จัดพอร์ตรับปี 2568
พอร์ตที่แนะนำในปีหน้า แนะนำให้ลดสัดส่วนของหุ้นทุนลงโดยถือเงินสด และกองทุนรวมตลาดเงินเพิ่มขึ้น เพื่อรอโอกาสเข้าลงทุนเมื่อตลาดปรับตัวลง
ปีหน้าเป็นปีที่คาดเดายากว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการคาดเดาก่อนทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งทรงอิทธิพล เพราะนโยบายต่างๆ มีอิทธิพลต่อการเมือง และเศรษฐกิจของโลก คำแนะนำในการจัดพอร์ตต่อไปนี้ จะเป็นการจัดพอร์ตโดยมีสมมติฐานว่า ประธานาธิบดีที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่ง จะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ ที่ทำมาในช่วง 4 ปีล่าสุดมากนัก และไม่เกิดการลุกลามของสงครามในตะวันออกกลางจนกลายเป็นสงครามใหญ่ระดับภูมิภาค
ใน 10 เดือนแรกของปี 2567 (ข้อมูล ณ 29 ตุลาคม 2567) สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดให้กลุ่มสินทรัพย์ที่ติดตามเพื่อการลงทุนคือ ทองคำ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 34.5% มีค่าความผันผวนวัดโดยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) 11.87% รองลงมาเป็นหุ้นสหรัฐ โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.29% มีค่าความผันผวน 10.24% หุ้นโลก โดยดัชนี MSCI World ปรับเพิ่มขึ้น 17.31% มีค่าความผันผวน 9.01% ถือว่าค่อนข้างผันผวนน้อย หุ้นญี่ปุ่นโดยดัชนีนิกเคอิ ปรับเพิ่มขึ้น 16.25% แต่มีค่าความผันผวนสูงถึง 22.57%
ส่วนหุ้นตลาดเกิดใหม่โดยดัชนี MSCI Emerging Market ปรับเพิ่มขึ้น 11.01% ค่าความผันผวน 11.39% กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์โลก (Global REITs) ให้ผลตอบแทน 10.44% มีค่าความผันผวน 10.82% โภคภัณฑ์ ให้ผลตอบแทน 5.5% มีค่าความผันผวน 10.58% พันธบัตรรัฐบาลไทย ให้ผลตอบแทน 5.05% มีค่าความผันผวน 1.64% หุ้นไทย แม้ว่าจะขึ้นอย่างมากมายหลังคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าทำงาน และประกาศขยายกองทุนวายุภักษ์เพื่อขายให้กับประชาชน แต่ก็ทำให้เปลี่ยนจากผลตอบแทนติดลบ มาให้ผลตอบแทนเป็นบวกที่ 2.49% มีค่าความผันผวน 9.08% และที่แย่ที่สุดคือ น้ำมัน โดยดัชนี WTI ให้ผลตอบแทนติดลบที่ 6.2% และมีค่าความผันผวนสูงถึง 24.36% เรียกว่าผันผวนที่สุดในบรรดาสินทรัพย์ที่ติดตามเพื่อการลงทุนทั้งหมด
ส่วนสินทรัพย์ที่ติดตามเพื่อสังเกตการณ์ ปีนี้ บิตคอยน์มาแรงค่ะ สิบเดือนแรกปรับตัวขึ้นถึง 68.67% โดยมีค่าความผันผวนlสูงถึง 41.86% แต่ดิฉันไม่แนะนำให้ลงทุนนะคะ เพราะสำหรับการจัดพอร์ตทั่วไปของบุคคลธรรมดา ไม่คุ้มค่าความเสี่ยง ไม่ลงทุนสินทรัพย์นี้ ก็ไม่เสียหายอะไร ยังสามารถจัดพอร์ตรับผลตอบแทนได้อย่างสมเหตุสมผล และสามารถบริหารความเสี่ยงโดยการกระจายการลงทุนได้
มาดูผลตอบแทนจริงสำหรับพอร์ตที่แนะนำไปเมื่อต้นปีกันหน่อย มีผลตอบแทน และค่าความผันผวน ณ 29 ตุลาคม (ประมาณ 10 เดือน) ดังนี้ค่ะ
- อนุรักษนิยม คาดการณ์ผลตอบแทนไว้ 4.93% ค่าความผันผวน 5.98% ผลตอบแทนจริง 6.65% ค่าความผันผวน 3.93%
- เสี่ยงปานกลาง คาดการณ์ผลตอบแทนไว้ 5.51% ค่าความผันผวน 6.81% ผลตอบแทนจริง 7.46% ค่าความผันผวน 4.74%
- เสี่ยงได้เพิ่ม คาดการณ์ผลตอบแทนไว้ 6.32% ค่าความผันผวน 7.95% ผลตอบแทนจริง 8.91% ค่าความผันผวน 5.71%
- เสี่ยงได้สูง คาดการณ์ผลตอบแทนไว้ 7.06% ค่าความผันผวน 9.21% ผลตอบแทนจริง 9.33% ค่าความผันผวน 6.82%
- เสี่ยงสูงมาก คาดการณ์ผลตอบแทนไว้ 7.79% ค่าความผันผวน 10.31% ผลตอบแทนจริง 10.46% ค่าความผันผวน 7.87%
เศรษฐกิจโลกในปีหน้า น่าจะไปในทิศทางเติบโตในอัตราลดลงอยู่ รวมถึงประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และประเทศส่วนใหญ่ในอียู แต่ที่น่าเป็นห่วงน่าจะเป็น รัสเซีย สหราชอาณาจักร ส่วนประเทศในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เศรษฐกิจก็จะพึ่งพิงยักษ์ใหญ่กลุ่มแรก ซึ่งหากเศรษฐกิจของยักษ์ใหญ่อ่อนแอ รายได้ และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงราคาสินทรัพย์ เช่น หุ้นทุน ก็อาจไม่ปรับเพิ่มตามศักยภาพ
อย่างไรก็ดี มีปัจจัยหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ เรื่องของความถูกความแพงของราคาสินทรัพย์ ต้องยอมรับว่า หลังวิกฤติโควิด บริษัทที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยี มีผลประกอบการที่โดดเด่น และยังโดดเด่นต่อเนื่อง พอร์ตการลงทุนในปีหน้า และในอนาคต จึงต้องมีการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และหากราคาขึ้นไปสูงจนดูแพงเกินไป ก็ปรับลดสัดส่วนลงโดยการขายทำกำไร และกลับเข้าไปลงทุนใหม่ เมื่อราคาปรับตัวลดลง เรียกว่าต้องทำกำไรเป็นระยะๆ
สำหรับตลาดเกิดใหม่ หลังจากมีผลตอบแทนพ่ายแพ้ตลาดพัฒนาแล้วเป็นเวลาหลายปี ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ผู้ลงทุนหันมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ค่ะ โดยในสิบปีที่ผ่านมาถึงสิ้นปี 2566 ตลาดหุ้นโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นรวม 136.77% ในขณะที่หุ้นในตลาดเกิดใหม่ ปรับตัวลดลง 2.98% และยังมีค่าความผันผวนสูงกว่าคือ 13.02%ต่อปี ในขณะที่ตลาดหุ้นโลก ผันผวนเฉลี่ยปีละ 12.17% ทั้งนี้ผู้ชนะในช่วงสิบปีที่ผ่านมา คือ ผู้ลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ดัชนี S&P500 ปรับเพิ่มขึ้นถึง 234.45% ตามมาด้วย หุ้นญี่ปุ่น โดย ดัชนี NIKKEI ของญี่ปุ่น ปรับเพิ่มขึ้น 221.92%
ค่าเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่ก็น่าจะอยู่ในแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากผู้ลงทุนต้องการกระจายการลงทุนออกจากเงินดอลลาร์สหรัฐ เข้าไปสู่สกุลเงินอื่นๆ ดังนั้นเงินบาทก็เป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ผู้ลงทุนให้ความสนใจ จริงๆ แล้วสนใจมากกว่าหุ้นทุนอีก ดังนั้นค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หากเราไม่ไปสะดุดตัวเองด้วยนโยบายที่สุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินการคลังของประเทศเสียก่อน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากในปีนี้ ราคาหุ้น และสินทรัพย์ต่างๆ มีความผันผวนในระดับต่ำกว่าปกติ จึงคาดว่าในปีหน้า ความผันผวนจะเพิ่มขึ้น จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังขึ้นค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ตลาดหุ้น และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจะมีความผันผวนเพิ่มขึ้น
สินทรัพย์ที่ยังคงจะมาแรง (แต่อาจมีการปรับตัวลงก่อนที่จะไปต่อ) คือ ทองคำ แต่หากยังไม่มีในพอร์ตเลย ณ เวลานี้ไม่แนะนำให้เข้าไปซื้อนะคะ รอปรับตัวลงสักหน่อยดีกว่า เว้นแต่หากสงครามลุกลาม ราคาทองคำก็จะวิ่งต่อไป น้ำมันก็จะขึ้นราคา สมทบกับโภคภัณฑ์อาหารที่อาจมีราคาสูงขึ้นจากน้ำท่วม และภัยพิบัติต่างๆ และเงินเฟ้อจะตามมาเป็นปัญหาของโลก
พอร์ตที่แนะนำในปีหน้า แนะนำให้ลดสัดส่วนของหุ้นทุนลงโดยถือเงินสด และกองทุนรวมตลาดเงินเพิ่มขึ้น เพื่อรอโอกาสเข้าลงทุนเมื่อตลาดปรับตัวลง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์