ถึงคราวผู้มีรายได้จากต่างประเทศ ต้องเสียภาษี
ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาท่านผู้อ่านหลายท่านน่าจะได้มีโอกาสเห็นข่าวที่เกี่ยวกับภาษีอยู่เรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างจะเป็นที่พูดถึงกันเป็นวงกว้างนั่นก็คือ การที่ทางกรมสรรพากรได้มีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.161/2566 เปลี่ยนแปลงการตีความใหม่
เกี่ยวกับการปฏิบัติทางด้านภาษีของผู้ที่อยู่ในประเทศไทยและมี การนำเงินได้จากหน้าที่การงานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินในต่างประเทศ เข้ามายังประเทศไทย โดยให้นำรายได้ก้อนนี้เข้ามาใช้ในการประเมินภาษีด้วย
จากประกาศที่ออกมานี้ เรียกได้ว่าส่งผลกระทบออกไปเป็นวงกว้าง แต่ก่อนที่เราจะมาดูกันว่าใครนั้นที่จะได้รับผลกระทบกันบ้าง วันนี้ผมมี ผู้เชี่ยวชาญในด้านการวางแผนการเงินของบริษัท Wealth Creation International Investment Advisory Security Co., Ltd. คุณปิติพงษ์ รุ่งเรืองวุฒิกุล CFP® จะมาเล่าให้ฟังกันครับ
สำหรับประเทศไทยนั้นมีหลักการเก็บภาษีอยู่ 2 แบบนั้นก็คือ หลักแหล่งเงินได้ และ หลักถิ่นที่อยู่ โดยหลักแหล่งเงินได้นั้นจะพิจารณาจากแหล่งที่มาของเงินได้ โดยที่หากผู้มีเงินได้ มีเงินได้จากประเทศไทย จะต้องเสียภาษีที่ไทยด้วย ไม่ว่าผู้มีเงินได้นั้นจะอยู่ที่ไทยหรือไม่ก็ตาม
ในขณะที่หลักถิ่นที่อยู่นั้น ในมาตรา 41 ระบุไว้ว่า ผู้อยู่ในประเทศไทยมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย โดยที่ ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีปีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย นั่นหมายความว่า หากผู้ใดอยู่ในประเทศไทยรวมกันได้ตั้งแต่ 180 วันขึ้นไปและมีการนำรายได้เข้ามาในประเทศไทยก็จะต้องเสียภาษีที่ไทยด้วย
ทั้งนี้ในส่วนของการตีความคำว่า “เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย” นั้นทางสรรพากรได้เคยออกหนังสือที่ กค.0802/696 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2530 ไว้ว่า หากผู้มีเงินได้อยู่ในประเทศไทยรวมกันถึง 180 วัน และ ต้องนำเงินได้ที่เกิดขึ้นในปีเดียวกันเข้าประเทศไทย ถึงจะเสียภาษีตามกฎหมาย
นี่จึงกลายมาเป็นแนวทางในการวางแผนภาษีของผู้มีเงินได้จากต่างประเทศ โดยใช้วิธีการนำเงินได้ที่เกิดขึ้นนั้น เข้ามาในอีกปีภาษีเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง แต่เมื่อประกาศฉบับนี้ออกมา พร้อมทั้งยกเลิก หนังสือที่ กค.0802/696 นั่นหมายความว่าการวางแผนภาษีด้วยการนำเงินรายได้เข้าในปีถัดไป คงจะไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป
สำหรับผู้ที่จะได้ผลกระทบจากเรื่องนี้ ได้แก่ กลุ่มผู้ที่อยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วันขึ้นไปและมีรายได้จากต่างประเทศ เช่นพนักงานฟรีแลนซ์ที่รับรายได้จากต่างประเทศ , นักลงทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ , ผู้ที่มีรายได้จากสินทรัพย์หรือกิจการจากต่างประเทศเช่น ค่าเช่า กำไรในธุรกิจ เป็นต้น ทั้งนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในส่วนของคนไทยเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงชาวต่างชาติอีกด้วย
แนวทางสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้นั้น ทางผู้เขียนขอแนะนำแนวทางระยะสั้นดังนี้ครับ โดยประกาศฉบับนี้นั้นจะเริ่มมีการใช้ตั้งแต่รายได้ที่นำเข้ามาในปี พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป นั่นหมายความว่า หากท่านมีรายได้ก่อนปี 2566 ก็ให้นำเข้ามาเสียตั้งแต่ปี 2566 นี้เลยครับ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนรายได้ในปี 2566 นั้นก็ให้นำเข้ามาในปี 2566 นี้เช่นกัน เพื่อที่จะได้ ไม่ต้องนำไปรวมกับรายได้ในปี 2567 ครับ เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเอาเข้าในปีภาษีถัดไปแล้วครับ
สำหรับแนวทางระยะยาวในปีภาษีต่อๆไปนั้น คงจะต้องติดตามข่าวกันต่อไปครับว่าจะมีวิธีจัดการภาษีตรงนี้อย่างไรได้บ้าง โดยเฉพาะผู้ที่มีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ก็คงจะต้องคอยฟังข่าวจากทางแผนก Offshore ลงทุนต่างประเทศของ บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ว่าจะมีการดูแลลูกค้าอย่างไรบ้างครับ เพราะเท่าที่ทราบมาก็คือทาง บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆก็กำลังหาทางออกให้เรื่องนี้กันอยู่ครับ
สำหรับเรื่องภาษีจากแหล่งเงินได้จากต่างประเทศนั้น ถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ยังคงต้องติดตามกันต่อไปครับว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นอย่างไร ยังมีหลายคำถามที่ยังไม่ได้คำตอบเช่น ทางสรรพากรจะทราบได้อย่างไร ว่ามีเงินได้มาจากต่างประเทศ ใครจะเป็นคนรายงาน , การนำอนุสัญญาภาษีซ้อน มาใช้จะต้องทำอย่างไร หรืออย่างกรณี ชาวต่างชาติที่มาเกษียณในประเทศไทยและรับเงินบำนาญจากประเทศบ้านเกิด จะต้องนำมาเสียภาษีในไทยด้วยหรือไม่ หากมีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น ผมจะรีบนำมาอัพเดตแจ้งให้ทุกท่านทราบนะครับ