ระยะสั้น Downside เริ่มจำกัด TESG กำลังมา แต่นักลงทุนยังไม่หายเหนื่อย
ทิศทางขาลง หรือ Downside Risk ของตลาดหุ้นได้ในระยะสั้น แต่ในระยะกลางถึงระยะยาวมาตรการส่งเสริมความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนแบบยั่งยืนควรมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการออมและการลงทุนอย่างมีวินัย และต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรฐานการวัดความยั่งยื
ตลาดหุ้นไทยในช่วงก่อนหน้านี้ดูเหมือนว่าจะกลับมามีความหวัง หลังผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสแรกออกมาดูดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงตัวเลข GDP ที่โตดีกว่าคาด แต่ความหวังนั้นกลับอยู่ได้ไม่นาน ดัชนีปรับตัวลงเป็นเวลากว่า 5 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยมีปัจจัยกดดันจากปัญหาการเมืองในประเทศ สวนทิศทางตลาดหุ้นในหลายประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยนักลงทุนต่างชาติยังมีแรงขายอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดขายสุทธิเกินกว่า 1 แสนล้านบาท นับจากต้นปี 2567 จากความกังวลเรื่องแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในกรอบจำกัด ทำให้หลายภาคส่วนทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงภาครัฐขนเอามาตรการออกมาเพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของการลงทุนในตลาดหุ้นไทย
ความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย ทำให้บรรยากาศการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาดูจะย่ำแย่ลงไปกว่าหลาย ๆ เดือนที่ผ่านมาพอสมควร ซึ่งทางตลท. ได้ออกมาเพิ่มมาตรการการกำกับดูแลเพื่อลดความผันผวนที่จะเกิดขึ้น โดยได้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับมาตรการที่จะนำมาใช้กำกับการขายชอร์ต (short selling) ซึ่งจะกำหนดให้ราคาขายชอร์ตมีราคาที่สูงกว่าราคาล่าสุด (uptick rule) หรือเพิ่มขึ้น 1 ช่องจากราคาล่าสุด แทนการขายชอร์ตราคาเท่าหรือสูงกว่า (zero-plus tick) รวมถึงการประกาศรายชื่อหุ้นที่ผ่านเกณฑ์ขายชอร์ตได้จำนวน 260 หลักทรัพย์ โดยเกณฑ์ที่ใช้เพื่อให้หลักทรัพย์ที่จะสามารถขายชอร์ตได้นั้นมีความเข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้หุ้นหลายตัวมีโอกาสถูกขายชอร์ตยากขึ้น โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ค. - 31 ธ.ค. 2567 และยังมีอีกหลายมาตรการที่ยังไม่ได้ประกาศออกมาเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลซื้อขายหลักทรัพย์
ด้านภาครัฐเองก็มีข่าวจะนำกองทุน LTF กลับเข้ามา โดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและส่งเสริมการออม แต่ในเบื้องต้นกระทรวงการคลังได้มีการแถลงเกี่ยวกับการปรับเงื่อนไขการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund: TESG fund) โดยจะเป็นการปรับเพิ่มวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีให้สูงขึ้น เป็นการซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน และซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท จากเดิมสูงสุด 100,000 บาท ลดระยะเวลาถือครองจาก 8 ปี เหลือ 5 ปี และการลงทุนต้องเป็นหุ้นที่มีความโดดเด่นในแง่ของ ESG รวมถึงสินทรัพย์อื่น อย่างเช่น ESG Bond และ Green Token ทั้งนี้คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายใน 2 สัปดาห์
ส่วนตัวมองว่ามาตรการการกำกับการซื้อขายที่เกี่ยวข้องกับการขายชอร์ต จะช่วยลดความเสี่ยงในทิศทางขาลง หรือ Downside Risk ของตลาดหุ้นได้ในระยะสั้น แต่ในระยะกลางถึงระยะยาวมาตรการส่งเสริมความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนแบบยั่งยืนควรมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการออมและการลงทุนอย่างมีวินัย และต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรฐานการวัดความยั่งยืน ไม่ควรเป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อประคองตลาดหุ้นเพียงอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นความน่าสนใจของการลงทุนในประเทศไทยจะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเทียบการลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่มีทั้งการส่งเสริมการลงทุนระยะยาว การลงทุนแบบยั่งยืน รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงที่ประเทศไทยอาจจะยังไม่มี ซึ่งถ้าในสถานการณ์ที่แย่ที่สุดคงอาจจะไม่ใช่เพียงนักลงทุนต่างชาติที่บอกลาประเทศไทย แต่อาจจะเป็นนักลงทุนรายย่อยในประเทศอีกหลายชีวิตที่ถอดใจตามต่างชาติไปลงทุนเมืองนอกแทน