มนุษย์เงินเดือนกับ AI จะทำงานร่วมกันได้อย่างไร ?
ภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัว และความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงของบริษัทจดทะเบียน
ทำให้เราเห็นบริษัทขนาดใหญ่พากันประกาศเลิกจ้างเพื่อลดต้นทุนตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เช่น Microsoft Disney META Amazon Tesla และอีกหลายบริษัทฯ ล้วนเป็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะกลับมาจ้างงานเพิ่มอีกครั้งเมื่อใดยังไม่อาจประเมินได้
ในเวลาเดียวกันความตื่นตัวที่มีต่อเทรนด์การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่กำลังแสดงความสามารถในการเข้ามาพัฒนายกระดับธุรกิจในสาขาต่างๆ หรือกล่าวได้ว่า การพัฒนาของ AI ที่รุดหน้าไปค่อนข้างมากกำลังเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์มากขึ้น เช่น แชทบอทปัญญาประดิษฐ์ที่หลายบริษัทพัฒนากันออกมา เช่น ChatGPT ถ้าเช่นนั้น กำลังจะเกิดการตกงานมากขึ้นหรือไม่ในอนาคต หรือมีอะไรบ้างที่มนุษย์เงินเดือนต้องเตรียมรับมือกับเรื่องนี้ ?
แน่นอนว่าเมื่อพิจารณาดูจะพบว่ามีสิ่งที่ AI ทำหน้าที่ได้ดีกว่ามนุษย์คือ
1.) ความสามารถในการทำงานที่ต่อเนื่อง มนุษย์ไม่สามารถทำงานแบบจดจ่อและต่อเนื่องเป็นเวลานานๆได้เท่ากับ AI โดยเฉพาะงานที่มีปริมาณหรือความซับซ้อนมาก เพราะ AI ไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
2.) การคิดวิเคราะห์ที่รวดเร็ว เนื่องจากเทคโนโลยีด้านการประมวลผลที่เร่งตัวอย่างก้าวกระโดด ทำให้เกิดความแตกต่างด้านความเร็วในการประมวลผลระหว่างมนุษย์กับ AI อย่างมีนัยยะสำคัญ ที่เห็นกันได้ชัดตอนนี้คือการมาของ Generative AI อย่าง ChatGPT ที่การสร้างและพัฒนาโดย Open AI ทำให้เกิดมีใช้ AI ในรูปแบบใหม่ๆ เช่น การสร้างรูปภาพ สร้างวีดีโอจาก AI หรือ นำ AI มาเล่นเกมส์แข่งกับมนุษย์มากขึ้น หรือ เป็นความสามารถของ AI ที่แสดงทักษะความสามารถได้แบบเดียวกับมนุษย์
3.) การเก็บข้อมูลที่ไร้ขีดจำกัดและการสืบค้นที่มีประสิทธิภาพ ข้อมูลปริมาณมหาศาลปัจจุบันถูกเก็บในระบบฐานขนาดใหญ่ อย่างระบบ Public cloud และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น แต่สมองของมนุษย์นั้นจัดเก็บและสืบค้นข้อมูลด้วยตัวเองไม่ได้ทั้งหมด ขณะที่ AI สามารถสืบค้นประมวลผลได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพพร้อมๆกันในหลายข้อมูล
แต่อีกด้านก็มีสิ่งที่ AI ยังไม่สามารถทำแทนมนุษย์ได้ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องทักษะที่เกี่ยวกับสัญชาตญาณที่มีเฉพาะในตัวของมนุษย์ คือ ได้แก่ 1.) ความมีน้ำใจ มิตรไมตรี (Hospitality) สิ่งที่อยู่กับมนุษย์และการแสดงออกมาทางภาษากาย การกระทำ น้ำเสียง แววตา สีหน้า ท่าทางที่ AI ไม่มี
2.) การบริหารจัดการ (Management) เป็นทักษะที่ต้องอาศัยประสบการณ์ ความเข้าใจ ความรับผิดชอบและตัดสินใจต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์หรือเหตุการณ์วิกฤตที่ไม่เคยเกิดมาก่อน อย่างเช่น การเกิดโควิด-19 เป็นวิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน AI ไม่มีข้อมูลในฐานระบบ มนุษย์จึงใช้การตัดสินใจ บริหารจัดการอย่างเป็นระบบได้ดีกว่า
3.) การมีวิสัยทัศน์ (Vision) เป็นความสามารถในการมองอนาคต วางแผน ตั้งเป้าหมาย ที่ต้องมีทักษะอื่นเป็นองค์ประกอบด้วย เช่น การคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Creativity) การคาดการณ์ การจัดสรร การประเมินความเสี่ยง การปรับเปลี่ยนฯ ซึ่ง AI ยังไม่สามารถแทนที่ได้
แม้บทบาทของ AI จะยังไม่สามารถแทนที่มนุษย์ได้ทั้งหมด แต่ชัดเจนว่าต้องพัฒนาทักษะเพื่อยกระดับ (Level Up ) ให้ทำงานร่วมกับ AI ได้ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน ที่ควรทำ คือ 1.) สำรวจตนเองว่ามีจุดแข็งใดบ้างที่เหนือกว่าและ AI ยังไม่สามารถทำได้ 2.) นำจุดแข็งของตนเองมาปรับให้เข้ากับ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ 3.) พัฒนาจุดแข็งทักษะความสามารถใหม่ๆต่อเนื่อง เช่น ความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ การสื่อสาร การทำงานร่วมกัน
คาดการณ์กันว่าจะมีอาชีพที่ถูกแทนที่ด้วย AI ในอนาคต เช่น งานคีย์ข้อมูล นักแปล นักบัญชี ฯ แต่เชื่อว่ามนุษย์สามารถพัฒนาทักษะทำงานร่วมกับ AI ได้ ข้อสำคัญอย่าพยายามพัฒนาความสามารถแข่งกับสิ่งที่ AI ทำได้ เพราะ AI จะทำได้ดีกว่า ฉะนั้นมนุษย์เงินเดือนควรพัฒนาทักษะใหม่ๆที่ AI ยังไม่สามารถทำได้และนำจุดแข็งนั้นมาต่อยอด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่องานและองค์กร
อย่างในธุรกิจการเงินการลงทุน ที่มีบริการการลงทุนอัตโนมัติ (Robot Trade) ซึ่งเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในลงทุน แต่การทำงานของระบบ Robot Trade จะอยู่ภายใต้การกำกับออกแบบและตั้งเงื่อนไขการทำงานโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน
โดยรวมจะเห็นว่า ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆ จะมีผลกระทบต่อธุรกิจทั้งทางตรงทางอ้อม (Fintech คือตัวอย่างหนึ่ง) เทคโนโลยี AI นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของต้นศตวรรษที่ 21 ที่เป็นความท้าทายต่อตลาดแรงงานในอนาคต แต่มนุษย์ก็สามารถพัฒนาและยกระดับเพื่อทำงานร่วมกับ AI ได้