สังคมไร้เงินสด

สังคมไร้เงินสด

สำหรับประเทศไทย ดิฉันเห็นร้านกาแฟดังต่างชาติบางสาขา ไม่รับเงินสด

ปีนี้ดิฉันมีโอกาสไปเยือนยุโรป 4 ประเทศ และพบว่า ยุโรปเหนือได้พัฒนาการเป็นสังคมไร้เงินสดมากกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป ยกตัวอย่าง ประเทศนอร์เวย์ เนื่องจาก นอร์วิเจียนโครน ไม่ได้มีแพร่หลาย ประชากรเพียง 5.5 ล้านคน การแลกเงินโครนนอร์เวย์จึงค่อนข้างยาก ดิฉันเดินทางโดยมีเงินสดสกุลยูโรเล็กน้อย และมี cash card เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ยูโร และเยน บวกกับบัตรเครดิตสองสามใบ

ปรากฏว่า ตลอดทริปไม่ต้องใช้เงินสดเลย ถามร้านค้าว่าไม่มีเงินโครน จ่ายบัตรเครดิต หรือ cash card ได้ไหม เขาบอกยินดีเลย บางร้านถึงกับเขียนป้ายว่ารับบัตรเครดิต เดบิต และบัตรอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆเท่านั้น ไม่รับเงินสด 

แม้กระทั่งร้านเล็กๆที่ไปออกร้านที่ตลาดคริสต์มาส ซึ่งเป็นตลาดชั่วคราว ก็ยังรับบัตรทุกร้าน เจ้าของร้านบอกว่า สะดวกกว่าสำหรับเขา

นักวิจัยจากธนาคารกลางสวีเดนรายงานว่า การใช้เงินสดซื้อสินค้าและบริการ ได้ลดลงจาก 40% ในปี 2012 เหลือเพียง 10% ในสองสามปีนี้

หากย้อนกลับไปก็จะพบว่า ในปี 2012 ธนาคารพาณิชย์ของสวีเดน 6 แห่ง ได้ร่วมกันออกระบบชำระเงินเคลื่อนที่ ชื่อ Swish และเป็นที่นิยมใช้มาก และธนาคารหลายแห่งได้ยกเลิกการดำเนินการด้านเงินสดในสาขาท้องถิ่นมาพักใหญ่แล้ว ทำให้ประชาชนตอบรับการเชิญชวนจ่ายเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นอย่างดี

ข้อมูลจาก Miranda Bryant ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวของ The Guardian ในประเทศกลุ่มนอร์ดิก (เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน) ชี้แจงว่า ประเทศกลุ่มนอร์ดิก เข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างรวดเร็ว และเป็นเรื่องง่ายที่ประชาชนจะหันมาใช้ช่องทางรับจ่ายดิจิทัล เนื่องจาก ประเทศเหล่านี้ มีระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ดี ประชาชนมีความรู้ทางดิจิทัลดี ประกอบกับประชากรส่วนใหญ่อยู่ในเมือง และมีอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการเงิน (FIN Tech) ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว 

สำหรับนอร์เวย์ มีระบบชื่อ Vipps ซึ่งได้ควบรวมกับ Danish MobilePay ของเดนมาร์กในปี 2022 เป็น Vipps MobilePay ซึ่งใช้กันแพร่หลาย ซื้อของเล็กๆน้อยๆ เช่น น้ำดื่ม หรือของที่ระลึกไม่กี่ร้อยบาท ก็รูดบัตรทุกรายการ จึงไม่มีเหรียญนอร์วิเจียนโครนกลับมาดูเล่นเลยค่ะ

เมื่อไปเนเธอร์แลนด์ พบว่า ซื้อของไม่กี่สิบยูโร ร้านค้าก็ยินดีให้รูดบัตร หลายร้าน ติดป้ายว่าไม่รับเงินสดด้วยซ้ำไป เพราะร้านค้าสามารถทำบัญชีบันทึกยอดขายและภาษีขายได้อย่างสะดวก จึงแทบไม่ได้ใช้เงินสดสกุลยูโรที่แลกไปเลย

ไปสเปนเมื่อปลายเดือนตุลาคม (กลับมาก่อนฝนตกหนักและน้ำท่วมบาเลนเซียเพียงสองวัน) พบว่าคนสเปนชอบใช้ช่องทางชำระเงินแบบดิจิทัลเหมือนกัน แต่ไม่มากเหมือนยุโรปเหนือ จะคล้ายๆไทยค่ะ ร้านขายของที่ระลึก ขายขนม ไอศกรีม ฯลฯ ยังอยากได้เงินสดมากกว่าให้รูดบัตรเครดิต เข้าใจว่าไม่อยากเสียค่าธรรมเนียม 

ส่วนฝรั่งเศสที่ไปชมกีฬาโอลิมปิกมาเมื่อต้นเดือนสิงหาคม จากการสังเกต น่าจะเป็นประเทศที่ใช้ช่องทางจ่ายเงินทางดิจิทัลน้อยที่สุดในบรรดาประเทศต่างๆที่ไปเยือนมาในปีนี้ ร้านอาหารยังคงชอบที่จะรับเงินสดอยู่ แม้จะเป็นหลักหลายร้อยยูโรก็ตาม เท่าที่สังเกต สาเหตุอาจเป็นเพราะคนใช้เงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่ค่อยให้เงินทิปก็เป็นได้

หากดูแนวโน้มอย่างนี้ ท่านคงเดาว่า ในไม่ช้า การใช้เงินสดจะหมดไป และธนาคารกลางก็ไม่ต้องพิมพ์ธนบัตรหรือปั๊มเหรียญกษาปณ์อีกแล้ว

ถูกเป็นบางส่วนค่ะ ในปี 2018 รองผู้ว่าการของธนาคารกลางสวีเดน ประกาศว่า สวีเดนจะเป็น “สังคมไร้เงินสด” หรือ Cashless Society ในปี 2025

และแม้ว่าเงินสดจะใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย แต่ปัจจุบัน ร้านค้าและร้านอาหารไม่ค่อยอยากรับเงินสด ทางสวีเดนจึงประกาศว่า หากจะไม่รับเงินสด สามารถทำได้ แต่ต้องติดประกาศไว้ 

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการเป็นสังคมไร้เงินสดสะดุดลง เมื่อรัสเซียบุกยูเครนในปี 2022 โดยสวีเดนมองว่า มีทั้งโอกาสที่จะเกิดสงครามข้ามแดนและการโจมตีทางไซเบอร์จากกลุ่มที่อยู่ข้างรัสเซีย และมีความกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงสินค้าและบริการของกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงระบบดิจิทัล สวีเดนจึงมีการทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการใช้ระบบโอนเงินดิจิทัล โดยในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2024 นี้ จะมีแผ่นพับส่งไปทุกบ้าน ถึงแนวทางปฏิบัติหากเกิดวิกฤติ หรือเกิดสงครามขึ้น ซึ่งกระทรวงกลาโหมแนะนำให้ประชาชนใช้เงินสดให้เป็นเรื่องปกติ และให้ตุนของใช้ในบ้านเพียงพอสำหรับใช้อย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ และมีช่องทางการชำระเงินอื่นๆด้วย เช่น บัตรธนาคาร การจ่ายเงินผ่านระบบชำระเงินดิจิทัล เป็นต้น

ส่วนนอร์เวย์ ซึ่งมีพรมแดนทางเหนือติดรัสเซีย ก็มีการจัดการความมั่นคงชายแดนที่เข้มงวดขึ้น สำหรับการใช้จ่ายนั้น นอร์เวย์ไม่มีการบังคับให้ร้านค้าต้องรับเงินสด และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเมื่อร้านค้าจำนวนมากไม่ต้องการรับเงินสด ทำให้คนที่ไม่มีบริการดิจิทัล ประมาณ 600,000 คน (คิดเป็น 10.9% ของประชากร 5.5 ล้านคน) มีข้อจำกัดในการซื้อสินค้าและบริการ รัฐบาลนอร์เวย์จึงต้องแก้ปัญหาโดยการออกกฎหมายว่า จะปรับหรือเข้าแทรกแซงร้านค้าที่ไม่ยอมรับเงินสดจำนวนไม่เกิน 20,000 โครน (ประมาณ 57,000 บาท) โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

เหตุผลที่ต้องกลับมาพึ่งเงินสด เพราะว่าหากไม่มีใครจ่ายเงินสด และไม่มีใครรับเงินสด เงินสดก็ไม่สามารถใช้ได้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือวิกฤติ คนจะจ่ายเงินอย่างไร การเตรียมการรับมือกับสงครามและวิกฤติจะยากขึ้น เช่น หากไฟฟ้าดับเป็นเวลานาน ระบบล่ม หรือระบบชำระเงินถูกโจมตีทางไซเบอร์ ธนาคารก็จะเหลือช่องทางจ่ายเงินด้วยเงินสด เพียงช่องทางเดียว 

เงินสดจึงเป็นความจำเป็นในการบริหารความเสี่ยง เพราะเป็นเครื่องมือสำรองไว้ใช้ หากเกิดเหตุการณ์วิกฤติขึ้นจริงๆ จะสามารถบรรเทาความเสียหายได้ในระดับหนึ่ง มิฉะนั้นระบบชำระเงินจะหยุดนิ่ง

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า มาตรการเหล่านี้จะทำให้คนหันมาพกพาเงินสดเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินหรือไม่ สำหรับประเทศไทย ดิฉันเห็นร้านกาแฟดังต่างชาติบางสาขา ไม่รับเงินสด สงสารเด็กนักท่องเที่ยวอินเดียที่ไม่มีบัตรเครดิตซึ่งอยากซื้อโกโก้เย็น กำเงินบาทมาแต่ซื้อไม่ได้ เขาก็ไม่เข้าใจ ธปท.อาจต้องออกเกณฑ์ห้ามปฏิเสธเงินสดบ้างเหมือนนอร์เวย์หรือไม่

หมายเหตุ : หลังจากเขียนบทความจบ ดิฉันไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า Finansplassen ซึ่งเป็นเว็ปข้อมูลการเงินของนอร์เวย์ ได้รวบรวมข้อมูลจาก World Bank, Eurostat และอื่นๆ มาจัดทำอันดับของประเทศที่ใกล้เป็นสังคมไร้เงินสดที่สุดในยุโรป โดยดูจาก จำนวน ATM และจำนวนเครื่องรับบัตรทำรายการขาย ต่อประชากร และสัดส่วนของประชากรที่ใช้ธนาคารทางอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า นอร์เวย์มาอันดับหนึ่ง ตามด้วยฟินแลนด์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน ส่วนสเปนอยู่อันดับที่ 18 และฝรั่งเศสอยู่อันดับที่ 19 ทั้งนี้ เยอรมนีรั้งท้ายๆเลยค่ะ คืออยู่อันดับที่ 43 จาก 45 ประเทศ