การขยายกรอบ Yield Curve Control ของธนาคารกลางญี่ปุ่น กับผลกระทบต่อตลาดการเงิน
หลังจากคาดการณ์กันมานานหลายเดือน ในที่สุดธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็ประกาศเพิ่มความยืดหยุ่นให้กรอบมาตรการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (Yield Curve Control) เพิ่มเติม
หลังจากเริ่มปรับความหยืดหยุ่นของนโยบายที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2016 ครั้งแรกในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว โดยจะเพิ่มความยืดหยุ่นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ขึ้นจากเดิมที่มีเป้าหมายอยู่ที่ 0.0% และมีกรอบให้เคลื่อนไหวได้อีก ±0.5% เป็นการขยายขอบบนให้สูงขึ้นได้ไม่เกิน +1.0% จากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ประกอบกับการอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของค่าเงินเยนที่ทำให้ต้นทุนของครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นจากราคาสินค้านำเข้าที่แพงขึ้น
โดยความพยายามที่จะทยอยปรับใช้นโยบายกลับสู่ภาวะปรกติ (Policy Normalization) ในครั้งนี้นั้นเกิดขึ้นท่ามกลางปัจจัยหลายอย่างทั้งเรื่องของการเติบโตของค่าจ้างที่กลับมาเพิ่มขึ้นสูงในระดับเดียวกับปี 1994 เงินเฟ้อทั่วไปที่ยังคงทรงตัวในระดับสูง (ล่าสุดเดือน มิ.ย. 3.3%) สูงกว่าเป้าหมายในระยะยาวที่ 2.0% และภาคบริการที่ยังคงขยายตัวได้ดี ซึ่งการเลือกที่จะขยายกรอบแทนที่จะยกเลิก นโยบาย YCC อาจจะเป็นการส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง และหลีกเลี่ยงการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต
ในแง่ของผลกระทบต่อตลาดการเงิน การปรับนโยบายดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อทั้งตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ประการแรกคือเรื่องของผลดีต่อหุ้นในประเทศ โดยเมื่อเทียบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่วัดจาก GDP โดยใช้ราคาประจำปี (Nominal GDP Growth) ในปี 2023 และ 2024 ที่อาจจะขยายตัวในช่วง 4 ถึง 6% (ประมาณการ Real GDP ปี 2023 ที่ และ 2024 ที่ 1.0 ข้อมูลจาก Bloomberg ณ วันที่ 11 ส.ค. 23) สะท้อนให้เห็นว่านโยบายการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ผ่อนคลายมาก
แม้จะเข้มงวดขึ้นเล็กน้อยจากการปรับครั้งล่าสุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นในประเทศ โดยหากเงินเฟ้อไม่มีทิศทางเร่งตัวสูงขึ้นและนโยบายการเงินปรับตามแรงกดดันเงินเฟ้อในอัตราเร่งที่สมดุล อาจจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในหลายๆ ประการทั้งในเรื่องของความสามารถในการปรับขึ้นราคาสินค้าของผู้ประกอบการ ซึ่งเมื่อพิจารณาอัตราค่าจ้างที่เติบโตดี อาจจะทำให้อุปสงค์ไม่หดหายไปมาก แต่จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ และส่งผลต่อตลาดหุ้นโดยรวม ประกอบกับปัจจัยอื่นๆ เช่น การปฏิรูปภายในประเทศที่ทำมาต่อเนื่อง อาจจะทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังคงเป็นตลาดหุ้นที่น่าสนใจอยู่
ประการที่สองคือเรื่องของทิศทางของเงินทุนไหลเข้า โดยเมื่ออัตราดอกเบี้ยในประเทศมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นทั้งจากเรื่องของนโยบายการเงินที่ลดความผ่อนคลายลงและเรื่องของแรงกดดันเงินเฟ้อ ก็อาจจะส่งผลให้พันธบัตรในประเทศมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการไปลงทุนในพันธบัตรต่างประเทศ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนสถาบันที่เป็นนักลงทุนหลักของตลาดพันธบัตร โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการไปลงทุนในต่างประเทศและใช้ตราสารอนุพันธ์ทางการเงินป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นสกุลเงินเยน ให้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนโดยตรงในพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น ทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกไปยังตลาดพันธบัตรต่างประเทศต่อเนื่องสะสมมานานหลายปี ดังนั้นหากเมื่อทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในประเทศเริ่มเพิ่มขึ้น อาจจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการกลับมาลงทุนในประเทศ ซึ่งหากมีเม็ดเงินดังกล่าวไหลกลับเข้ามาก็อาจจะส่งผลบวกต่อค่าเงินเยนด้วย
ประการที่สามคือเรื่องของผลกระทบต่อตลาดการเงินอื่นประเทศอื่นๆ ต่อเนื่องมาจากข้อที่แล้วหากมีการไหลกลับของเงินทุนโดยเฉพาะของนักลงทุนสถาบันจริง ก็อาจจะทำให้เส้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ของประเทศอื่นๆ มีลักษณะลาดชัน (Steeper) ขึ้น โดยนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากที่สุดในหมู่นักลงทุนต่างประเทศ (ข้อมูล เดือน พ.ค. 23 1.09 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 0.05 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ และที่เหลือ 1.04 เป็นพันธบัตรระยะยาว และนักลงทุนญี่ปุ่นคิดเป็น 29.7% ของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมดที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ข้อมูลจาก Treasury International Capital (TIC) System) ซึ่งเมื่อเส้นผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีลักษณะลาดชันขึ้นจากแรงขายก็จะทำให้ราคาของตราสารหนี้ลดลง และทำให้ผลตอบแทนโดยรวม (Total Return) ของตราสารหนี้ปรับลดลง รวมถึงอาจส่งผลทางอ้อมต่อระดับมูลค่า (Valuation) ของหุ้นด้วยจากเรื่องของดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น
ประการที่สามคือเรื่องของสภาพคล่องในตลาดการเงินโลก โดยอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นที่อยู่ในระดับต่ำนั้นมีส่วนเสริมสภาพคล่องให้กับตลาดการเงินโลกมาอย่างยาวนาน เนื่องจากนักลงทุนมักจะกู้เงินในญี่ปุ่นที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ และไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า (Yen Carry Trade) ดังนั้นเมื่อดอกเบี้ยญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวสูงขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนทางการเงินนั้นเพิ่มขึ้นสำหรับนักลงทุน และอาจลดสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกบางส่วนลง ซึ่งหากมากจนเกินไปก็อาจจะส่งผลเชิงลบต่อตลาดการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้
ทั้งนี้ .. ผลกระทบดังกล่าวจะมากหรือน้อยยังคงต้องขึ้นอยู่กับทิศทางของการปรับนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายของประเทศอื่นๆ ในเชิงเปรียบเทียบด้วย ซึ่งในฐานะนักลงทุนก็คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดกันต่อไปครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด