เงินสดคือหนี้สิน จริงหรือ?

เงินสดคือหนี้สิน จริงหรือ?

“เงินสดคือหนี้สิน” ผมขอเสนอนิยามที่เหมาะสมกว่าว่า เงินสดเสื่อมค่าตามเวลาจากเงินเฟ้อ เราควรถือเงินสดในปริมาณที่พอดี เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและสำหรับเหตุฉุกเฉิน ที่เหลือควรนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้

จากกระแสดราม่าของคุณ CK ที่กล่าวว่า “คนรวยจริงจะไม่ถือเงินสด เพราะเงินสดคือหนี้สิน ไม่ใช่ทรัพย์สิน” ซึ่งสร้างการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ คุณ CK ก็ออกมาชี้แจงว่าที่พูดเช่นนี้ เพราะต้องการ “กระตุ้น” ให้คนเกิดความสงสัยและเรียนรู้เรื่องเงินมากขึ้น

ประเด็นนี้น่าสนใจในหลายแง่มุม...

ประเด็นแรกที่ผมเข้าใจได้จากคำพูดของคุณ CK คือมิติของการที่เงินสด = หนี้ หากมองในแง่ที่ว่าเงินสดเสื่อมค่าตามกาลเวลา ซึ่งก็คล้ายกับหนี้ที่เราต้องจ่ายดอกเบี้ยอยู่ตลอด การถือเงินสดไว้เฉยๆ ก็ไม่ต่างจากการต้องเสียดอกเบี้ยโดยที่เราไม่ได้รับผลตอบแทน คนที่รวยหรือแม้กระทั่งคนที่บริหารจัดการเงินเก่ง มักจะไม่ถือเงินสดไว้มากนัก เพราะเงินสดเองนั้นไม่มีผลตอบแทนและยังเสื่อมค่าเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น พวกเขามักจะนำเงินไปลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงต่ำแต่ยังให้ผลตอบแทนดีกว่า อย่างไรก็ตาม การบริหารสภาพคล่องเป็นสิ่งสำคัญ ต้องแน่ใจว่าเรามีเงินสดพอใช้ในกรณีฉุกเฉินได้ด้วย

อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของหนี้ ซึ่งเป็นหนี้ในลักษณะการกู้ยืมเงินต้นเข้ามา ซึ่งถ้าเรานำเงินกู้มาลงทุนและได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย หนี้ในมิตินี้ก็จะกลายเป็นหนี้ที่ดีเพราะมันสร้างรายได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน หากเราถือเงินสดมากเกินไปโดยไม่ลงทุน เงินสดเหล่านั้นก็จะเสื่อมค่าตามอัตราเงินเฟ้อ การป้องกันไม่ให้เงินสดกลายเป็น “หนี้” ในบริบทนี้ก็คือต้องนำไปลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ

ดังนั้น การที่คุณ CK เปรียบเทียบว่าเงินสดคือหนี้สินก็อาจจะถูกต้องในบางมิติ โดยเฉพาะในเรื่องการเสื่อมค่าของเงิน แต่ยังมีมิติอื่นๆ ที่อาจไม่สอดคล้องกับคำเปรียบเทียบนี้อย่างชัดเจน การพูดเพียงสั้นๆ โดยไม่มีการขยายความต่อ ย่อมทำให้เกิดการตีความที่หลากหลาย และกลายเป็นประเด็นถกเถียงในโลกออนไลน์

ผมเชื่อว่าคุณ CK เองก็น่าจะเข้าใจดีว่าการเปรียบเทียบเช่นนี้อาจสร้างความสนใจและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยมองว่าเป็นการกระตุ้นให้คนหันมาเรียนรู้และใส่ใจกับการบริหารจัดการเงินมากขึ้น แต่การสื่อสารในรูปแบบที่สั้นเกินไป โดยเฉพาะจากบุคคลที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก อาจทำให้บางคนเข้าใจผิดหรือยึดถือคำพูดเหล่านั้นเป็นข้อเท็จจริงโดยไม่คิดพิจารณาตามบริบท ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะนำคำแนะนำไปใช้ในทางที่ผิดพลาดได้

ในส่วนของผมเอง ปัจจุบันผมถือเงินสดน้อยมาก แม้ว่าจะเคยถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่าควรเก็บเงินสดไว้ แต่ในความเป็นจริง สิ่งที่เราควรถูกสอนคือ “การบริหารกระแสเงินสด (Cash Flow) และการลงทุนเพื่อให้เกิดรายได้”

สินทรัพย์มีหลายประเภท ตั้งแต่เงินสดที่ใช้ได้ทันที ไปจนถึงสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ เช่นที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ สิ่งสำคัญคือการจัดการและบริหารทรัพย์สินเหล่านี้ให้เรามีสภาพคล่องพอสมควร และลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้

การถือเงินสดเยอะไม่เท่ากับว่าดี

เวลาผมดูงบการเงินของบริษัทบางแห่ง หากบริษัทนั้นมีเงินสดอยู่เยอะมาก ผมมักจะสงสัยถึงความจำเป็นในการเก็บเงินสดไว้ เพราะถ้าไม่มีแผนการใช้เงินสดที่ชัดเจน อาจเป็นการแสดงถึงความสามารถของผู้บริหารในการหาผลตอบแทนจากเงินสดที่มีอยู่

ชีวิตเราก็เหมือนบริษัท ผมเองมีเงินสดน้อยมากๆ เพราะผมนำเงินส่วนใหญ่ออกไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทน บางส่วนเลือกลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงต่ำและบางส่วนในสิ่งที่มีความเสี่ยงสูง แต่ผมก็มั่นใจว่าได้กันเงินสดไว้เพียงพอสำหรับกรณีฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้กระทบกับแผนการลงทุนในระยะยาว

ยกตัวอย่างง่ายๆ หากเราสะสมเงินสดเดือนละ 10,000 บาท ตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงเกษียณ เราจะมีเงินประมาณ 6 ล้านบาท แต่หากนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี เราจะมีเงินมากถึง 20 ล้านบาท ซึ่งชัดเจนว่าเงินสดที่สะสมไว้เฉยๆ นั้นถือว่าเป็นการ “สูญเสียโอกาส” ในการสร้างความมั่งคั่ง

ดังนั้น แทนที่จะกล่าวว่า “เงินสดคือหนี้สิน” ผมขอเสนอนิยามที่เหมาะสมกว่าว่า “เงินสดเสื่อมค่าตามเวลาจากเงินเฟ้อ เราควรถือเงินสดในปริมาณที่พอดี เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและสำหรับเหตุฉุกเฉิน ที่เหลือควรนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้”

# # #

บทความโดย ผศ.ดร.อุดมศักดิ์ รักวงษ์วาน (เอ็ม) PhD in Financial Mathematics

ผู้ร่วมก่อตั้ง และ ที่ปรึกษา ของ Forward - Decentralized Derivatives Platform และ Forward Labs - Blockchain technology labs และ อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์