ทิศทางตลาดหุ้นไทย จะรั้งท้ายตลาดโลกเป็นปีที่สองหรือไม่?
การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำลงหลังวิกฤติโควิด ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญและลดทอนความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยลง วันนี้ต้องยอมรับเรื่องของ Valuation ตลาดหุ้นเปลี่ยนแปลงไปเพราะการเติบโตที่คาดว่าจะน้อยลง ดังนั้นตลาดหุ้นไทยจะกลับมาน่าสนใจอีกครั้งต้องเริ่มจากเศรษฐกิจในประเทศก่อน
เข้าสู่เดือนเมษายนปี 2567 เป็นอีกปีหนึ่งที่อากาศของประเทศไทยนั้นร้อนกว่าหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันบรรยากาศการลงทุนในบ้านเราก็ไม่ได้แตกต่างจากอากาศในช่วงนี้มากนัก นับได้ว่าเป็นเวลากว่าครึ่งปีที่ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 1,350 - 1,430 จุด ทำให้นักลงทุนหลายรายเริ่มตั้งคำถามกับการลงทุนในประเทศไทยว่า นับจากนี้ไปจะมีปัจจัยอะไรมาเป็นตัวกำหนดทิศทางของตลาดหุ้นได้บ้าง และผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยจะรั้งท้ายตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นปีที่สองติดต่อกันหรือไม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยเป็นปัจจัยสนับสนุนและกำหนดทิศทางหลักของตลาดหุ้นไทย แต่ปัจจุบันด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในประเทศกับบรรดาผู้ประกอบการในต่างประเทศมีความท้าทายสูงขึ้นมาก และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวกลับขึ้นมาจึงส่งผลจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศเรา อีกทั้งทำให้ในอนาคต อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตต่ำลงหลังวิกฤติโควิด ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญและลดทอนความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้วันนี้สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือเรื่องของ Valuation ของตลาดหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะอัตราการเติบโตที่คาดว่าจะน้อยลง
ดังนั้น การที่ตลาดหุ้นไทยจะกลับมาน่าสนใจอีกครั้งจึงต้องเริ่มจากเศรษฐกิจในประเทศก่อน ผู้เขียนมองว่าถึงแม้ประเทศไทยยังคงมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังต้องแก้ไข แต่ก็ใช่ว่าประเทศอื่นในโลกไม่มีปัญหานี้ ดังนั้นหากมองในแง่ดี ปีนี้สิ่งที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาตามอัตราการเติบโต 2 - 3% ยังคงต้องมาจากการบริโภคภายในประเทศ ทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว
โดยการเบิกจ่ายภาครัฐในระยะที่เหลือของปีงบประมาณปี 2567 จะเป็นโบนัสต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศได้ ปัจจัยสนับสนุนจากที่ประชุมวุฒิสภาที่มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวาระที่ 3 แล้ว และจะจัดส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป เป็นการส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 2 นี้ ด้านการผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล อาทิ รัฐบาลส่งสัญญาณให้เร่งสรุปผลการศึกษา Entertainment Complex ในประเทศไทย การออกมาตรการ Digital wallet ที่คาดว่าจะเริ่มใช้ภายในไตรมาส 4 นี้
อีกทั้งคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 2 ของปีงบประมาณ 2567 สำหรับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็น 400 บาทต่อวัน นำร่อง 10 จังหวัดท่องเที่ยว ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้บริโภค โดยให้เฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก และให้ปรับแบบเจาะจงพื้นที่ โดยเผยว่ากลุ่มธุรกิจส่งออก โลจิสติกส์เป็นรายต่อไป
ทั้งนี้ ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยจะรั้งท้ายตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นปีที่สองติดต่อกันหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ได้กล่าวมาก่อนหน้าประกอบกับความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ที่ปรับตัวลดลงมากจากปัจจัยภายนอกที่คาดว่าจะไม่ยืดเยื้อนานอย่างความกังวลเกี่ยวกับสงครามระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มออกมาดีกว่าคาด รวมถึงคาดหวัง Fund flow จากนักลงทุนต่างชาติอาจกลับเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปี หาก Fed ดำเนินการปรับลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
ผู้เขียนยังคงมีมุมมองว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคการบริโภคภายในประเทศ โดยเราคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการออกมาตรการลดค่าครองชีพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป และเรามองว่ามาตรการฟรีวีซ่าจะช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวได้ดีขึ้น ทั้งนี้ การฟื้นตัวของผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯ ในปี 2567 และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯและไทย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้อย่างมั่นคง