การเงินสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านพลังงาน : เส้นทางสู่อนาคตที่ยั่งยืน

การเงินสีเขียวสามารถช่วยให้อุตสาหกรรมต่างๆ เปลี่ยนผ่านไปสู่กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดความเสี่ยงในการลงทุน และช่องว่างด้านต้นทุนของเทคโนโลยีสีเขียวและเชื้อเพลิงฟอสซิล

ขณะที่โลกกำลังแข่งกับเวลาเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยยืนอยู่บนทางแยกที่สำคัญในเส้นทางสู่อนาคตที่ยั่งยืน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และในแต่ละประเทศไม่เพียงแต่รับผิดชอบ ต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมองหาโอกาสในการลงทุนในพลังงานสะอาดและการเงินสีเขียวด้วย การจัดหาเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานสีเขียวจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่สามารถปรับให้สอดคล้องเข้ากับบริบทเฉพาะของแต่ละประเทศ ก่อให้เกิดการพัฒนาแผนขับเคลื่อนการลงทุนสีเขียวมูลค่าหลายพันล้านบาท การส่งเสริมนวัตกรรม และผลักดันประเทศสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ บทความนี้ อ้างอิงจากรายงานการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสีเขียวของดีลอยท์ และการวิเคราะห์เบื้องต้นสำหรับบริบทของประเทศไทย

ภูมิทัศน์การเงินสีเขียวในประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่น ระดับน้ำทะเลสูงที่ขึ้นและมลพิษทางอากาศ ประกอบกับแรงผลักดันจากต่างประเทศในการเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ถึงกระนั้นการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานของประเทศยังมีข้อจำกัดเพราะเศรษฐกิจยังคงพึ่งพาพลังงานที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ก่อให้เกิดความท้าทายในด้านต่างๆ ได้แก่ ความจำเป็นในการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนทางด้านการเงินและแรงจูงใจทางการตลาด ภาคการเงินจึงมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรเงินทุนให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและการสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในปี 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดทิศทางให้ภาคการเงินสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านนี้ทำให้การเงินสีเขียวสามารถช่วยให้อุตสาหกรรมต่างๆ เปลี่ยนผ่านไปสู่กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดความเสี่ยงในการลงทุน และช่องว่างด้านต้นทุนของเทคโนโลยีสีเขียวและเชื้อเพลิงฟอสซิล

การลดความเสี่ยงของโครงการสีเขียวในประเทศไทย

ขั้นตอนเบื้องต้นที่สำคัญคือ การจัดตั้งกรอบการกำกับดูแลด้านการเงินและนโยบายพลังงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมไปถึงความชัดเจนด้านกฎหมาย ข้อกำหนดและกระบวนการกำกับดูแลในกรอบระยะเวลาต่างๆมีความสำคัญต่อการดึงดูดเงินลงทุนและการสนับสนุนจากต่างประเทศ รัฐบาลยังมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอมาตรการทางการเงิน เช่น การประกันราคาผลิตภัณฑ์สีเขียว การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและเงินทุนสนับสนุน สามารถช่วยลดต้นทุนและกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนได้ การร่วมมือกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศและการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มระดับความน่าสนใจของโครงการสีเขียวได้ มาตรการเหล่านี้สามารถช่วยเพิ่มเงินทุนอย่างต่อเนื่องไปยังโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านของไทยไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

การสร้างตลาดและเครื่องมือทางการเงิน

ในแต่ละประเทศมีวาระและบริบทที่แตกต่างกัน การสนับสนุนโครงการสีเขียวด้วยการออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืนเพิ่มขึ้น การเน้นย้ำความสำคัญในการใช้กรอบการเงินที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล สามารถช่วยดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในการระดมทุนโครงการที่มีความยั่งยืน นอกจากนี้ การนำกลไกการกำหนดราคาคาร์บอน เช่น การซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการสามารถเห็นโอกาสทางธุรกิจในลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน และทำให้โครงการมีความคุ้มทุนมากขึ้น รัฐบาลยังสามารถส่งเสริมให้สถาบันการเงิน พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆเพิ่มเติมเพื่อตอบแทนแนวทางการดำเนินงานที่ยั่งยืและส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางการตลาดที่เอื้อต่อการลงทุนสีเขียว

การลดช่องว่างด้านต้นทุน

กลไกการสนับสนุนการลงทุนและเงินอุดหนุนโครงการมีบทบาทสำคัญในการลดต้นทุนเบื้องต้นสำหรับโครงการสีเขียว ซึ่งมีประสิทธิภาพอย่างมากในภาคพลังงานโดยเพาะพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เนื่องจากตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและการนำไปใช้งานสูง การกำหนดนโยบายด้านราคาที่สะท้อนถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ภาษีคาร์บอน สามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันของโครงการสีเขียวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมลงทุนในโครงการสีเขียวสามารถช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินได้

การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ตลาดการเงินไทย

ผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานกำกับดูแลสามารถส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลที่ได้มาตรฐาน ยกระดับความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้บริษัทเริ่มต้นเก็บรวบรวมข้อมูลความยั่งยืนและรายงานความเสี่ยง ตามที่ระบุไว้ในร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ การบูรณาการการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกรอบการกำกับดูแล ยังช่วยให้ตลาดการเงินสามารถระบุความเสี่ยงและผลกระทบด้านราคาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างแม่นยำ 

ทั่วโลกกำลังช่วยเพื่อให้โลกไม่ร้อนไปกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ผู้กำหนดนโยบาย นักลงทุนและผู้ให้กู้ สถาบันการเงิน และองค์กรระหว่างประเทศ ควรประสานงานร่วมมือกันเพื่อช่วยปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการเงินโครงการในปัจจุบัน ให้กลายเป็นระบบนิเวศทางการเงินสีเขียวที่มีประสิทธิภาพและสนับสนุนการก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

บทความนี้เป็นการเขียนร่วมกันระหว่าง ดร.บดินทร์ วงศ์วิทยาภิรมณ์ ผู้จัดการอาวุโส และ ดิษยนันท์ พินสุวรรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ส่วนงาน SEA Sustainability and Climate, Centre of Excellence ของ ดีลอยท์ ประเทศไทย