Bonds are back กับวิกฤติสภาพคล่องธนาคารที่ปัญหา

Bonds are back กับวิกฤติสภาพคล่องธนาคารที่ปัญหา

ประเด็นร้อนในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นวิกฤตในภาคธนาคาร เริ่มจาก Silicon Valley Bank หรือ SVB ถูกหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ สั่งปิดกิจการและให้อยู่ภายใต้การควบคุมของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (FDIC)

หลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องกระทบความเชื่อมั่น จนลูกค้าแห่ถอนเงินฝาก ซึ่งเมื่อมองลึกไปแล้ว ปัญหานี้เกิดจากฐานลูกค้า SVB กระจุกตัวในกลุ่ม Venture Capitals และ Start-Ups ไม่ใช่การด้อยค่าของสินทรัพย์เหมือนช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008

ตามมาติดๆ ด้วยประเด็นของสถาบันการเงินเก่าแก่ในสวิสเซอร์แลนด์อย่าง Credit Suisse ที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพิ่มทุนต่อให้ไม่ได้เพราะข้อจำกัดด้านกฎหมาย ซ้ำเติมหลากหลายแรงกดดันในช่วงก่อนหน้าทั้งเรื่องมีลูกค้าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฏหมาย และบริษัทรายงานผลขาดทุนในปี 2021-2022

ในที่สุดเหตุการณ์ก็คลี่คลายด้วยการเข้าซื้อกิจการจากสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง UBS ด้วยมูลค่า 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการสนับสนุนจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์และรัฐบาล แต่นั่นก็ทำให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ Additional Tier 1 (AT1) มูลค่าราว 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกตีมูลค่าเป็นศูนย์ทั้งหมด

เหตุการณ์ดังกล่าวกระทบต่อตลาดทุนโดยรวมให้ผันผวนอย่างหนัก ดัชนีราคาหุ้นกู้ AT1 (iBoxx USD Contigent Convertible Liquid Developed Market At1 Index) ลดลงเกือบ 20% หุ้นกลุ่มธนาคารในยุโรปและสหรัฐฯ ดิ่งลงราว -17% และ -28% ตามลำดับ ด้านบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ก็ลดลงจากระดับสูงกว่า 4% สู่ระดับราว 3.5% สะท้อนความกังวลทำให้นักลงทุนหันมาซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย (ข้อมูลวันที่ 3-20 มีนาคม)

 

ในทางกลับกัน ธนาคารฝั่งเอเชียกลับได้รับผลกระทบจำกัด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศหลักๆ ในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย รวมถึงไทย ค่อนข้างทรงตัว ราคาหุ้นกลุ่มการเงินขยับลงเล็กน้อยเท่านั้น โดยดัชนี MSCI EM Financials Index ลดลงเพียง -3% ในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากการดำเนินธุรกิจแตกต่างจากธนาคารในยุโรปและสหรัฐฯ ดังนี้

  1. ธนาคารในเอเชียเน้นการรับฝากและปล่อยกู้เป็นหลัก ไม่เน้นธุรกิจด้านวาณิชธนกิจ (Investment Bank)
  2. ลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวค่อนข้างน้อย ทำให้ได้รับผลกระทบต่ำจากการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าตลาด (Mark-to-Market) ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น
  3. ธนาคารในเอเชียส่วนใหญ่เน้นทำธุรกิจในประเทศ ทำให้มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกน้อยกว่า

หากพิจารณาในภาพรวมจะพบว่าเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในเอเชียถือว่าแข็งแกร่ง ส่วนใหญ่พึ่งพาเม็ดเงินจากต่างประเทศค่อนข้างน้อย แต่จะเน้นกู้ยืมในประเทศมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นประเทศส่วนใหญ่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดหรือขาดดุลน้อย

หันมาโฟกัสที่พี่ใหญ่ในเอเชียอย่างจีน ระบบการเงินของจีนมีความเกี่ยวข้องกับธนาคารต่างชาติน้อยมาก หนี้ต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ ธนาคารพาณิชย์จีนโดยรวมมีสภาพคล่องสูง อีกทั้งทางธนาคารกลางจีน (PBoC) ก็มีเครื่องมือหนุนสภาพคล่องครบมือ โดยล่าสุด PBoC ได้ประกาศลดอัตราส่วนเงินกันสำรองขั้นต่ำ (RRR) สำหรับธนาคารพาณิชย์ ลง 0.25% เทียบเท่ากับการเพิ่มสภาพคล่องในระบบถึง 5 แสนล้านหยวน โดยมีผลวันที่ 27 มีนาคมนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบธนาคารให้เพียงพอกับความต้องการสินเชื่อทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้หลังจีนเปิดประเทศ สะท้อนถึงความตั้งใจของทางการจีนที่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งยังให้ความสำคัญกับสภาพคล่องในระบบการเงิน

สำหรับมุมมองด้านการลงทุน หุ้นกู้ในภูมิภาคเอเชียยังน่าสนใจ เพราะนอกจากจะได้รับผลกระทบจำกัดจากวิกฤตภาคธนาคารในยุโรปและสหรัฐฯ แล้ว หุ้นกู้เอเชียยังให้ผลตอบแทนที่น่าดึงดูด ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงและโอกาสที่ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นจากบอนด์ยีลด์ที่มีแนวโน้มปรับตัวลงในระยะข้างหน้า หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ขึ้นดอกเบี้ยใกล้จะถึงจุดสูงสุดแล้ว โดยจากการประชุมเมื่อวันที่ 21-22 มีนาคมที่ผ่านมา FED ได้ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามตลาดคาด สู่ระดับ 4.75%-5.00% และอ้างอิงจาก FED Dot Plot ล่าสุดพบว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เพียง 1 ครั้งสู่จุดสูงสุดที่ 5.1% และจะมีการปรับลดดอกเบี้ยในปี 2024 และ 2025

นอกจากปัจจัยด้านดอกเบี้ย อานิสงค์จากการเปิดประเทศของจีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจทั่วเอเชียเติบโตแข็งแกร่ง มีความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่ำ ซึ่งจะลดความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ดังนั้นหุ้นกู้เอเชียจึงเป็นขุมทรัพย์ลงทุนชิ้นสำคัญท่ามกลางวิกฤตสภาพคล่องในภาคธนาคารเช่นนี้