สุขภาพดี-ภาษีลดหยุดโรค"NCDs”
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease : NCDs) โดยจากงานวิจัยของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ WHO ในปี 2562 ระบุว่า คนไทยเสียชีวิตด้วย NCDs ปีละกว่า 400,000 ราย และสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ 9.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
โดยเป็นค่ารักษาพยาบาลทางตรง 1.39 แสนล้านบาท และความสูญเสียทางอ้อมอีก 1.5 ล้านล้านบาท ดังนั้นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี จะทำให้สามารถลดปัญหาและค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพลดลงไปด้วย
ตัวเลขคาดการณ์จำนวนผู้ป่วย เบาหวาน 6.5 ล้านคน ความดัน 14 ล้านคน โรคไตทุกระยะ ประมาณ 1 ล้านคน มะเร็งรายใหม่ 1.4 แสนคนต่อปี และมีปัญหาสุขภาพจิต สูงถึง 10 ล้านคนและจากรายงานกรมควบคุมโรคพบว่า ในปี 2566 พบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 1,062,756 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มากถึง 85,064 คน งบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จัดสรรเฉพาะให้กับโรคไตย้อนหลัง 5 ปีพบว่า เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 946 ล้านบาท โดยปีงบประมาณ 2564-2568 เพิ่มสูงขึ้นถึง 38.96%
ภาระหนักจึงตกเป็นของงานสาธารณสุข แนวคิดผลักดันโรคNCDs เป็นวาระแห่งชาติ จึงเกิดขึ้นด้วยการทำให้จำนวนคนป่วยรายใหม่ลดลง หรือไม่เพิ่มขึ้นด้วยการนำมาตรการทางภาษีมาใช้ในหลักการที่ว่า “สุขภาพดี ภาษีลด” ซึ่งหลายประเทศมีการนำร่องใช้แล้ว เมื่อคนป่วยลดลง งบประมาณที่รัฐบาลจะต้องนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จะไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งในการดูแลคนที่ป่วยโรค NCDs อยู่ในปัจจุบันนี้ต้องใช้งบประมาณเฉพาะค่ารักษาพยาบาลราว 1.5 แสนล้านบาทต่อปี โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณานำมาปรับให้เหมาะกับประเทศไทย สำหรับประชาชนที่มีสุขภาพดี ก็จะลดภาษีให้ หากเริ่มต้นขับเคลื่อนจากวันนี้คงต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีในการทำความเข้าใจและน่าจะเริ่มเห็นสถิติคนไม่ป่วยโรค NCDs เพิ่มขึ้นได้ในปี 3
ถ้าคนไทยเข้าใจเรื่องการลดโรคNCDs ก็จะทำให้ชะลอคนที่ป่วยไม่ให้รุนแรงมากขึ้นและลดคนที่จะป่วยรายใหม่ และทุกคนทุกฝ่ายสามารถร่วมมือกันก็จะทำให้เป็นจริงได้ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง ภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความรอบรู้ส่งเสริมสุขภาพที่ถูกต้อง สร้างโอกาสส่งเสริมการมีวิถีชีวิตสุขภาพดี เพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะในการออกกำลังกาย ภาคธุรกิจที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนประเทศ ต้องใช้หลักเศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืนควบคู่ ด้วยการจัดสรรพื้นที่ออกกำลังกายให้พนักงาน เมื่อประชากรไทยวัยทำงานแข็งแรง จะลดจำนวนผู้ป่วยโรค NCDs ในอนาคตได้ ก็ลดการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศและลดภาระงบประมาณของรัฐบาลไปได้ด้วยเช่นกัน คนไทยทุกคนสามารถเริ่มต้นง่ายๆ ได้ในวันนี้ที่ตัวเราเองก่อน