ซิลเวอร์บูลเล็ต 0.50 ของเฟด ไม่ใช่ ‘ของขวัญ’ แต่เป็น ‘ไพ่ตาย’

อย่าเพิ่งวางใจเพราะการลดดอกเบี้ยของ FED ครั้งนี้อาจจะ ไม่ใช่ “ของขวัญ”หากแต่เป็น “ไพ่ตาย”เหตุผลแรกตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐมีความคลุมเคลือมาก เป้าหมายของ FED ในปัจจุบัน คือ การควบคุมเงินเฟ้อให้เติบโตอยู่ในระดับราว 2% yoy และ อัตราการว่างงานสหรัฐที่ระดับ 4%

ผ่านพ้นไปสดๆร้อนๆสำหรับการประชุม FOMC ซึ่งต้องขอบอกกับผู้อ่านก่อนเลยว่า “ผิด” กันทั้งตลาดหลัง US Federal Reserve (FED) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 50bps สู่ระดับ 4.75-5.00% โดยตลาดส่วนใหญ่มองกันแค่ 25bps

Dot Plot ชุดใหม่ของ FED ยังบ่งชี้อีกว่าดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐจะลดลงสู่ระดับ 4.4% ในปี 2024 (ลดอีก 50bps) และ 3.4% ในปี 2025 (ลดอีก 100bps)

ซิลเวอร์บูลเล็ต 0.50 ของเฟด ไม่ใช่ ‘ของขวัญ’ แต่เป็น ‘ไพ่ตาย’

การกลับทิศของนโยบายการเงินได้เกิดขึ้นแล้วและเร็วกว่าที่หลายท่านคิด ... ดังนั้นในบทความนี้ผมจึงอยากนำข้อมูลมานำเสนอต่อผู้อ่านว่าอย่าเพิ่งวางใจเพราะการลดดอกเบี้ยของ FED ครั้งนี้อาจจะ ไม่ใช่ “ของขวัญ” ... หากแต่เป็น “ไพ่ตาย”

เหตุผลแรก คือ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐมีความคลุมเคลือมาก ก่อนอื่นต้องย้ำกับผู้อ่านก่อนว่าเป้าหมายของ FED ในปัจจุบัน คือ การควบคุมเงินเฟ้อให้เติบโตอยู่ในระดับราว 2% yoy และ อัตราการว่างงานสหรัฐที่ระดับ 4%

หากพิจารณาในแง่ของเงินเฟ้อ หรือ Core PCE (% yoy) ต้องบอกว่าทำได้ตามเป้าหมายเข้าไปทุกทีหลังเงินเฟ้อสหรัฐเดือนล่าสุดได้ปรับตัวลดลงสู่การเติบโตระดับ 2.6% yoy

อย่างไรก็ดีอัตราการว่างงาน หรือ Unemployment rate (%) ก็ปรับตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ เช่นเดียวจนล่าสุดทะลุเกิน 4% เรียบร้อยแล้ว มากไปกว่านั้น การจ้างงานนอกภาคเกษตรก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงซึ่งล่าสุดเติบโตในระดับที่ต่ำกว่า 150,000 ตำแหน่ง/เดือน จากในอดีตที่ยืนระดับ 200,000 ตำแหน่งมาได้อย่างยาวนาน

อ้างอิงจากข้อมูลของ Bloomberg นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกต่างมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสถดถอยสูงถึง 30% ในขณะที่ FED สาขา New York ได้ประเมินว่าโอกาสที่สหรัฐจะเข้าสู่สภาวะถดถอยในอีก 1 ปีข้างหน้านั้นสูงถึง 61%  ถือว่าต่างกันพอสมควร ท่ามกลางการรายงาน GDP 2Q24 ของสหรัฐที่ยังคงเติบโตระดับ 3% qoq และ คาดการณ์ว่าจะเติบโตต่อไปได้ใน 3Q24 4Q24 และ ปี 2025

“ในขณะที่เป้าหมายหนึ่ง (เงินเฟ้อ 2%) ใกล้บรรลุ ... อีกปัญหาก็ปรากฎขึ้น (อัตราการว่างงาน 4%) ท่ามกลางความมึนงงของชุดตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐว่าจะถดถอยหรือไม่ถดถอย”

เหตุผลต่อมา คือ การเมืองสหรัฐ เนื่องจากหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ทรัมป์กล่าวว่าจะมองหาผู้มาแทนที่ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งทรัมป์มองว่าเป็นต้นเหตุของการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่ผิดพลาดในปี 2022 ... แรงกดดันของ FED จึงมีอยู่พอสมควรเหมือนกันทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและการเมือง

ด้วยเหตุผลข้างต้นบทสรุปของบทความนี้ในมุมมองของผมนั้น

“การลดดอกเบี้ยระดับ 50bp ของ FED คือ กลยุทธ์ที่เรียกว่า Protective Put หรือ Hedging (ป้องกันความเสี่ยง) จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคลุมเครือ หากเศรษฐกิจสหรัฐเกิดถดถอยรุนแรงจริงๆ ก็ถือว่า FED ได้ทำอย่างสุดความสามารถแล้ว จะมาโทษ FED ว่าดำเนินนโยบายช้าไปก็คงจะไม่ได้”

การจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation) หลังจาก FED First Cut

ตราสารทุน (Equity) : เริ่มทยอยขายหุ้นสหรัฐ และ ทยอยสะสมหุ้นเอเชียซึ่งรวมถึงหุ้นไทยที่จะได้ประโยชน์จาก

1) การแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียจากท่าทีที่แข็งกร้าวและร้อนรนของ FED ในการลดดอกเบี้ย

2) ความไม่ชัดเจนของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐรวมถึงความผันผวนจากการเลือกตั้งในเดือน พ.ย.

ตราสารหนี้ (Fixed income) : เพิ่มน้ำหนักตราสารหนี้คุณภาพดีซึ่งจะได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยของ FED

ตราสารทางเลือก (Alternatives) : เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในทองคำที่จะได้ประโยชน์จากทั้งเรื่องของดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลงแต่ยังป้องกันความเสี่ยงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี ผมมีมุมมองที่เป็นลบมากขึ้นต่อน้ำมันจากประเด็นอุปสงค์ที่อ่อนแอจากจีน