วัน Corner แตก

หุ้นในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมาก  น่าจะเป็นร้อยตัวขึ้นไป  โดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดเล็ก  น่าจะเป็นหุ้นที่ผมเรียกว่า  “อยู่ใน Corner” คือเป็นหุ้นที่ถูกซื้อ โดยนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น  “รายใหญ่” และบางครั้งก็รวมถึงผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในปริมาณที่มาก กว่าปกติมาก

จนทำให้เหลือหุ้นจำนวนน้อยที่ “ถูกต้อนเข้ามุม” และหลังจากนั้น  ราคาก็มักจะขึ้นไปแรงมากเมื่อมีนักลงทุนเข้าไปซื้อเพิ่มในขณะที่คนขายมักจะไม่อยากขายเพราะคิดว่าหุ้นจะขึ้นไปอีก  ซึ่งก็ส่งผลให้หุ้นมีราคาสูงขึ้นไปจน “เกินพื้นฐาน” ไปมาก เช่น  วัดจากค่า “P/E ปกติ” ตั้งแต่ 40-50 เท่าขึ้นไป ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นบริษัทที่ดีเยี่ยมแบบซุปเปอร์สต็อก  หรือมีค่า P/E สูงเป็น 2-3 เท่าของบริษัทในธุรกิจเดียวกันทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความสามารถในการแข่งขันเหนือคู่แข่ง

 หุ้นที่อยู่ใน Cornerนั้น ไม่ช้าก็เร็วหุ้นจะตกลงมาแรงมาก และกลับมาสู่ราคาพื้นฐานที่ควรจะเป็น  สิ่งที่ไม่รู้ก็คือ  เมื่อไร?  และเมื่อเกิดขึ้นแล้วหุ้นจะตกลงมามากและเร็วแค่ไหน?  จากประสบการณ์ของตลาดหุ้นไทย  ผมคิดว่าหุ้นที่อยู่ในคอร์เนอร์มักจะมีวันที่จะเป็นจุดเริ่มที่จะ  “แตก” หลาย ๆ วันดังต่อไปนี้

วันที่น่ากลัวที่ Corner จะแตก และเกิดกับหุ้นมากที่สุดก็คือ  วันประกาศผลประกอบการโดยเฉพาะประจำปีของบริษัท  ซึ่งก็กำลังจะเกิดขึ้นและนับต่อจากวันนี้ไปอีกประมาณ 1 เดือน  เหตุผลเป็นเพราะหุ้นที่ถูก Corner นั้น  มักจะเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการที่ดีและถูกประเมินว่ารายได้และกำไรจะเติบโตสูงและต่อเนื่อง  เป็นแนว  “หุ้นเติบโต” หรือบางทีก็เป็น “หุ้นซุปเปอร์สต็อก” ที่จะยิ่งใหญ่จนกลายเป็นหุ้นยักษ์ในไทยหรือระดับอาเซียนหรือระดับโลก  ดังนั้น  นักลงทุนก็จะเฝ้าดูผลประกอบการที่จะประกาศของบริษัท

ถ้าผลประกอบการยังเติบโตดี ราคาหุ้นก็มักจะวิ่งต่อไป แต่ถ้ากำไรตกฮวบโดยไม่สามารถอธิบายได้จากภาวะเศรษฐกิจหรือตลาดของสินค้าว่าเป็นเรื่องชั่วคราวจริงๆ ราคาหุ้นก็มักจะตกลงมาอย่างแรงและอาจจะทำให้ Corner “แตก” นักเล่นหุ้นบางคนขาดความมั่นใจและเปลี่ยนมุมมองต่อหุ้นว่าไม่ใช่เป็นหุ้นที่ดีหรือโตเร็วมากอย่างที่คิด และตัดสินใจขายหุ้นทิ้ง ในขณะที่คนจะซื้อลดน้อยลงมาก  และการที่หุ้นตกลงมาแรงในรอบแรกก็ส่งผลให้คนกลุ่มที่สองขาดความมั่นใจและถ้ายังมีกำไรในหุ้นอยู่ก็จะรีบขายหุ้นทิ้งเพิ่มทำให้หุ้นตกลงมาอีกที่จะทำลายความมั่นใจของคนกลุ่มต่อ ๆ ไป 

 

สิ่งที่เลวร้ายที่สุดแทบจะเป็น  “นรกแตก” ก็คือ  คนที่ใช้มาร์จินในการซื้อหุ้นจำนวนมาก  ซึ่งรวมไปถึงนักลงทุนรายใหญ่ที่เป็นคน Corner หุ้นเอง  ต้องถูกบังคับให้ขายเพราะหุ้นตกลงมาต่ำกว่าราคาที่กำหนดและตนเองไม่มีเงินมาเติม  นั่นจะส่งผลให้ราคาหุ้นตกลงมาแทบจะเป็น  “หายนะ” 

วันที่สองที่น่ากลัวมากยิ่งกว่าวันแรกก็คือ  วันที่มีการเปิดเผยว่ามี “Fraud” หรือการโกงหรือการหลอกลวงในบริษัทที่ทำโดยผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่  ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรงและผิดกฎหมาย  ซึ่งนั่นก็รวมถึงการแต่งบัญชี  การถอนเงินออกจากบริษัทอย่างผิดกฎหมาย  การโกงโดยอาศัยบริษัทลูกที่จดทะเบียนในต่างประเทศซึ่งไม่ได้รับการตรวจสอบเพียงพอจากสำนักงานใหญ่ และอื่นๆ อีกมาก  ซึ่งในกรณีแบบนี้ 

บ่อยครั้งก็ทำเพื่อที่จะสร้างผลกำไรปลอมให้กับบริษัทเพื่อที่จะปั่นหุ้นโดยการทำ Corner หุ้น ซึ่งจะสามารถทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปได้หลาย ๆ  เท่าในเวลาอันสั้น  ดังนั้น  เมื่อข่าวออกมา  นักเล่นหุ้นก็จะตกใจและขายหุ้นทิ้งและทำให้หุ้นที่ราคาสูงลิ่วตกลงมาแบบ  “หายนะ” หลายบริษัทก็มักจะล้มละลายไปในที่สุด

 วันที่สามที่น่ากลัวและมักทำให้ Corner แตกเป็นระบบก็คือ  การเกิดวิกฤติการเงินเศรษฐกิจและตลาดหุ้น  เพราะนี่เป็นสิ่งที่เกิดบ่อยพอสมควรคือประมาณ 10 ปีครั้ง  เพราะการเกิดวิกฤตินั้น  ข้อแรกก็คือ ทำให้คนกลัวและขาดความมั่นใจในการลงทุนในหุ้น  ดังนั้นพวกเขามักจะอยากขายหุ้นโดยไม่คำนึงถึงพื้นฐานของบริษัท

และข้อสองก็คือ  ในยามวิกฤติ  เม็ดเงินหรือสภาพคล่องมักจะหดหายไปมาก  ขาใหญ่และรวมถึงรายย่อยต่างก็ต้องการถือเงินสด  สถาบันการเงินก็ต้องการเรียกหนี้รวมถึงมาร์จินการซื้อหุ้นคืน  ดังนั้น  หุ้นที่แพงมากและมีสภาพคล่องสูงก็จะถูกขายจนราคาตกเป็น  “หายนะ”  และตัวอย่างที่ดีที่สุดก็คือ  ช่วงวิกฤติไฮเทคในปี 2000 และช่วงซับไพร์มปี 2008 ในตลาดหุ้นสหรัฐที่หุ้นที่ถูก Corner และมีค่า P/E เป็นร้อยเท่าหรือไม่มีค่า P/E เพราะยังขาดทุน ตกลงมาเป็นหายนะส่วนใหญ่น่าจะเกิน 90% รวมถึงหุ้นอย่างอะมาซอน ในขณะที่หุ้นตัวเล็กที่เป็นไฮเท็คจำนวนมากล้มละลาย ราคาหุ้นเป็นศูนย์

วันสุดท้ายที่ Corner อาจจะแตกก็คือ  วันที่คนทำ Corner เองตัดสินใจที่จะขายหุ้นทำกำไรอย่างรวดเร็วเกินไปจนราคาหุ้น “ถล่ม” ซึ่งเหตุผลก็อาจจะมีร้อยแปด  เช่น  อาจจะเกรงว่ากลุ่มอื่นที่ร่วมกันทำอาจจะชิงขายก่อนเพราะไม่แน่ใจว่า Corner ของหุ้นจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหนเพราะสถานการณ์อุตสาหกรรมหรือบริษัทอาจจะถูกเปิดเผยในเร็ววันว่า ธุรกิจจะแย่ลงมากเป็นต้น 

การที่หุ้นตกลงมาแรงและเร็วมาก เพราะคนทำ “Take Profit” เร็วเกินไปนั้น  บางทีก็มาจาก “ฝีมือ” หรือ “เม็ดเงิน”  ยังไม่ถึงขั้นเพราะประสบการณ์ไม่พอก็น่าจะมีไม่น้อย  ตัวอย่างในตลาดหุ้นไทยก็น่าจะรวมถึงเหตุการณ์ “Corner แตก” ของหุ้นตัวหนึ่งที่ทำให้ราคาหุ้นตกลงมาเป็น  “หายนะ”  เมื่อเร็ว ๆ  และก่อให้เกิดความเสียหายเป็นกรณีฟ้องร้องทางกฎหมายที่ยังไม่รู้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไรด้วย

วันที่ Corner “แตก” นั้น  บ่อยครั้งหุ้นก็ไม่ตกลงมามากในระดับหายนะ  เพราะมันอาจจะไม่ได้ “แตกแรง” หุ้นอาจจะตกลงมาถึงระดับหนึ่งแล้วก็นิ่ง  ซึ่งอาการจะคล้ายๆ  กับการที่ Corner หรือมุมที่เคยแคบมาก  มีหุ้นที่ “หมุนเวียนตามธรรมชาติ” น้อยมากเช่นแค่ 5-6% ของบริษัทก็อาจจะขยายตัวเป็น 10-15% โดยที่ราคาหุ้นลดความแพงลงมาระดับหนึ่ง เช่น จาก P/E 100 เท่าเป็น 70 เท่า  แล้วราคาหุ้นก็นิ่งอยู่ประมาณนั้น  อาจจะเพื่อรอวันที่จะมีคนมาทำ Corner ใหม่เมื่อมีสถานการณ์ใหม่ที่เอื้ออำนวยเกิดขึ้น

หุ้นที่ Corner แตกอย่าง “สมบูรณ์” คือไม่เหลือคนที่เป็น “สปอนเซอร์” หลักแล้ว  ราคาหุ้นก็มักจะไหลลงไปเรื่อยๆ จนราคาใกล้เคียงกับพื้นฐานที่แท้จริงแต่ก็ไม่น่าจะเป็นหุ้นถูกที่น่าสนใจลงทุน  ความหวังว่าราคาหุ้นจะกลับขึ้นมาเท่าเดิมก่อนตกซึ่งสูงลิ่วนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้  และความหวังว่าจะมีนักเล่นหุ้นรายใหญ่กลับเข้ามา Corner หุ้นตัวนั้นอีกก็น่าจะเป็นไปไม่ได้เช่นเดียวกัน  เหตุเพราะว่า “ภาพ” ของหุ้นในสายตาของนักลงทุนเสียไปแล้ว  “เซียน” มักจะไม่สนใจที่จะทำ Corner หุ้นที่มีประวัติ  “เน่า” แล้ว  เพราะจะทำไม่ขึ้น  สู้ทำกับหุ้นตัวใหม่ ๆ  ที่ขายสตอรี่ใหม่ ๆ  ได้ง่ายจะดีกว่า  ดังนั้น เมื่อ Corner หุ้นแตกแล้วก็จงขายทิ้ง “ทุกราคา”  อย่า “ติดหุ้น”

สุดท้ายสำหรับคนที่ชอบเล่นกับหุ้นที่ถูก Corner  เพราะคิดว่าจะทำกำไรได้มากในเวลาอันสั้น  และอาจจะเชื่อว่าหุ้นตัวนั้น “ดีจริง” อาจจะเพราะได้เห็น “เซียนหุ้น” เข้าไปซื้อมากมาย  เห็นนักวิเคราะห์เชียร์ซื้อเกือบจะทุกแห่ง  เห็นผู้บริหารบริษัทประกาศขยายงานและเติบโตตลอดเวลา  และตั้งเป้าโตของมูลค่าหุ้น  บางทีเป็นแสนล้านบาทภายในเวลาไม่กี่ปี เห็นราคาหุ้นขึ้นหวือหวา  บางวันขึ้นไป 10%

โดยไม่มีข่าวอะไรพิเศษ  ทั้งหมดนั้นอาจจะเป็นสัญญาณว่าหุ้นกำลังถูก Corner แล้ว  และสิ่งที่ต้องระวังก็คือ  มันมีโอกาส “แตก” ได้ตลอดเวลา  สำหรับผมแล้ว  ผมคิดว่าไม่คุ้มที่จะเข้าไปเล่น  เพราะในระยะยาว  เราจะแพ้  และคนที่จะชนะได้น่าจะเป็นคนที่ทำหรือต้อนหุ้นเข้ามุม  แต่จริง ๆ  ก็ไม่แน่  คนที่ทำก็อาจพลาดได้  โดยเฉพาะในกรณีที่ตลาดหุ้นและ/หรือหุ้นเกิดวิกฤติกะทันหัน  และนั่นก็จะเป็น “หายนะ”