ปี 2567 ตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร
ตลาดหุ้นไทยจะกลับสู่ขาขึ้นในปีหน้า แต่ขึ้นอยู่กับ 3 เงื่อนไข 1.รัฐบริหารเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวในระดับ 3-4% รวมถึงต้องรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์ และต้องไม่ออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนในรูปแบบที่ไม่ได้มาตรฐานสากล
ปี 2566 เป็นปีที่น่าผิดหวังสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย เพราะ SET ให้ผลตอบแทน -17% ต่ำเกือบที่สุดในโลก อยู่อันดับ 68 จากทั้งหมด 69 ตลาดหุ้นหลัก และมี 14 ตลาดหุ้นเท่านั้นที่ให้ผลตอบแทนติดลบในปีนี้
ที่น่าผิดหวังกว่านั้นคือ นักลงทุนเริ่มต้นปีด้วยความคาดหวังที่สูงมาก เพราะได้ปัจจัยสนับสนุนใหม่ ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว การเปิดประเทศของจีน และการเลือกตั้ง แต่อย่างที่ทราบกัน แม้การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดี แต่เศรษฐกิจจีนอ่อนแอกว่าที่คิดมาก และเราใช้เวลาถึงสี่เดือนในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าคาดมาก
ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญกับวิกฤตความเชื่อมั่น จากกรณีหุ้น MORE หุ้น STARK รวมทั้งประเด็นข่าวลือเรื่องการขายหุ้นโดยไม่มีหุ้นในมือ และการใช้โปรแกรมเทรดเพื่อเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อย ซึ่งสองกรณีหลัง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการกระทำลักษณะดังกล่าว แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้
สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ปีนี้เหมือนฉายหนังคนละม้วน เพราะตลาดหุ้นโลกปรับขึ้นเฉลี่ยถึง 18% (วัดจากดัชนี MSCI All Countries) และมี 33 ตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า 15% เช่น ญี่ปุ่น (+26%) ไต้หวัน (+25%) สหรัฐฯ (+23%) อินเดีย (+18%)
พระเอกของปีคือ หุ้น ‘Magnificent Seven’ (Apple, Microsoft, Google, Amazon, Nvidia, Tesla, Meta) ใครมีหุ้นเหล่านี้ถือว่าได้แจ็กพอต เพราะให้ผลตอบแทนสูงถึง 75%
แล้วตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ Downside risk ของตลาดหุ้นไทยเหลือไม่น่ามาก ประเมินจาก Forward P/E ในปัจจุบันที่ 14 เท่า ตลาดหุ้นไทยไม่ถือว่าแพง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 15 เท่า (15 ปีย้อนหลัง) และไม่ถือว่าแพงเมื่อเทียบกับกำไรบริษัทจดทะเบียนที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเติบโตระหว่าง 11-15% ในปีหน้า ตลาดหุ้นไทยอาจดูแพง ถ้าเทียบกับตลาดหุ้นเอเชียที่เทรดที่ 13 เท่า แต่ไม่น่ากังวล เพราะ SET เทรดที่ P/E สูงกว่าเอเชียมาโดยตลอด
ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดหุ้นไทยจะกลับสู่ขาขึ้นในปีหน้า แต่ขึ้นอยู่กับสามเงื่อนไข ดังนี้
เงื่อนไขแรก รัฐบาลต้องบริหารเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวในระดับ 3-4% ในปีหน้าและปีถัด ๆ ไป
ข้อดีคือ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มดูสดใสขึ้น จากท่าทีล่าสุดของเฟดที่ส่งสัญญาณยุติการขึ้นดอกเบี้ย ตลาดคาดว่าเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยลดโอกาสการเกิด Recession ในสหรัฐฯ ยังส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกสามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง
อีกตัวแปรหลักคือจีน ที่ถึงแม้เศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ แต่รัฐบาลจีนเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่แล้ว และมีแผนที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมอีกในระยะข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของจีนเร่งตัวขึ้นเช่นกัน
ปีหน้าจึงเป็นปีที่การส่งออกของไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อรวมกับภาคท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้อีกมาก และกำลังซื้อในประเทศที่คาดว่าจะทยอยเร่งตัวขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การลดค่าครองชีพ การพักหนี้เกษตรกร ฯลฯ การทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับ 3% ในปีหน้าไม่น่าเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับรัฐบาล
โจทย์ที่ยากกว่า คือการรักษาโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนรอบใหม่ (New Investment Cycle) เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ รวมทั้งเริ่มจัดการกับปัญหาโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ง่าย และต้องอาศัยเจตนารมณ์ทางการเมือง (Political Will) ที่แน่วแน่
การเร่งดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และถ้าสามารถขับเคลื่อนจนเกิดผลลัพธ์ได้จริง เชื่อว่าจะช่วยให้ GDP ของไทยกลับมาขยายตัวได้ในระดับ 4% พร้อมกับสร้างจุดขายใหม่ (Catalyst) ให้กับตลาดหุ้นไทย
เงื่อนไขที่สอง รัฐบาลต้องรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด การกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีความจำเป็นและผมเห็นด้วย และผมเชื่อว่าตลาดทุนจะตอบรับเชิงบวกถ้ารัฐบาลเลือกใช้มาตรการที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย มีผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ (Multiplier Effect) สูง และส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่ต่อเนื่อง
เงื่อนไขที่สาม ภาครัฐต้องไม่ออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนในรูปแบบที่ไม่ได้มาตรฐานสากล เพราะอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุนในตลาดทุนไทย ซึ่งนอกจากจะทำให้สภาพคล่องลดลง ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจ
ถ้าทำได้ทั้งสามเงื่อนไขนี้ ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสสูงที่จะกลับมา Outperform ตลาดหุ้นโลกในปีหน้า หลังจากที่ Underperform ไป 35% ในปีนี้
สถิติที่น่าสนใจคือ ตลาดหุ้นไทยไม่เคยให้ผลตอบแทนติดลบ 2 ปีติดต่อกัน แม้แต่ครั้งเดียวในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา
แน่นอน ความเชื่อมั่นของนักลงทุนคือหัวใจสำคัญ ผมเชื่อว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และที่กำลังดำเนินอยู่โดยองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งการเริ่มมีการเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายหุ้นที่ลึกขึ้น ละเอียดขึ้น และสม่ำเสมอขึ้น คือแนวทางที่ถูกต้อง และจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นในที่สุด