พัฒนาคน-พัฒนาอุตสาหกรรม

พัฒนาคน-พัฒนาอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน ปัญหาภาคการผลิตกำลังถดถอยอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะสถานการณ์ของ “อุตสาหกรรมยานยนต์” ที่จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) อยู่ที่ 644,951 คัน เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 16.88%

ซึ่งมีสาเหตุจากยอดขายในประเทศที่ลดลง และปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อรถ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายลดลง เพราะการซื้อรถ 80% ของคนไทยเป็นการซื้อเงินผ่อน จนทุกวันนี้มีข่าวการปิดโรงงานและการย้ายฐานการผลิตถี่มากขึ้น

นอกจากนี้ การส่งออกซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกหลักสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเรา ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ก็มีอาการไม่สู้ดีนัก ทั้งที่ทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยมีแนวโน้มว่าอาจจะปรับตัวดีขึ้น

ความไม่แน่นอนของหลายๆ ปัจจัย (ที่ยังเหมือนเดิม) ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่เราจะต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะ “ความเสี่ยง” ด้านต่างๆ ที่กำลังรายรอบเราก็เพิ่มมากขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะมีผลทำให้เศรษฐกิจของไทยในปีนี้เป็นปีที่แข็งแรง หรือถดถอยก็ได้ หากเราไม่มีมาตรการรองรับที่เหมาะสม

“การเปลี่ยนแปลง” และ “ความเสี่ยง” ที่นับวันจะรุนแรงและรวดเร็วยิ่งขึ้นนั้น จะกดดันให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องเตรียมรับมืออย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น เพราะมีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่องรุนแรงจนทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดน้อยลง อันได้แก่

(1) การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทางเทคโนโลยี (Disruptive Technology) คือสิ่งที่ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเริ่มปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วมาก ซึ่งทำให้เกิดอุตสาหกรรมและนวัตกรรมใหม่ๆ จนทำให้อุตสาหกรรมโดยรวมของเราตามไม่ทันในหลายๆ ด้าน (โดยเฉพาะเรื่องผลิตภาพ) อาจทำให้อุตสาหกรรมเก่าๆ ต้องออกจากระบบไป

(2) ยุคของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) และยุคของ Digital Transformation คือ สิ่งที่นำมาทั้งโอกาสและภัยคุกคาม ในขณะที่ AI มีศักยภาพในการสร้างผลิตภาพและความสมบูรณ์แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ก็แฝงไปด้วยความเสี่ยงที่อาจคุกคาม และสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อการดำรงอยู่ของมนุษยชาติด้วย ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของ AI มีแนวโน้มที่จะปฏิวัติสังคมมนุษย์และเศรษฐกิจของโลกอย่างสิ้นเชิง จนก้าวเข้าสู่ "ยุคโลกไร้แรงงานมนุษย์” (Post-Labor Era) ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีนี้

พัฒนาคน-พัฒนาอุตสาหกรรม

(3) กฎกติกาสากลว่าด้วย “การลดโลกร้อน” ภายใต้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 หรือ “COP26” คือ การลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ.2050 โดยเฉพาะกรณีสหภาพยุโรป (EU) บังคับใช้กฎหมายการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ที่นำร่องด้วย 5 สินค้าก่อน คือ ปุ๋ย เหล็ก อะลูมิเนียม ไฟฟ้า และซีเมนต์ ในปี 2566 

โดยหลังจากปี 2569 จะบังคับทุกรายการ ทำให้การส่งออกของไทยต้องมีกระบวนการผลิตที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอน เป็นเหตุให้ต้องหันมาพึ่งพิงพลังงานสะอาดมากขึ้น (แทนพลังงานจากฟอสซิล) หรือต้องมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่เพียงพอ หากไทยเราไม่เร่งปรับตัวรองรับกฎกติกานี้ ภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการต้องซื้อ “ใบรับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอน” หรือ CBAM Certificates เพื่อเป็นการจ่ายค่าธรรมเนียม หรือ “ค่าปรับ” ซึ่งจะมีผลฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

(4) การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) คือสงครามทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะจีนและสหรัฐ ที่ยังคงอยู่และมีแนวโน้มที่อาจจะรุนแรงขึ้นด้วย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน “ห่วงโซ่การผลิต” (Supply Chain) ของโลก หลายประเทศต้องวางแผนย้ายฐานการผลิตเพื่อความมั่นคงของระบบการผลิตของแต่ละประเทศ เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตแบบต่อเนื่องครบวงจรมากขึ้น เพื่อจะได้ลดการพึ่งพิงวัตถุดิบจากประเทศอื่นๆ

(5) การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) คือ สังคมไทยอาจขยับขึ้นเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด (Hyper Aged Society) เพราะมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีกว่า 30% ภายในปี 2584 ซึ่งกลายเป็นผลกระทบต่อตลาดแรงงาน เนื่องจากวัยทำงานลดน้อยลง ขณะที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังอยู่ “ระดับ 2.0” ที่ยังต้องพึ่งพิงแรงงานคน ทำให้ไทยต้องหันไปพึ่งแรงงานข้ามชาติมากขึ้น และจะยิ่งทำให้ไทยมีภาระด้านสังคมสูง จึงต้องเร่งแก้ไขทั้งโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจเพื่อการรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

(6) โรคระบาดและโรคติดต่อ คือ การกลับมาของโรคโควิดกลายพันธุ์ และไข้หวัดร้ายแรง ยังจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและกระบวนการดำเนินธุรกิจที่มากขึ้นและเร็วขึ้นอีก เพื่อรองรับกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เช่น การทำธุรกรรมทางการเงินการธนาคาร การทำงานที่บ้าน (Work From Home) การสั่งสินค้าออนไลน์ การติดต่อสื่อสาร เป็นต้น

ทุกวันนี้ ภาครัฐมีทั้งนโยบายและยุทธศาสตร์ด้าน “Thailand 4.0” และ “BCG Model” ซึ่งสามารถตอบโจทย์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทันสมัยและมีความยั่งยืนด้วยการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต เพื่อเพิ่มผลิตภาพ นวัตกรรมและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

แต่การพัฒนาในเรื่องเหล่านี้ให้ได้ผลลัพธ์ชัดเจน จะต้องอาศัยการขับเคลื่อนของภาครัฐราชการอย่างเป็นระบบ โดยผลักดันหน่วยงานและกลไกต่างๆ ให้ทำงานกันอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ความกดดันต่างๆ ไม่ใช่สร้าง “วิกฤติ” เพียงอย่างเดียว แต่ยังสร้าง “โอกาส” ใหม่ๆ ให้เราด้วย ประเด็นสำคัญ จึงอยู่ที่ความสามารถของเราในการ “พัฒนาคน-พัฒนาอุตสาหกรรม” ด้วย Up Skill, Re Skill และ New Skill เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเราให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ครับผม !