3 เดือนแรกของปีมะเส็ง กับ 3 ปัจจัยที่ต้องติดตาม
![3 เดือนแรกของปีมะเส็ง กับ 3 ปัจจัยที่ต้องติดตาม](https://image.bangkokbiznews.com/uploads/images/md/2025/01/1CjdlCnhmOQ60bOZgqTl.webp?x-image-process=style/LG)
ปีมะเส็ง พ.ศ. 2568 ถือว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการเมืองระดับโลก โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดี ซึ่งมาพร้อมกับนโยบายที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์
บรรยากาศการลงทุนในช่วงต้นปีมะเส็ง พ.ศ.2568 มีความผันผวน ราคาสินทรัพย์ลงทุนโดยส่วนใหญ่ปรับตัวลงสวนทางกับมุมมองของนักลงทุนที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะยังเติบโตได้ต่อเนื่องจากปีมะโรง พ.ศ. 2567 เหตุผลที่ทำให้ราคาสินทรัพย์ลงทุนมีความผันผวน มาจากการที่นักลงทุนปรับลดความคาดหวังในการลดดอกเบี้ยของธนาคารสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหัวขบวนหลักของโลกในวัฏจักรการลดดอกเบี้ยรอบนี้ เมื่อปลายปีก่อน นักลงทุน ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดดอกเบี้ย 3-4 ครั้ง มาวันนี้ ปรับลดคาดการณ์เหลือเพียง 1 ครั้ง หรืออาจจะไม่ลดดอกเบี้ยเลย ซึ่งความผันผวนเหล่านี้คาดว่าจะยังปกคลุมบรรยากาศของการลงทุนตลอด 3 เดือนแรกของปี 2568 โดยมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่
1. ทรัมป์ 2.0 การกลับมาของนายโดนัล ทรัมป์ สมัยที่ 2 ในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ซึ่งพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งจะมีขึ้นในวันที่ 20 มกราคม 2568 การกลับมาครั้งนี้ไม่เพียงแค่ชัยชนะในตำแหน่งประธานาธิบดี แต่พรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ช่วยให้การผลักดันนโยบายต่างๆ ทำได้สะดวกขึ้น ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ เน้นนโยบายปกป้องผลประโยชน์ของอเมริกา พร้อมผลักดันนโยบาย American First หนึ่งในนโยบายที่เน้นย้ำและมีความไม่แน่นอนมากที่สุด คือ นโยบายการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า (Tariff) ของสหรัฐฯ ที่จะสร้างความเสี่ยงให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นหรือทรงตัว ในระดับสูงเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายของธนาคารกลางสหรัฐฯ
นอกจากนี้ยังสร้างความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศของโลกและจะสร้างความผันผวน ให้กับตลาดการเงินและการลงทุนทั่วโลกในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม มีนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตในภาคธุรกิจของสหรัฐฯ สร้างความได้เปรียบให้กับบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ คือ การลดกฎระเบียบในภาคพลังงาน การเงิน และเทคโนโลยีและการลดภาษีนิติบุคคล ดังนั้น นักลงทุนจึงควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายของนายโดนัล ทรัมป์ และเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่ อาจจะปรับขึ้นได้
2. นโยบายเศรษฐกิจของจีน นักลงทุนในตลาดคาดหวังว่าทางการจีนจะออกมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อกระตุ้นความต้องการภายในประเทศและสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในระยะยาว อีกทั้งลดผลกระทบหากประเทศสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน หากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนมีประสิทธิผล จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ส่งผลบวกต่อราคาสินทรัพย์ลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
3. ความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ การต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานของประเทศรัสเซียและยูเครน ความไม่สงบ ในตะวันออกกลาง เพิ่มเติมด้วยการที่นายโดนัล ทรัมป์ ประกาศจุดยืนด้านต่างประเทศที่แข็งกร้าว ไม่เป็นมิตร ในบางประเทศ ใช้อำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารที่อาจเพิ่มแรงกดดันให้ประเทศคู่ค้าและพันธมิตรต้องปรับตัว เช่น ส่งคำเตือนไปยังกลุ่มฮามาสให้ปล่อยตัวประกันอิสราเอลภายในวันที่ 20 มกราคม 2568 ขู่ใช้กำลังทหาร ยึดคลองปานามา-กรีนแลนด์ และแสดงความต้องการที่จะครอบครองแคนาดาเป็นรัฐฯ ที่ 51 ของสหรัฐฯ ปัจจัยเหล่านี้สร้างความผันผวนต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์
ปีมะเส็ง พ.ศ. 2568 ถือว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการเมืองระดับโลก โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดี ซึ่งมาพร้อมกับนโยบายที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลัง และความตึงเครียดในภูมิภาคต่าง ๆ ที่ยังคงต้องติดตาม ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลต่อการลงทุนไม่เพียงแค่ในช่วงต้นปีเท่านั้น แต่อาจจะเป็นปัจจัยหลักกระทบต่อการลงทุนตลอดทั้งปี 2568 เพื่อรับมือกับความผันผวนในการลงทุน การกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปยังสินทรัพย์ลงทุนหลากหลายประเภท ไม่ควรกระจุกตัวอยู่ในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยเลือกลงทุนผ่านกองทุนที่มีความ Active สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสมกับสภาวะการณ์