ทรัมป์กับนโยบายป่วนโลก

ทรัมป์กับนโยบายป่วนโลก

สองสัปดาห์หลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์ โลกได้ตระหนักว่า ที่คาดไว้ว่าจะมีความผันผวน มันเป็นยิ่งกว่าคาด เพราะวันหนึ่งประกาศใช้มาตรการ ตลาดทุนป่วนไปหนึ่งรอบ วันรุ่งขึ้นประกาศชะลอการใช้มาตรการ ตลาดทุนก็ป่วนอีกรอบหนึ่ง

ดิฉันเขียนเตือนเอาไว้เมื่อต้นเดือนมกราคมว่า หากวางแผนไว้ดีแล้ว ผู้ลงทุนระยะยาวควรจะนิ่ง เพราะความผันผวนที่เห็นว่ามีมากในระยะสั้นนี้ เมื่อมองภาพรวมในระยะยาวแล้วจะดูเล็กน้อยมาก

อย่างไรก็ดี เรายังจำเป็นต้นจับตาดูนโยบายและความเคลื่อนไหวรวมถึงแนวโน้มต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อปรับนโยบายการลงทุน หรือการทำธุรกิจ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อป้องกันความเสียหายใหญ่ๆ หรือเพื่อใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่อาจเป็นผลบวกกับสิ่งที่เราทำอยู่ค่ะ

เรื่องที่หนึ่งคือ นโยบายดำเนินการกับผู้อพยพที่ผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดขึ้น สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้อพยพมากที่สุดในโลก และเศรษฐกิจของสหรัฐส่วนหนึ่งก็เติบโตได้เพราะกลุ่มผู้อพยพทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรลดลง และมีจำนวนประชากรในวัยทำงานคงที่หรือเพิ่มขึ้น โดยไม่ได้ตกลงเหมือนประเทศพัฒนาแล้วที่มีความเข้มงวดเรื่องการรับผู้อพยพ 

Migration Policy Institute ประมาณว่า ผู้อพยพในสหรัฐอเมริกามีจำนวนถึง 46 ล้านคน ในปี 2022 โดยในจำนวนนี้มีผู้อพยพแบบผิดกฎหมายถึง 11 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 3.3% ของประชากรทั้งหมด และมีผู้อพยพที่เข้ามาเพิ่มในช่วงปี 2023-24 อีกประมาณ 2.3 ล้านคน

American Immigration Council ได้ทำการวิจัยเมื่อเดือนตุลาคม 2024 พบว่า หากรัฐบาลสหรัฐผลักดันผู้อพยพที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายออกไปทั้งหมด 13.3 ล้านคน จะต้องใช้งบประมาณถึง 315,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 10.87 ล้านล้านบาท รวมถึงค่าจับกุม ค่ากักตัว ค่าใช้จ่ายกฎหมาย และค่าใช้จ่ายในการส่งกลับ และคาดว่าจะใช้เวลา 10 ปี และจะส่งผลถึงการขาดแคลนแรงงาน โดยยกตัวอย่าง ธุรกิจก่อสร้างและเกษตรกรรม แรงงานจะหายไปประมาณ 1 ใน 8 โดยช่างฝีมือก่อสร้างจะหายไปถึง 30% คนงานทำเกษตรกรรม หายไป 28% และคนทำความสะอาดหายไป 25% ก็ต้องดูว่าจะกวาดล้างจนถึงที่สุดได้หรือไม่

ประเทศต้นทางของผู้อพยพผิดกฎหมาย ที่มีจำนวนมากที่สุดคือเม็กซิโก 5.2 ล้านคน กัวเตมาลา 0.78 ล้านคน เอลซาวาดอร์ 0.75 ล้านคน ฮอนดูรัส 0.564 ล้านคน อินเดีย 0.4 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 0.309 ล้านคน เวเนซูเอลา 0.25 ล้านคน จีน 0.24 ล้านคน โคลอมเบีย 0.2 ล้านคน บราซิล 0.195 ล้านคน และประเทศอื่นๆอีก 2.32 ล้านคน

การดำเนินมาตรการที่ ปธน.ทรัมป์สั่งการคือให้นำกลุ่มคนที่จับได้แล้วส่งกลับไปบางส่วนก่อน และเมื่อประเทศต้นทางไม่ให้ความร่วมมือในการรับกลับ ก็ขู่ที่จะดำเนินการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ เช่น ขึ้นอัตราภาษีนำเข้า ลดความช่วยเหลือ ฯลฯ หากประเทศต้นทางยินยอม ก็จะผ่อนคลายมาตรการตอบโต้ลง จึงถือว่าได้สองต่อ

นโยบายอย่างที่สองคือ การแก้เผ็ดประเทศที่สหรัฐเสียเปรียบดุลการค้ามากๆ อันนี้ใช้เทคนิคต่อรองแบบพ่อค้า คืออาศัยอำนาจซื้อว่าเป็นลูกค้ารายใหญ่ ก็จะต่อรองให้ได้ดีลสูงสุด โดยหวังผลหลักสองอย่างคือ ขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อให้สินค้าของประเทศนั้นมีราคาสูงขึ้นในสหรัฐ สินค้าของสหรัฐจะได้สามารถแข่งขันได้บ้าง หรือบีบให้ประเทศคู่ค้าต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น เป็นการช่วยเศรษฐกิจสหรัฐโดยตรง

ข้อมูลจาก World Population Review แสดงให้เห็นว่า ประเทศที่สหรัฐขาดดุลการค้ามากที่สุดคือ จีน โดยขาดดุลถึง 279,424 ล้านเหรียญในปี 2024 ถัดไปคือเม็กซิโก 152.379 ล้านเหรียญ เวียดนาม 104,627 ล้าน เยอรมนี 83,021 ล้าน ญี่ปุ่น 71,175 ล้าน แคนาดา 67,861 ล้าน ไอร์แลนด์ 65,342 ล้าน เกาหลีใต้ 51,398 ล้าน ไต้หวัน 47,975 ล้าน อิตาลี 44,012 ล้าน อินเดีย 43,651 ล้าน และไทยมาเป็นอันดับที่ 12 โดยสหรัฐขาดดุลกับเรา 40,720 ล้านเหรียญในปี 2024

นโยบายที่สามคือ การกีดกันและจำกัดทรัพยากรสำหรับประเทศคู่แข่งทางเทคโนโลยี ข้อนี้มีผู้กล่าวถึงมากแล้ว ดิฉันจะขอข้ามไป

นโยบายที่สี่ คือการพยายามยื้อให้เงินดอลลาร์ยังเป็นสกุลที่ใช้ในการค้าโลก และใช้เป็นเงินทุนสำรอง นโยบายนี้เป็นการดักคอมากกว่า เพราะสหรัฐไม่ถึงกับเสียเปรียบในปัจจุบัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นผลตอบแทนของเงินฝากและพันธบัตรของสหรัฐยังสูงเกือบที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว และปัจจุบันยังไม่มีเงินสกุลใดที่มีการใช้ในการค้าระหว่างประเทศ และใช้เป็นทุนสำรองมากเท่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะมีสภาพคล่องสูง ข้อมูลล่าสุดจาก IMF เงินดอลลาร์สหรัฐยังมีสัดส่วนสูงที่สุดในบรรดาเงินสำรองต่างประเทศของธนาคารกลางทุกแห่งในโลก โดยมีสัดส่วน 54% ของเงินสำรองต่างประเทศทั้งหมด

อย่างไรก็ดีในสองสามปีที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มมีความผันผวนสูง จากการดำเนินนโยบายที่รุนแรงในการปราบเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ จึงทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศ มีการใช้ทองคำเป็นทุนสำรองในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เราจึงเห็นราคาทองคำยัง “ไปต่อ” ได้ และทำสถิติสูงสุดใหม่ แม้ความกังวลเรื่องสงครามจะลดลงไปบ้างแล้วในปัจจุบัน 

นโยบายที่ห้า การลดความใจกว้างและช่วยเหลือโลก (เพื่อบริหารงบประมาณที่ติดลบต่อเนื่องยาวนาน) โดยในช่วงเวลา 80 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้แสดงความเป็นพี่ใหญ่ด้วยการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ในโลก ซึ่งความช่วยเหลือที่เด่นชัดที่สุดคือ การช่วยเหลือผ่าน ชื่อที่คนรุ่นดิฉันเรียกกันคุ้นหูว่า “ยูเสด” USAID (United States Agency for International Development) โดยใช้งบประมาณปีละประมาณ 44,000 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1.52 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 0.4% ของงบประมาณทั้งหมดของรัฐบาลสหรัฐ โดยตัดงบตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ นี้เป็นต้นไป

นโยบายที่หก การพยายามกดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อให้ต้นทุนการกู้ลดลง ณ สิ้นปี 2024 ยอดคงค้างพันธบัตรและตั๋วเงินคลัง (พันธบัตรระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี) เท่ากับ 36.218 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งเท่ากับประมาณ 128.77% ของ GDP สหรัฐ* ซึ่งไม่น้อยทีเดียว แต่เดิมตลาดก็คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงอยู่แล้วในปีนี้ ตามเงินเฟ้อที่ลดลงและกอจกรรมทางเศรษฐกิจที่แรงไม่หยุด แต่พอทรัมป์มา หลายนโยบายก็จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่ม จึงต้องจับตาดูกันต่อไปค่ะ อย่าลืมนะคะ “กล้าเกินไปก็เสี่ยง กลัวเกินไปก็เสียโอกาส”

*ประมาณการ GDP สหรัฐ ปี 2024 จากข้อมูลของธนาคารโลก ปี 2023 และใช้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แถลงโดย US Bureau of Economic Analysis และข้อมูลหนี้คงค้างจาก Monthly Statement of the Public Debt (MSPD) ของกระทรวงการคลังสหรัฐ