ย้อนวิกฤติหนี้บัตรเครดิตเกาหลีใต้ กับบทเรียนจาก “หนี้ครัวเรือน” ที่ต้องตระหนัก

ย้อนวิกฤติหนี้บัตรเครดิตเกาหลีใต้ กับบทเรียนจาก “หนี้ครัวเรือน” ที่ต้องตระหนัก

บทเรียนวิกฤตหนี้ครัวเรือนของเกาหลีใต้ครั้งนั้น ดูจะมีส่วนคล้ายกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของหลายประเทศในปัจจุบัน “การเร่งขึ้นของหนี้ครัวเรือนมักจะมาเมื่อผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ไม่นาน” จากการก่อหนี้ (รายจ่าย) ในช่วงที่มาตรการทางการเงินผ่อนคลายลงมากกว่าปกติ แต่รายได้ครัวเรือนในภาพรวมกลับฟื้นตัวช้าและไม่แน่นอนสูง ทำให้หนี้ครัวเรือนในลักษณะนี้ถูกสั่งสมเป็นเวลานานจนกลายเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะปะทุทุกเมื่อ

ช่วงที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนกลายเป็นประเด็นที่กลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลังตัวเลขไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ชี้ว่าหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของหลายประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562 อาทิ เกาหลีใต้ จาก 92.1% มาอยู่ที่ 93.9% มาเลเซีย จาก 82.8% มาอยู่ที่ 84.2% และไทย จาก 84.1% เป็น 89.6% ซึ่งแม้ว่าหนี้ครัวเรือนในหลายประเทศจะมีช่วงที่ลดลงบ้างตามการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (Debt Deleveraging) แต่ระดับครัวเรือนที่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ก็ถือเป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจเช่นกัน 

ตัวอย่างหนึ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นมา หนีไม่พ้นกรณี “วิกฤตหนี้บัตรเครดิตของเกาหลีใต้” โดยมีต้นตอมาจากหลังวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เกาหลีใต้เร่งฟื้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ทำให้ต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างมาก สถาบันการเงินพยายามเพิ่มน้ำหนักการปล่อยสินเชื่อแก่รายย่อยมากขึ้นเพื่อชดเชยการปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ที่ส่วนใหญ่ยังฟื้นตัวจากวิกฤตได้ช้า ส่งผลให้สินเชื่อรายย่อยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเงินให้กู้ยืมแก่รายย่อยเพิ่มขึ้นจาก 30% ของสินเชื่อรวมของธนาคารในปี 2540 เป็น 50% ในปี 2545 ดันให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของเกาหลีใต้จากที่เคยอยู่ต่ำกว่า 20% ของจีดีพีในปี 2521 เร่งขึ้นมาอยู่ที่ 65.6% ในปี 2545

แน่นอนว่าในช่วงปี 2542-2545 “ธุรกิจบัตรเครดิต” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดของสถาบันการเงินรายย่อย โดยเฉพาะการกระโดดเข้ามาทำธุรกิจบัตรเครดิตของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่แชโบล (Chaebols) เมื่อทางการเกาหลีใต้พยายามส่งเสริมการใช้บัตรเครดิตแก่ภาคประชาชนเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานภาคการเงิน เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับร้านค้าที่รับชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ขณะที่ผู้ถือบัตรเครดิตก็สามารถหักภาษีเงินได้ในส่วนที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้เช่นกัน ส่วนด้านกฎระเบียบ ทางการเกาหลีใต้ได้ลดอัตราดอกเบี้ยแก่สินเชื่อส่วนบุคคลผ่านบัตรลงจากราว 20% เหลือ 6-7% รวมถึงยกเลิกข้อจำกัดด้านวงเงินในการใช้จ่ายบัตร (ซึ่งเคยกำหนดไว้สูงสุด 20 เท่าของเครดิต) ส่งผลให้จำนวนการออกบัตรเครดิตใหม่เพิ่มขึ้นจาก 39 ล้านใบในปี 2542 เป็น 104.8 ล้านใบในปี 2545 เช่นเดียวกับยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรก็เพิ่มขึ้นจาก 90.8 ล้านล้านวอน มาอยู่ที่ 622.9 ล้านล้านวอน ภายในระยะเวลาไม่นาน 

อย่างไรก็ดี การเข้ามาเล่นในธุรกิจบัตรเครดิตของกลุ่มทุนแชโบลได้เปลี่ยน Landscape การแข่งขันของผู้เล่นรายเดิมในตลาดไปโดยสิ้นเชิง การเร่งทำการตลาดในทุกช่องทางเพื่อขยายฐานลูกค้าบัตรเครดิตเป็นสิ่งจำเป็นอันดับต้น ๆ ในช่วงที่ทางการเกาหลีใต้ผ่อนคลายมาตรการปล่อยสินเชื่อแก่รายย่อยอย่างหนัก ท่ามกลางข้อจำกัดในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่พร้อมรับกับการเติบโตของตลาดในประเทศที่ก้าวกระโดดเช่นนี้ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจบางส่วนไม่สามารถนำส่งรายงานข้อมูลเครดิตลูกค้าแก่หน่วยงานกลางได้ และเป็นผลทำให้ระบบการคัดกรองคุณภาพลูกค้าบัตรเครดิตมีความหละหลวมมากขึ้น

ช่วงปี 2545 ปัญหาที่อยู่ใต้พรมเริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนขึ้น จากบัญชีที่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจนเต็มวงเงินเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่มีความสามารถในการชำระเงินคืน ส่งผลให้สัดส่วนหนี้เสีย (NPL) สูงถึง 20% ของยอดสินเชื่อบัตรเครดิต พอร์ตของสถาบันการเงินและบริษัทบัตรเครดิตเต็มไปด้วยหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง บริษัทจำเป็นต้องดึงเงินทุนจากฝั่งของธุรกิจรายใหญ่มากขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย บางส่วนหันมาแปลงหนี้จากบัตรเครดิตให้อยู่ในรูปของหลักทรัพย์เพื่อตัดจำหน่ายให้แก่นักลงทุน (Securitization) ซึ่งนั่นหมายความว่า สถาบันการเงินและบริษัทบัตรเครดิตกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องและปัญหาด้านคุณภาพหนี้ 

จุดนี้เองเป็นจุดที่ทำให้เริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic Risk) คืบคลานเข้ามาทุกที ทำให้ทางการเกาหลีใต้เร่งเข้ามาควบคุมผ่านการเพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำสำหรับผู้ออกบัตรจาก 7% เป็น 8% การสั่งห้ามออกแคมเปญทางการตลาดเชิงรุก รวมไปถึงการกำหนดให้ผู้ใช้บัตรเครดิตได้ไม่เกิน 50% ของวงเงินบัตร ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินก็เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ จนนำมาซึ่งวิกฤตขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ประชาชนมากกว่า 4 ล้านรายหรือกว่า 10% ของประชากรเกาหลีใต้ ณ ขณะนั้น เผชิญการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิต ขณะที่ 1 ล้านรายจำเป็นต้องเข้ารับการปรึกษาเพื่อแก้หนี้ และอีกกว่า 3 แสนรายเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้

กล่าวโดยสรุป จากบทเรียนของวิกฤตหนี้ครัวเรือนของเกาหลีใต้ในครั้งนั้น ดูจะมีส่วนคล้ายกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของหลายประเทศในปัจจุบัน กล่าวคือ “การเร่งขึ้นของหนี้ครัวเรือนมักจะมาเมื่อผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ไม่นาน” จากการก่อหนี้ (รายจ่าย) ในช่วงที่มาตรการทางการเงินผ่อนคลายลงมากกว่าปกติ แต่รายได้ครัวเรือนในภาพรวมกลับฟื้นตัวช้าและไม่แน่นอนสูง ทำให้หนี้ครัวเรือนในลักษณะนี้ถูกสั่งสมเป็นเวลานานจนกลายเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะปะทุทุกเมื่อ 

ฉะนั้นแล้ว สิ่งสำคัญคือ ในช่วงที่ประเทศเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ การเร่งฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมไปพร้อมกับการใช้มาตรการช่วยเหลือที่มีความเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การฟื้นรายได้ครัวเรือนให้กลับสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด” จะทำให้หนี้ครัวเรือนเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน