การเติบโตแบบ New Normal กับเสน่ห์ที่หายไปของหุ้นจีน
ปี 2023 ก็ยังคงเป็นปีที่เมื่อพิจารณาภาพรวมแล้วหุ้นจีนยังคงประสบกับปีที่ยากลำบากไม่น้อย โดยนับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ดัชนี CSI300 ให้ผลตอบแทนติดลบเล็กน้อยที่ 3.4 (ข้อมูล ณ สิ้นวันที่ 22 ก.ย. 66)
แม้อาจจะดูไม่มากเมื่อเทียบกับพัฒนาการด้านต่างๆ ของเศรษฐกิจที่ยังคงมีแต่ข่าวร้ายทั้งเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ มาตรการภาครัฐฯ ที่ยังคงไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้
แต่ถ้าพิจารณาทิศทางของตลาดหุ้นโลกที่ปีนี้ส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ที่ 12.5% หรือแม้แต่ดัชนี MSCI World ที่เป็นตัวแทนของหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วโดยรวมก็ยังปรับตัวสูงขึ้น 10.6% และแม้จะยังไม่จบปี แต่ก็น่าจะนับได้ว่าน่าจะเป็นปีที่หุ้นจีนยังคงสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนอีกปีหนึ่ง
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนเผชิญกับมรสุมและแรงกดดันหลายประการทั้งจากภายนอกและภายใน ไล่ตั้งแต่ Trade War ในยุคสมัยของ ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ ไล่มาจนถึงยุคปัจจุบันที่กลายเป็น Tech War การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก และด้วยจำนวนคนที่มากทำให้การแก้ไขปัญหาดูเหมือนจะช้ากว่าคนอื่นๆ
รวมถึงวิธีการบริหารจัดการที่แตกต่างออกไปจนทำให้เศรษฐกิจกลับมาเปิดเต็มรูปแบบในช่วงต้นปี 2023 ช้ากว่าประเทศส่วนใหญ่ และในระหว่างแก้ปัญหาเรื่องของการแพร่ระบาดก็มีปัญหาเรื่องของภาคอสังหาริมทรัพย์อันเป็นผลจากนโยบายในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเข้ามากดดันเพิ่มเติม ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลท้องถิ่นผ่าน LGFV (Local Government Financing Vehicle)
ไม่นับว่านโยบายความมั่งคั่งร่วมกัน (Common Prosperity) อันนำมาซึ่งกฏระเบียบที่เข้มงวดขึ้นและทำให้อุตสาหกรรมโดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีสะดุดตัวลง ในขณะที่การพึ่งพาต่างประเทศผ่านทางการส่งออกก็ดูเหมือนว่าจะทำได้ยากขึ้นจากทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง รวมถึงความไม่แน่นอนในเรื่องของความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งระหว่างสหรัฐฯ และไต้หวันที่น่าจะส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้นและเชิงโครงสร้างในระยะยาวด้วย
สำหรับภาพที่ยาวกว่านั้นคือเรื่องของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยในช่วงกว่า 3 ทศวรรษจาก 1980 ถึง 2010 นั้นเศรษฐกิจจีนเติบโตโดยเฉลี่ยราว 10% ต่อปี จนมาถึงในช่วงทศวรรษที่ 2010 เศรษฐกิจเริ่มเติบโตในอัตราเฉลี่ยที่ลดลงเหลือเพียง 7.66% (2010-2019) และจากปี 2020 เป็นต้นไปจนถึงปี 2028 เศรษฐกิจคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยได้เพียง 4.27% ต่อปี (ข้อมูลจาก IMF – World Economic Outlook Database)
ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี เป็นเศรษฐกิจแบบ “New Normal” ที่อาจจะไม่ได้เน้นเรื่องของการบริโภค การใช้แรงงาน รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การพึ่งพาการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อน มาเป็นเศรษฐกิจที่เน้นมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพิ่มน้ำหนักการบริการและการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงเน้นการเติบโตในประเทศมากขึ้นด้วย
ในช่วงสั้นกว่านั้น สิ่งที่นักวิเคราะห์รอคอยคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่จากรัฐบาล และอาจจะทำให้หุ้นจีนปรับตัวมี Sentiment ที่ดีขึ้นบ้าง ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังดูเหมือนว่ายังคงไม่ได้มีอะไรที่จะมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้อย่างชัดเจน แม้จะมีความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่เพียงพอ โดยปัจจุบันรัฐบาลจีนอาจจะเองจำเป็นจะต้องพิจารณาหลายๆ ด้านประกอบกันในการทำนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ เศรษฐกิจในประเทศ เสถียรภาพทางการเงิน การพัฒนาสังคม
รวมถึงเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ การ Rebalance เศรษฐกิจในประเทศให้เน้นไปที่การพึ่งพิงตนเองมากขึ้น รวมถึงด้านนโยบายต่างประเทศทั้งประเด็นเรื่องของ Tech War หรือ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์อื่นๆ ทำให้รัฐบาลต้องรับศึกหลายด้าน แตกต่างจากสมัยก่อยที่เน้นไปที่การเติบโตของเศรษฐกิจเป็นหลัก ทำให้การเก็งจังหวะเวลาของการออกมาตรการก็ดูจะทำได้ยากมากขึ้น และอาจจะไม่รู้ว่ามาตรการจะออกมาในลักษณะใด รวมถึงมีขนาดเท่าไรด้วย
เมื่อพิจารณาปัจจัยโดยรวมทั้งหมด แรงกดดันต่อหุ้นจีนในช่วงสั้นอาจจะยังมีอยู่ หุ้นจีนในอนาคตภายใต้ยุคการเติบโตแบบ “New Normal” ที่ชะลอตัวลง รวมถึงการหดหายไปของนักลงทุนต่างประเทศที่อาจจะเข็ดกับความไม่แน่นอนในเชิงนโยบายทั้งจากทางจีนเองรวมถึงสหรัฐฯ ด้วย รวมถึงประเด็นเรื่องของการทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ (Deglobalization) ที่ทำให้จีนอาจจะต้องอาศัยระยะเวลาในการกลับมาเพิ่มน้ำหนักในประเทศให้มากขึ้น ทำให้แรงดึงดูดพิเศษในหุ้นจีนและความเป็นตลาดจีนที่เคยมีและทำให้นักลงทุนตื่นเต้นอาจจะสูญหายไป
แต่การพิจารณาหุ้นจีนในฐานะของตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตได้ดีจากปัจจัยภายในประเทศเองก็ยังคงมีความน่าสนใจอยู่มาก ซึ่งระดับการซื้อขายในปัจจุบันสะท้อนจากสัดส่วนทางการเงิน เช่น P/E Ratio เองก็ถือว่าไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา แต่นักลงทุนอาจจะต้องเข้าใจปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และต้องมองเห็นโอกาสจากปัจจัยใหม่ๆ เหล่านี้มากกว่าเรื่องเดิมๆเหมือนในช่วงปี 2017-2020 ซึ่งก็อาจจะเป็นโอกาสอันดีเมื่อเวลาผ่านไปซักระยะหนึ่ง เมื่อผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เริ่มสร้างความเชื่อมั่นและทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้งหนึ่งครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด