6 คำถามก่อนจะเริ่มหาที่ฝากเงิน
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ก็ผ่านเดือนม.ค.กันมาแบบรวดเร็วเลยจริงไหมครับ หลายๆคนที่ได้เขียน New Year Resolution ไว้ ได้ลองนำกลับมารีวิวกันมั้ยครับ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
หลายท่านอาจมีการวางแผนการเงินในปีนี้ ว่าจะนำไปลงทุน หรือฝากที่ไหนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ตรงใจและเป็นไปตามเป้าหมาย วันนี้ผมมีผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมานำเสนอหลักสังเกตในการเลือกฝากเงินเบื้องต้นให้มาให้ผู้อ่านได้นำไปใช้เป็นประโยชน์ในการเปรียบเทียบระหว่างการฝากเงินผ่านสถาบันการเงินต่างๆกันครับ
ในปี 2566 นี้คาดว่าจะเป็นปีที่เราจะได้เห็นสถาบันการเงินต่างๆ ออกสินค้าประเภทเงินฝากดอกเบี้ยสูงมาแข่งกันอย่างมากมาย หลังจากที่ปีก่อนๆหน้านี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากนั้นค่อนข้างต่ำ โดยสาเหตุหนึ่งนั้นก็มาจากดอกเบี้ยนโยบาย ที่ได้มีการปรับขึ้นไปสูงแล้วนั่นเอง ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยเงินกู้ต่างสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อบริษัทธุรกิจต่างๆที่มีต้นทุนการเงินในการกู้ยืมเงินจากธนาคารที่สูงขึ้น ทำให้บริษัทต่างๆ ก็พากันทยอยออกหุ้นกู้ออกมาระดมเงินทุนจากนักลงทุนซึ่งจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่ค่อนข้างสูง
ทำให้ธนาคารต่างๆต้องงัดสินค้าเงินฝากดอกเบี้ยสูงออกมาสู่ตลาด เพื่อชิงยอดเงินฝากแข่งกับหุ้นกู้เหล่านั้น ทำให้ตลาดเงินฝากช่วงนี้ค่อนข้างคึกคักเป็นพิเศษ ซึ่งการจะเลือกว่าจะนำเงินไปฝากไว้ที่ใดนั้น ก็ใช่ว่าเราจะดูเพียงแค่ผลตอบแทนที่ได้อย่างเดียวก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะบางสินค้าก็อาจจะมีความซับซ้อน และอาจจะมีเงื่อนไขที่เราต้องศึกษาให้ละเอียดเสียก่อนที่จะตัดสินใจนำเงินไปฝาก เพราะหากตัดสินใจผิดพลาด อาจจะส่งผลให้เราเสียเวลานำเงินไปทิ้งไว้โดยที่ได้ผลตอบแทนน้อยกว่าที่ควรจะได้อีกด้วยครับ
วันนี้ผมจึงขอนำหลักสังเกตการเลือกฝากเงินเบื้องต้น “ต้องฝากยาวแค่ไหน” สิ่งสำคัญอย่างแรกก่อนนำเงินไปฝากในบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงนั้น คือผู้ฝากควรจะศึกษาเสียก่อนว่า การฝากเงินนี้นั้น จะต้องฝากเป็นระยะเวลานานเท่าไร และเราสามารถฝากเงินเพิ่มได้ระหว่างทางหรือไม่ โดยที่ในช่วงดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นแบบนี้นั้น หากที่ผลตอบแทนเท่ากัน บัญชีที่มีระยะเงื่อนไขเวลาการฝากที่สั้นกว่า ก็ย่อมดีกว่าบัญชีที่ต้องฝากยาวกว่า เพราะเมื่อครบกำหนดแล้วอาจจะย้ายเงินไปฝากในบัญชีเงินฝากที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเดิมก็ได้
“ถอนก่อนครบกำหนดได้ไหม” เรื่องถัดมาที่ต้องทราบก่อนลงทุนก็คือ เงื่อนไขในการถอนเงิน เพราะหลายๆธนาคารต่างมีเงื่อนไขในการถอนไม่เหมือนกัน บางที่หาก ถอนก่อนจะได้ดอกเบี้ยบ้างบางส่วน และบางที่ก็อาจจะไม่ให้ดอกเบี้ยเลยก็มี และการถอนสามารถถอนบางส่วนได้หรือไม่ หรือต้องถอนทีเดียวทั้งหมดเลย นักลงทุนควรวางแผนให้ดีก่อนลงทุน โดยอาจจะใช้วิธีการแบ่งเงิน เปิดบัญชีเป็นก้อนๆ เช่น หากจะฝากเงินเป็นยอด 2ล้านบาท ก็อาจจะแบ่งเป็นบัญชีละ 500,000 บาท จำนวน 4 บัญชีแทน โดยหากมีเหตุต้องใช้เงิน ก็สามารถเลือกปิดเป็นบัญชีๆไปได้
“เปิดบัญชีได้ทั้งหมดกี่บัญชี” ถัดมาจากข้อที่แล้ว บางธนาคาร อาจจะมีเงื่อนไขกำหนดจำนวนบัญชีสูงสุดที่ลูกค้าสมารถเปิดได้ ต่อ 1 ท่าน หาก ท่านต้องการเปิดหลายบัญชี ก็อาจจะต้อง ใช้วิธีเปิดบัญชีกับธนาคารอื่นแทน โดยเลือกเงินก้อนที่เย็นที่สุดฝากไว้กับบัญชีที่มีระยะเงื่อนไขเวลาการฝากนานที่สุด
“มีกำหนด ขั้นต่ำ/สูง หรือไม่” อีกสิ่งหนึ่งที่พึงจะต้องสังเกตก็คือ อัตราดอกเบี้ยที่โฆษณาว่าสูงนั้น มีกำหนดเงื่อนไขของเพดานเงินฝากหรือไม่ เช่น บางที่โฆษณาว่าดอกเบี้ย 2.5% แต่เมื่ออ่านรายละเอียดแล้วอาจจะแค่ 2.5% ของในส่วนที่ไม่เกิน 30,000 บาทแรก และส่วนที่เกินมาจะให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.5% เท่านั้น นั่นหมายความดอกเบี้ยเฉลี่ยของเงินฝากทั้งก้อนจะไม่ถึง 2.5% หากเราฝากเกิน 30,000 บาทนั่นเอง
“อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย” คืออัตราผลตอบแทนที่เราจะได้รับต่อปี จากเงินทั้งก้อนที่เราฝากไว้ หลายบัญชีเงินฝาก จะมีกำหนดเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยด้วยเพดานเงินฝากทำให้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย อาจจะไม่ตรงตามโฆษณา และ บางบัญชีเงินฝากก็จ่ายดอกเบี้ยแบบขั้นบันได โดยจะเพิ่มขึ้นในแต่ละปี และอาจจะนำตัวอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในปีสุดท้ายมา
“เสียภาษีหรือไม่” สุดท้ายนี้ อย่าลืมสอบถามถึงเงื่อนไขทางภาษีด้วยว่า ดอกเบี้ยที่ได้นั้นได้รับการยกเว้นทางภาษีหรือไม่ เพราะ หากได้รับยกเว้นภาษีด้วยก็จะยิ่งทำให้ผลตอบแทนของการลงทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินฝากที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีนั่นเองครับ
สำหรับเรื่องสุดท้ายแล้วที่เราควรจะถามถึงก็คือ “เรื่องอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม สิทธิพิเศษเพิ่มเติม” ว่าทางธนาคารจะมีคิดค่าธรรมเนียมอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ บางที่อาจจะต้องมีให้สมัครบัตรเดบิต สมัครค่าบริการ sms ซึ่งหากเงินที่ฝากนั้นไม่ได้สูงมาก ดอกเบี้ยที่ได้มาก็อาจจะไม่ได้ตรงกับเป้าหมายที่เราวางไว้ได้ครับ