การทำ Asset Allocation ยังจำเป็นอยู่ไหมในภาวะปัจจุบัน

กระบวนการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) คือ หลักการกระจายการลงทุนขั้นพื้นฐานที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนและเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการบริหารพอร์ตฟอลิโอ

การกระจายการลงทุนไปในหลายสินทรัพย์ ทั้งสินทรัพย์ดังเดิม (Traditional Assets) เช่น บอนด์ หุ้น หรือ สินทรัพย์ทางเลือกต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน จุดประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากจนเกินไป

โดยหลักใจความสำคัญของการกระจายการลงทุนไปในหลายสินทรัพย์ คือ การที่สินทรัพย์แต่ละประเภทตอบสนองต่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน รวมถึงมีปัจจัยเฉพาะสินทรัพย์ที่แตกต่างกันไป ทำให้การเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ต่างๆ มีความสัมพันธ์กันในระดับต่ำ ช่วยให้การลงทุนในภาพรวมของพอร์ตฟอลิโอสามารถลดความเสี่ยงไปได้ภายใต้ผลตอบแทนใกล้เคียงเดิมหรือมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าในปี 2022 นี้การกระจายการลงทุนไปหลายๆ สินทรัพย์นั้นดูจะไม่ช่วยเหลือนักลงทุนเท่าไร โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนในต่างประเทศซึ่งทั้งบอนด์และหุ้นต่างประเทศปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยในปีนี้สินทรัพย์หลักให้ผลตอบแทนติดลบแทบทั้งหมด โดยมีเพียงสินค้าโภคภัณฑ์ (Bloomberg Commodity Index) ที่ปรับตัวสูงขึ้น 15.0% (ม.ค. ถึง ต.ค. 2022)

ในขณะที่ตราสารหนี้กลุ่มหลักๆ ปรับตัวลดลงไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธบัตรรัฐบาล (Bloomberg Barclays Global Treasury Index) -21.8% หุ้นกู้เอกชนในระดับ Investment Grade (Barclays Global Corporate Credit Index) -20.5% และหุ้นกู้เอกชนกลุ่ม High Yield (Bloomberg Barclays Global High Yield Index) -17.4%

ในขณะที่หุ้นเองก็ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน เช่น หุ้นสหรัฐฯ (MSCI USA Index) -18.8% หุ้นยุโรป (MSCI Europe Index) -23.3% หุ้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (MSCI Emerging Market Index) -22.2% และที่ดูจะหนักที่สุดในปีนี้คือหุ้นจีน (MSCI China Index) -42.7% นอกจากนั้นทั้งบอนด์และหุ้นยังปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันจากแรงกดดันของดอกเบี้ยอีกด้วย

นอกจากนี้ แนวโน้มดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นก็อาจจะทำให้ทางเลือกในการลงทุนทำได้ง่ายลง และผลตอบแทนที่ต้องการก็อาจสามารถทำได้ผ่านการลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลักเสียด้วยซ้ำ ทำให้เกิดความว่าการทำ Asset Allocation นั้นยังจำเป็นอยู่หรือไม่สำหรับการบริหารพอร์ตการลงทุน ...

การบริหารพอร์ตการลงทุนโดยเฉพาะเมื่อเรามองในระยะยาวนั้น การทำ Asset Allocation ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่มากจากหลายปัจจัย ปัจจัยแรกคือการกระจายการลงทุนไปในหลายๆ สินทรัพย์ ไม่เพียงแต่ช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนจากราคาของสินทรัพย์ (Market Risk) แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น หากเราเน้นการลงทุนแต่ในตราสารหนี้มากจนเกินไป แม้ราคาอาจจะไม่ผันผวนมากเท่าหุ้น

แต่ก็อาจจะทำให้เรามีความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) คือ การผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกมากจนเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเราเน้นลงทุนในหุ้นกู้เอกชนโดยตรง หรืออาจจะเป็นเรื่องของความเสี่ยงจาการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในการลงทุนต่อ (Reinvestment Risk) ซึ่งดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อบอนด์ครบกำหนดในอนาคตตอาจจะทำให้เราไปไม่ถึงเป้าหมายทางการเงินได้ หรือ อาจจะเป็นความเสี่ยงในด้านอื่นๆ เช่น เรื่องของเงินเฟ้อ (Inflation Risk) ซึ่งตราสารหนี้อาจจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อได้ไม่ดีเท่าตราสารอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่เพียงแต่เรื่องของราคา แต่การกระจายการลงทุนยังทำให้ความเสี่ยงหลายๆ ชนิดถูกกระจายไปด้วยนั่นเอง

ประการที่สองคือการบริหารจัดการด้านสภาพคล่อง โดยหากเราจัดสรรสินทรัพย์ได้อย่างเหมาะสมจะทำให้หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ทำให้เราต้องใช้เงิน เราก็ยังมีความยืดหยุ่นและสามารถขายสินทรัพย์บางส่วนที่มีสภาพคล่องสูงมาเพื่อบริหารจัดการได้ โดยสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงก็จะทำให้ขายได้ราคาที่ถูกต้องและเหมาะสมในเวลาที่เราต้องการสภาพคล่อง นอกจากนั้นยังช่วยให้เรากระจายการลงทุนบางส่วนในพอร์ตฟอลิโอไปยังสินทรัพย์ที่อาจจะมีสภาพคล่องน้อยเพื่อเพิ่มผลตอบแทนได้

ประการที่สาม ข้อดีอีกอันนึงของการจัดสรรสินทรัพย์ที่ดีที่มากับการวางแผนการลงทุนก็คือการที่ทำให้เรามองการลงทุนในภาพที่ยาวขึ้น และมีการทบทวนการลงทุนอยู่เสมอ เนื่องจากการจัดสรรสินทรัพย์นั้นต้องสอดคล้องไปกันเป้าหมายทางการเงิน (Financial Goals) ของเรา ทำให้เราเข้าใจและข้ามผ่านความผันผวนและความไม่แน่นอนในระยะสั้นไปได้ ดังเช่นในปีนี้ที่บอนด์และหุ้นปรับตัวลดลงพร้อมๆ การที่บอนด์และหุ้นปรับตัวลดลงอย่างมากในปีนี้และไปในทิศทางเดียวกันอาจจะทำให้ภาพรวมของพอร์ตฟอลิโอดูแย่ แต่ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้หากพิจารณาจากปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนราคาบอนด์และหุ้นเป็นหลัก ก็จะพบได้ว่าสถานะการณ์ปัจจุบันอาจจะพบได้ไม่บ่อยนัก

สุดท้ายนี้ การจัดสรรพอร์ตการลงทุนที่ดีนอกจากจะต้องมีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสมกับความต้องการและระดับความเสี่ยงของผู้ลงทุน ยังต้องมีเรื่องของการปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนให้เหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนไปของสถานะการณ์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้ลงทุนเองหรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและตลาดการเงินอีกด้วย ซึ่งในส่วนสุดท้ายน่าจะเป็นส่วนที่สำคัญมากๆ ที่สุดเรื่องหนึ่งว่าการลงทุนนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่อีกด้วยครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด