เลือกตั้งสหรัฐฯ กับนโยบายที่แตกต่าง
อีกไม่กี่วันจะมีความชัดเจนมากขึ้นทั้งผลการเลือกตั้งและแนวทางในการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดี คนใหม่ เมื่อรู้ถึงความแตกต่างเชิงนโยบายของพรรครีพับลิกันและเดโมแครตแล้ว ย่อมเป็นโอกาสที่จะเข้าลงทุนในอุตสาหกรรม ที่ได้รับประโยชน์จากการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อให้การลงทุนบรรลุเป้าหมายการเงินที่ตั้งไว้
การเลือกตั้งของประเทศสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย. 67 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก มีทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดี สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในที่นั่งที่ครบวาระ ซึ่งจุดสนใจหลักของการเลือกตั้งในครั้งนี้ คือ ตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคทั้งนโยบายการคลังและการเงิน การค้าระหว่างประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ จากข้อมูลทางสถิติที่ผ่านมา พบว่าก่อนและหลังที่จะทราบผลการเลือกตั้ง สินทรัพย์ลงทุน โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่มักจะเคลื่อนไหวผันผวน จากการที่นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน เพราะความไม่แน่นอนว่าผู้ชนะคือใคร พรรคการเมืองใดได้ครองเสียงข้างมากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ
สถิติย้อนหลังในปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1984 เป็นต้นมา พบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ S&P500 มักจะผันผวน และปรับตัวลงก่อนการเลือกตั้ง 1 เดือน ในช่วงเดือน ต.ค. โดยให้ผลตอบแทนติดลบเฉลี่ย -1.73% และจะปรับตัวขึ้นอีกครั้งภายหลังทราบผลการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. โดยให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ยในเดือน พ.ย. +0.98% และ ธ.ค. +1.32%
การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ทั้งตำแหน่งประธานาธิบดี วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรที่ครบวาระ ซึ่งตัวแทนของผู้ลงแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือ นายโดนัล ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และนางคามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต ซึ่งผลการเลือกตั้งนอกจากที่จะได้ประธานาธิบดีคนใหม่ ยังจะดูว่าพรรคใดได้ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร เพราะทั้ง 2 พรรคการเมืองมีแนวคิดที่แตกต่างกัน หากผลการเลือกตั้งออกมาว่าเสียงข้างมากในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเป็นพรรคเดียวกันกับประธานาธิบดี จะมีผลให้นโยบายต่างๆ ผ่านการพิจารณาได้ง่าย ในทางตรงข้าม หากเสียงข้างมากของทั้ง 2 สภา เป็นพรรคตรงข้ามกับประธานาธิบดีจะทำให้การผ่านนโยบายเป็นไปได้ยาก ซึ่งประธานาธิบดี และทั้ง 2 พรรคการเมืองมีแนวนโยบายที่แตกต่างกันที่คาดว่าจะส่งผลต่อการลงทุน ดังนี้
1. นโยบายการคลัง พรรครีพับลิกันมีนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่มีรายได้สูง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน การใช้จ่าย และการจ้างงาน นอกจากนี้จะลดการใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นและไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ส่วนพรรคเดโมแครตมีแนวคิดสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยการเพิ่มภาษีนิติบุคคลขนาดใหญ่และบุคคลธรรมดาที่มีรายได้สูง เพื่อนำเงินภาษีมาใช้ในสวัสดิการสังคม
2. นโยบายการค้าระหว่างประเทศ พรรครีพับลิกันเน้นการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าต่างประเทศที่อาจจะกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ และการเจรจาการค้าระหว่างประเทศกับคู่ค้าเพื่อให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์มากที่สุด มีเป้าหมายที่ประเทศจีน ส่วนพรรคเดโมแครตมีแนวนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่เน้นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้เกิดความเป็นธรรมและยั่งยืน แต่มีแนวคิดที่คล้ายกัน คือ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้า มุ่งเป้าไปที่ประเทศจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด
3. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม พรรครีพับลิกันสนับสนุนการผลิตพลังงานในประเทศ ยังเน้นการใช้พลังงานฟอสซิล เพื่อลดการพึ่งพิงพลังงานจากต่างประเทศ ส่วนพรรคเดโมแครตมุ่งเน้นการลงทุนในพลังงานสะอาด เพราะจะช่วยลดมลพิษเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4. นโยบายด้านสุขภาพ พรรครีพับลิกัน ต้องการปรับปรุงหรือยกเลิกโอบามาแคร์ ลดการใช้จ่ายในนโยบาย Medicaid ซึ่งเป็นระบบสงเคราะห์รักษาพยาบาลสำหรับผู้มีรายได้น้อยและพยายามผลักดันระบบประกันสุขภาพ ไม่บังคับให้ทุกคนต้องทำประกันสุขภาพ ในขณที่พรรคเดโมเครต ต้องการปฏิรูปการดูแลสุขภาพในวงกว้างขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อระบบโรงพยาบาลและผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ สานต่อโอบามาแคร์ ซึ่งบังคับให้ต้องซื้อประกันสุขภาพ โดยรัฐจะเป็นผู้ให้เงินอุดหนุนและจ่ายเงินบางส่วนให้แก่บริษัทประกัน
5. นโยบายเทคโนโลยี ทั้ง 2 พรรคสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มเทคโนโลยี แต่แนวทางการกำกับดูแลแตกต่างกัน โดยพรรครีพับลิกันมีแนวคิดที่จะแทรกแซงการกำกับดูแลให้น้อยที่สุด เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ส่วนพรรคเดโมแครตต้องการบังคับใช้การกำกับดูแลที่เข้มงวดยิ่งขึ้นต่อความเป็นส่วนตัว การปกป้องข้อมูล และแนวทางการผูกขาด ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่เข้มงวดขึ้น
ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า จะมีความชัดเจนมากขึ้นทั้งผลการเลือกตั้งและแนวทางในการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดี คนใหม่ เมื่อรู้ถึงความแตกต่างเชิงนโยบายของพรรครีพับลิกันและเดโมแครตแล้ว ย่อมเป็นโอกาสที่จะเข้าลงทุนในอุตสาหกรรม ที่ได้รับประโยชน์จากการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อให้การลงทุนบรรลุเป้าหมายการเงินที่ตั้งไว้