หนีเป็น ‘ทาสทางจิตวิทยา’

หนีเป็น ‘ทาสทางจิตวิทยา’

นักปราชญ์บอกว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” พร้อมกับเป็น “สัตว์” ที่น่ากลัวอีกด้วย เพราะมีความฉลาดและมีความโลภเป็นเจ้าเรือน ซึ่งถ้าหากไม่มีการขัดเกลาแล้ว จะสามารถเป็นภัยต่อเพื่อนมนุษย์ได้อย่างน่าหวาดหวั่น กลวิธีสำคัญในการหาประโยชน์จากคนอื่นอย่างหนึ่งก็คือ “การควบคุมโดยการใช้เครื่องมือทางจิตวิทยา”  หากเราตระหนักถึงเครื่องมือเหล่านี้แล้วก็จะรักษาตัวได้รอด ไม่ต้องเจ็บปวดจากการเสียรู้ซึ่งครอบคลุมไปถึงการสูญเสียเงินทอง สูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง สูญเสียเสรีภาพส่วนตัวสูญเสียโอกาส ฯลฯ

ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลซึ่งเกี่ยวพันกับกลวิธีในการควบคุมดังกล่าวครอบคลุมคู่รัก คนชอบพอกันฉันท์เพื่อน ญาติพี่น้อง คนนับถือกัน หรือแม้แต่สามีภรรยาที่ไม่จริงใจต่อกันกลวิธีในการควบคุมคนอื่นโดยใช้เครื่องมือทางจิตวิทยามีดังต่อไปนี้ 1.Gaslighting ซึ่งหมายถึงการจงใจดำเนินการจัดการเพื่อให้เหยื่อเกิดความสงสัยในสภาพความเป็นจริงที่ตนเองประสบ จนเกิดความคลางแคลงและเข้าใจผิด รู้สึกเครียดและสับสนจนเสียศูนย์ โดยทั้งหมดเป็นไปอย่างจงใจของผู้ที่ขอเรียกว่า “ผู้ร้าย” ในที่นี้

“ผู้ร้าย” จะพูดกรอกหู หรือมีการกระทำอยู่บ่อย ๆ ให้เห็นว่า “เหยื่อ” เข้าลักษณะว่าเป็นคนไม่ได้เรื่อง “ความจำแย่มาก” “ทำอะไรก็เจ๊ง” “ไม่เห็นทำอะไรสำเร็จ” “สติปัญญามีแค่นี้” ฯลฯ โดยทั้งหมดก็เพื่อให้หันมาพึ่งพิง “ผู้ร้าย” และเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือ “เหยื่อ” ไม่กล้าหืออือ ไม่กล้าขัดใจ และยอม ทุกอย่าง (ผู้เขียนได้เขียนเรื่อง Gaslighting ในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับ 20 ก.ย.2565)

การพยายามทำให้ “เหยื่อ” สงสัยหรือคลางแคลงในการรับรู้รับทราบเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัว ในความสามารถหรือความจำหรือแม้แต่ความเป็นคนปกติของตนเองคือหัวใจของ gaslighting มันเป็นการทรมานอย่างหนึ่งทางจิตวิทยาซึ่งทำให้ความไว้วางใจตนเองลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ จนทำให้ “เหยื่อ” ต้องพึ่งพิง “ผู้ร้าย” อยู่เสมอ

2.Love Bombing เปรียบเสมือนระเบิดมือที่ตูมตามขึ้นมาทันที มันเกิดขึ้นเมื่อคนที่ชอบคุณทุ่มเทให้ ความรัก ความเอาใจใส่ ความชื่นชมในตอนแรกอย่างสุด ๆ เพื่อพยายามควบคุม “เหยื่อ” โดยแฝงมากับความรักหลงใหล เมื่อ “เหยื่อ” ติดเบ็ด “ผู้ร้าย” ก็เริ่มถอยห่างเพื่อให้ “เหยื่อ” พร่ำหาความรักนั้นเหมือนคนติดโทรศัพท์มือถือมองหาสัญญาณไวไฟ

วิธีการทางจิตวิทยานี้ใช้กันบ่อย ๆ ในการหาสมาชิกของกลุ่มนิยมคลั่งไคล้เจ้าลัทธิ “ผู้ร้าย” จะสร้างวงจรของการพุ่งขึ้นของความรักถึงจุดพีค และก็ลดลงมาสลับไปมาเพื่อสร้างความรู้สึกขึ้นลงจน “เหยื่อ” อยู่ในอารมณ์พึ่งพิงซึ่งง่ายต่อการควบคุมในที่สุด ความสัมพันธ์เชิงคู่รักใดที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วปานน้ำป่าท่วมพึงระวังให้ดี

3.Guilt Tripping ความรู้สึกผิดจะถูกใช้เป็นอาวุธของ “ผู้ร้าย” มันเปรียบเสมือนการแบล็คเมล์ทางอารมณ์ เมื่อ “ผู้ร้าย” ใช้ความรู้สึกผิดของ “เหยื่อ” เป็นสิ่งบังคับให้ “เหยื่อ”ทำตามสิ่งที่เขาต้องการคำพูดเช่น “ผมทำอะไรให้คุณตั้งมากมาย แต่คุณยัง.......” “ถ้าคุณรักผมจริงคุณต้อง.......” เราได้ยินประโยคคลาสสิกนี้กันอยู่บ่อย ๆ เพราะมันเป็นประโยคแบล็คเมล์ที่ได้ผล เนื่องจากเขาทำอะไรให้คุณมากมาย คุณต้องรู้สึกผิดหากปฏิเสธเนื่องจากความสุขของเขาแขวนอยู่กับคำตอบของคุณ วัตถุประสงค์ก็คือต้องการให้คุณติดกับดักของตาข่ายแห่งการตอบแทนเพื่อที่จะควบคุมคุณ

4.Triangulation คือ การที่ “ผู้ร้าย” นำบุคคลที่สามมาเกี่ยวพันด้วยในความขัดแย้ง หรือความสัมพันธ์เพื่อรักษาการควบคุม “เหยื่อ” เราจำได้ไหมตอนเด็ก ๆ เมื่อขออะไรจากแม่ไม่ได้ ก็จะไปขอจากพ่อ (บุคคลที่สาม) เพื่อให้เกิดความขัดแย้งและในที่สุดก็จะได้บางสิ่งที่ดีกว่าการไม่สร้างบุคคลที่สามขึ้นมา

อีกตัวอย่างก็คือ “ผู้ร้าย” กับ “เหยื่อ” เป็นคู่รักกันมานาน แต่ไม่ก้าวหน้าไปไหน เช่น ระฆังวิวาห์ก็ยังไม่ได้หล่อสักที “ผู้ร้าย” ก็จะอ้างหรือจะทำว่ามีบุคคลที่สามเข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่ หาก “เหยื่อ” ไม่ยอมตามที่ต้องการก็จะมีคนอื่นให้เลือก หรือเมื่อพ่อแม่หย่ากัน ลูกคือบุคคลที่สามที่เข้ามาบอกว่าฝ่ายใด “ดีกว่า” ฝ่ายใดคำตัดสินของลูกจะมีน้ำหนักต่อการต่อรองของแต่ละฝ่าย

วิธีการนี้ก่อให้เกิดความสับสน เกิดการแข่งขัน เกิดความอิจฉา จน “เหยื่อ” เบนความสนใจจากการรู้สึกว่าตนเองถูกควบคุมไปสู่การมีบุคคลที่สามเข้ามาจนมันดูวุ่นวาย ไม่เห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ดราม่าที่จงใจให้เกิดขึ้นโดย “ผู้ร้าย” ก็คือการสร้างความไม่สบายใจ และความรู้สึกไม่มั่นคงในตนเอง จน “เหยื่อ” หันมาพึ่งพิง “ผู้ร้าย”

5.Silent Treatment บางครั้งอาวุธอันมีประสิทธิภาพที่ “ผู้ร้าย” สร้างขึ้นมาก็คือการไม่ทำอะไรเลย “การเงียบ” ทั้งในรูปของการพูดและการกระทำเป็นอาวุธทางจิตวิทยาที่ร้ายแรง การปฏิเสธการสื่อสารกับ “เหยื่อ” คือการลงโทษเพราะไม่ให้ทั้งความสนใจและความรักอีกต่อไป มันสร้างความว่างเปล่าทางจิตวิทยาที่ทำให้ “เหยื่อ” ต้องคาดเดาว่าได้เกิดอะไรขึ้น และต้องการอย่างยิ่งที่จะหาความตกลง ซึ่งการ “ควบคุม” ทั้งหมดอยู่ที่ “ผู้ร้าย” 

 อย่าลืมว่ามนุษย์ต้องการมีปฏิสัมพันธ์และการเชื่อมต่อกับผู้อื่น silent treatment เป็นการส่งสัญญาณว่า “เหยื่อ” ไม่มีตัวตน ไม่มีคุณค่าควรแก่ความสนใจ หากกระทำเช่นนี้ บ่อย ๆ ข้ามเวลาจะสร้างความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง เกิดความเหงา และเห็นความสำคัญของตนเองน้อยลง

คนรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ชีวิตไม่มาก ต้องระวังสัญญาณจาก 5 กลวิธีอุบาทว์นี้ให้ดีเพราะตนเองอาจตกเป็น “ทาสทางจิตวิทยา” ของคนอื่นอย่างไม่รู้ตัว และอาจต้องทำอะไรหลายอย่างที่ไม่อยากทำจนต้องเสียรู้ และเสียผู้เสียคนในชีวิตไปได้

ทุกคนเกิดมามีชีวิตที่เสรีโดยธรรมชาติ ดังนั้น อย่ายอมตกเป็นทาสใครโดยเฉพาะทางจิตวิทยาเป็นอันขาด ความมีสติในการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นเท่านั้นที่จะช่วยได้ (ความรู้ทางวิชาการของข้อเขียนมาจาก “5 WorstPsychological Things People Do to Each Other”, Dr. Kevin Bennett, Psychology Today, January 1, 2025)