมาลงทุนในหุ้นของตลาดหุ้นของประเทศที่มีการเติบโตดีและจะต่อเนื่องไปในระยะยาวอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป โดยที่จะต้องมีการกระจายความเสี่ยงในหุ้นหลายๆ ตัวและหลายๆ อุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะเป็นการลงทุนเองหรือลงทุนผ่านกองทุนรวมในกรณีที่เราไม่มีความรู้หรือเวลาเพียงพอที่จะดูแลติดตามหุ้นก็ได้
เราจะไม่สนใจในเรื่องของภาวะตลาดหุ้นว่าช่วงที่เราจะลงทุนนั้นดัชนีหุ้นตกลงมาหรือขึ้นไป เราจะลงทุนคล้ายๆ แบบ DCA หรือ “Dollar Cost Average” หรือลงทุนตามเงินที่เราเก็บออมไว้ไม่ได้ใช้ทุกเดือน ตัวอย่างเช่นในเดือนแรก ถ้าเรามีรายได้ 20,000 บาท เราก็หักเงิน 15% คือ 3,000 บาท มาซื้อกองทุนรวมหุ้นของประเทศที่กำลังเติบโตดีเช่น เวียดนาม
ไม่ว่าช่วงนั้นดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามกำลังขึ้นหรือลง และก็ทำแบบนั้นไปทุกเดือนเป็นเวลา 38 ปี ถ้าเวียตนามยังเติบโตอยู่ ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น เราก็จะมีอายุ 60 ปีและเกษียณจากการทำงาน หลังจากนั้น เราก็เริ่มนำเงินที่ลงทุนไว้ออกมาใช้ทุกเดือนและต่อไปเรื่อยๆ เป็นเวลา 38 ปีที่เราจะมีอายุ 98 ปีที่เราจะตาย ซึ่งเงินก็จะหมดพอดี
เงินที่เราจะถอนเอามาใช้ได้ในเดือนแรกหลังจากอายุ 60 ปีที่เราเกษียณนั้น จะเท่ากับเงินเดือนเดือนแรกตอนเราอายุ 22 ปี คือ 20,000 บาท บวกกับเงินเฟ้อที่สมมุติว่าประมาณ 2.44% ต่อปี ก็คือ ประมาณเดือนละ 50,000 บาท ส่วนเงินที่ถอนมาใช้ได้ในเดือนที่สองและต่อๆ ไปก็จะเท่ากับรายได้เดือนที่2บวกเงินเฟ้อตามลำดับไปเรื่อย ๆ และเงินก้อนสุดท้ายที่เราจะได้ใช้ก่อนตายตอนอายุ 98 ปีก็เท่ากับรายได้เดือนสุดท้ายตอนอายุ 60 ปี บวกเงินเฟ้อหลังจากนั้น
ตัวเลขทั้งหมดนั้นเป็นตัวเลขจากผลตอบแทนการลงทุนในอดีตของตลาดหุ้นที่มีการเติบโตสูงต่อเนื่องยาวนาน เช่น ในตลาดหุ้นสหรัฐและประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในช่วงของการเติบโตรวมถึงตลาดไทยในอดีตตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์ในปี 2518 ถึง ปี 2556 หรือ9ปีที่แล้วที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนถึงปีละประมาณ 10% ต่อปีแบบทบต้น โดยที่ในกรณีของแผนการเงินที่ผมเสนอนั้น ผมคิดว่าตลาดหุ้นที่เราจะไปลงทุนจะให้ผลตอบแทนที่ไม่รวมเงินเฟ้อที่ประมาณ 5.12% ต่อปี ในช่วงเวลา 38 ปีข้างหน้า ซึ่งผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงและความเสี่ยงที่จะผิดพลาดในทางที่เป็นลบน้อย
ถ้าจะสรุปให้เข้าใจแนวทางและตัวเลขที่เป็นเม็ดเงินอย่างง่ายก็คือ เราเก็บเงินลงทุน 15% ของรายได้ในวันนี้ นำไปลงทุนในตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีคือปีละประมาณ 5% บวกอัตราเงินเฟ้อ เช่น 2-3% คือประมาณ 7-8% ต่อปี เป็นเวลา 38 ปี ซึ่งจะทำให้เงินลงทุนโตขึ้นจาก 15% ของรายได้เป็น 100% เท่ากับรายได้ แล้วเราก็นำมาใช้ในยามที่เราไม่มีรายได้แล้วนั่นเอง
ข้อดีของแผนการเงินนี้ผมคิดว่ามีหลายอย่าง อย่างแรกก็คือ มันทำได้ง่าย เมื่อกำหนดเสร็จแล้ว การปฏิบัติตามแผนก็ทำได้ง่าย ไม่ต้องปรับแผนบ่อย ทุกครั้งที่ได้รับเงินรายได้มาก็ตัดออก 15% แล้วนำไปลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมที่กำหนดไว้แล้ว สิ่งที่จะต้องคอยติดตามที่สำคัญก็มักเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงช้า เช่น เรื่องของตลาดหรือหุ้นว่ายังดีอยู่ไหมในระยะยาว ไม่ต้องสนใจเหตุการณ์หรือสถานการณ์ระยะสั้นๆ เช่น เรื่องของเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยหรือสงครามที่มักจะอยู่ไม่นาน
ข้อ2ที่ผมว่าสำคัญมากเช่นกันก็คือ แผนการเงินนี้ปรับตัวเข้ากับเจ้าตัวเจ้าของแผนตลอดเวลา เช่น ถ้าเขาไม่ใช่คนที่มีความสามารถหรือทำเงินได้มากในชีวิตการทำงาน โดยธรรมชาติเขาก็มักจะใช้เงินไม่มากเท่ากับคนที่ประสบความสำเร็จสูงและมีรายได้มาก ดังนั้น การออมเงินเป็นอัตราส่วนกับรายได้ก็จะทำให้ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระหนัก เช่นเดียวกับช่วงเวลาที่ถอนเงินออกมาใช้ในยามเกษียณที่เขาก็ไม่จำเป็นต้องใช้มากเหมือนคนที่มีรายได้มากมาก่อน
สุดท้าย แผนนี้ลดความเสี่ยงที่ว่าเงินออมที่เก็บไว้ไม่พอใช้จนถึงวันตาย ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าอนาถพอสมควรสำหรับเราในยามที่แก่ตัวทำงานไม่ได้และกลายเป็นภาระของคนอื่น เช่นเดียวกับที่หลายคนชอบพูดว่าน่าเสียดายถ้า “ตายแล้วยังใช้เงินไม่หมด” หรือเก็บออมมากเกินไป ไม่ได้ใช้เงินที่สมควรจะได้ใช้ แผนการเงินที่ตั้งอายุวันตายไว้ถึงเกือบ 100 ปีนี้ ผมคิดว่าจะทำให้เราสบายใจได้ว่าเราจะยังมีเงินใช้ได้อย่างสบายเสมอ
สำหรับคนที่อายุอาจจะเกินไปแล้วเช่น อายุ 30 ปีแล้วยังไม่ได้เริ่มแผนออมเพื่อการเกษียณ แน่นอนว่าจะต้องมีการปรับแผนบ้างเช่น อาจจะต้องทำงานไปจนถึง 68 ปี แทนที่จะเลิกตอน 60 ปี หรืออาจจะต้องเก็บออมเพิ่มจาก 15% เป็น 20% ในช่วงเวลาหนึ่งเป็นต้น
นักวางแผนการเงินส่วนบุคคลตาม “มาตรฐาน” จำนวนมากอาจจะบอกว่าแผนนี้เสี่ยงเกินไป เนื่องจากลงทุนในหุ้น 100% แต่ผมคิดว่าในระยะยาวจริงๆ เป็นเวลากว่า 30 ปีขึ้นไปนั้น หุ้นในประเทศหรือตลาดหุ้นที่ดีจะให้ผลตอบแทนที่สูงและมั่นคงมากไม่แพ้พันธบัตรหรือทรัพย์สินอย่างอื่นโดยเฉพาะถ้าเราวางโครงสร้างการลงทุนในหุ้นให้ปลอดภัยพอ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ เราคงไม่รอจนกว่า 20-30 ปีที่จะบอกว่าแผนหรือตลาดหุ้นผิดพลาดที่จะต้องแก้ไข ว่าที่จริงผมคิดว่าส่วนใหญ่แล้วพอเราทำไปได้ซัก 7-8 ปี เราก็จะรู้และมั่นใจว่าเรามาถูกทางหรือไม่