แดน แอชเวิร์ธ ‘ขงเบ้งลูกหนัง’ ปีศาจแดงอาจทุ่มเงินซื้อ 15 ล้านปอนด์ แต่คุ้ม

แดน แอชเวิร์ธ ‘ขงเบ้งลูกหนัง’ ปีศาจแดงอาจทุ่มเงินซื้อ 15 ล้านปอนด์ แต่คุ้ม

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยุคใหม่ แดน แอชเวิร์ธ "ขงเบ้งลูกหนัง" ที่ปีศาจแดงอาจต้องทุ่มเงินซื้อถึง 15 ล้านปอนด์ (แต่คุ้ม!)

Key Points
• แดน แอชเวิร์ธ แม้จะไม่ได้เป็นคนที่ออกสื่อหรือออกหน้าบ่อย แต่ในวงการฟุตบอลอังกฤษแล้วนี่คือหนึ่งในสุดยอดมือบริหารที่เก่งกาจและได้รับการยอมรับในระดับสูงสุด เรียกได้ว่าเป็น “ไอดอล” ของคนสายงานด้านผู้อำนวยการสโมสรเลยทีเดียวก็ว่าได้
• แอชเวิร์ธ เคยถูกชวนไปช่วยวางรากฐานให้ทีมชาติอังกฤษ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง “England DNA” ที่เปลี่ยนวงการฟุตบอลเยาวชนของอังกฤษให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตนักเตะดาวรุ่งเก่งกาจได้มากที่สุด 
• ในมุมนักวิเคราะห์แล้ว เงิน 15 ล้านปอนด์ถือว่าถูกมากหากเทียบกับคุณค่าและมูลค่าของบุคลากรที่เก่งกาจระดับแอชเวิร์ธที่เป็นหนึ่งไม่มีสองในวงการนี้ที่ยังทำงานอยู่

ในเกมฟุตบอลสมัยใหม่การเสริมทัพไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องของผู้เล่นในสนามแล้วเท่านั้น เพราะตำแหน่งอื่นๆ ก็มีความสำคัญเช่นกัน และดูเหมือนเรากำลังจะได้เห็นการซื้อตัว “ผู้อำนวยการสโมสรด้านฟุตบอล” (Director of Football) ที่มีค่าตัวแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ในเร็วๆนี้
    
ผู้อำนวยการสโมสรคนดังกล่าวคือ แดน แอชเวิร์ธ ที่ทีม “ปีศาจแดง” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยุคใหม่ใต้การบริหารของเซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของอังกฤษ ต้องการได้ตัวมาเป็นเสนาธิการบริหารงานด้านในสนามของสโมสร

ปัญหาคือแอชเวิร์ธ ทำงานให้กับนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด สโมสรที่ได้รับการหนุนหลังจาก PIF กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการวางรากฐานสโมสรไปสู่การเป็นมหาอำนาจของวงการในแบบเดียวกับที่แมนเชสเตอร์ ซิตีทำ และนั่นทำให้การคว้าตัวแอชเวิร์ธไปร่วมงานด้วยอาจไม่ได้จบกันที่วาจา

แต่ต้องใช้เงินคุยกัน และเงินที่แมนฯ ยูไนเต็ด อาจจะต้องจ่ายค่าชดเชยนั้นสูงถึง 15 ล้านปอนด์เลยทีเดียว
    
ผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอลคนหนึ่งมีค่ามากขนาดนั้นเชียวหรือ?

ผ่ายุทธการคืนชีพปีศาจแดง


ภายหลังจากการที่กลุ่ม INEOS ของเซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ เข้าซื้อหุ้นของแมนฯ ยูไนเต็ดต่อจากครอบครัวเกลเซอร์ เจ้าของสโมสรเดิมในจำนวน 29 เปอร์เซ็นต์ซึ่งกระบวนโอนถ่ายหุ้นและการตรวจสอบจากพรีเมียร์ลีกรวมถึงสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) เสร็จสิ้นเรียบร้อย ทีมงานชุดใหม่ที่ได้รับอำนาจเต็มในการบริหารกิจการได้เดินหน้าลุยทันที
    
ในช่วงเริ่มต้นทีม INEOS Sport กำหนดหมากในการทำงานในส่วนที่สำคัญเกี่ยวกับการวางรากฐานของสโมสร

 

เริ่มจากการมอบหมายเซอร์ เดฟ เบรลส์ฟอร์ด ผู้เป็นดัง “มันสมอง” คู่กายของแรตคลิฟฟ์ผู้เป็นเจ้าของทฤษฎี “Marginal Gains” อันโด่งดังในทางกีฬาเข้ามาดูภาพรวมของงานด้านกีฬาของสโมสร เรียกว่าส่งคนสนิทลงมาดูแลอย่างใกล้ชิดแสดงให้เห็นว่าให้ความสำคัญ
    
ต่อมาคือการดึงตัวโอมาร์ เบอร์ราดา คีย์แมนจาก City Football Group ซึ่งเป็นเครือข่ายสโมสรในอาณัติของแมนเชสเตอร์ ซิตี มานั่งแท่นซีอีโอของสโมสรคนใหม่ เพื่อดูแลภาพรวมทั้งในส่วนของงานในสนามและงานนอกสนาม ซึ่งการได้คนระดับมันสมองจากคู่แข่งมาเป็นการบ่งบอกว่าเป้าหมายของแรตคลิฟฟ์ คือการสร้างให้แมนฯ ยูไนเต็ด กลายเป็น Powerhouse ในระดับโลก ที่อาจจะเป็นเครือข่ายสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดได้ในอนาคต
    
แต่งานในส่วนสำคัญอีกอย่างที่จำเป็นอย่างมากคือการบริหารกิจการ “ในสนาม” ซึ่งต้องเป็นคนที่มีความรู้ ความเข้าใจ มีวิสัยทัศน์ มีคอนเน็คชัน และได้รับการยอมรับในระดับสูง
    
ในวงการฟุตบอลอังกฤษคนที่ได้รับการยอมรับในระดับนั้นมีไม่มากนัก หนึ่งคือ ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส อดีตผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอลผู้เปลี่ยนลิเวอร์พูล จากยักษ์หลับให้กลายเป็นสโมสรในระดับชั้นนำของอังกฤษในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งงานสำคัญคือการดึงผู้เล่นฝีเท้าดีที่เหมาะสมกับสโมสร และผลงานชิ้นโบว์แดงคือการดึงเจอร์เกน คล็อปป์ มาเป็นผู้จัดการทีม

แดน แอชเวิร์ธ ‘ขงเบ้งลูกหนัง’ ปีศาจแดงอาจทุ่มเงินซื้อ 15 ล้านปอนด์ แต่คุ้ม
    
อีกคนคือแดน แอชเวิร์ธ ที่โด่งดังอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน สโมสรในระดับเล็กๆให้กลายเป็นทีมที่ทำผลงานได้น่าประทับใจถึงขั้นไปเล่นฟุตบอลสโมสรยุโรปได้ และเป็นสโมสรที่ค้นพบเพชรเม็ดงามมากมายในโคลนตมก่อนจะเจียระไนและส่งออกขายให้แก่สโมสรยักษ์ใหญ่ทำเงินได้อย่างมหาศาล
    
ผลงานดังกล่าวทำให้แอชเวิร์ธ ถูกนิวคาสเซิลดึงตัวมาร่วมงานในช่วงกลางปีที่แล้วหลังพยายามตามจีบอยู่นาน 
    
และตอนนี้นิวคาสเซิลก็เจอสถานการณ์ลำบากใจในแบบเดียวกันเมื่อแมนฯ ยูไนเต็ดต้องการได้ตัวแอชเวิร์ธมาร่วมงาน

 

ขงเบ้งลูกหนังเมืองผู้ดี

สำหรับแอชเวิร์ธ แม้จะไม่ได้เป็นคนที่ออกสื่อหรือออกหน้าบ่อย แต่ในวงการฟุตบอลอังกฤษแล้วนี่คือหนึ่งในสุดยอดมือบริหารที่เก่งกาจและได้รับการยอมรับในระดับสูงสุด

    เรียกได้ว่าเป็น “ไอดอล” ของคนสายงานด้านผู้อำนวยการสโมสรเลยทีเดียวก็ว่าได้

    ทั้งนี้แม้งานหลักคือเรื่องของการ Recruitment หรือการสรรหาบุคลากรเข้ามาทำงานกับสโมสร ซึ่งหลักๆแล้วคือนักฟุตบอล ที่ในอดีตคนมานั่งตำแหน่งนี้จะเป็นคนที่มี “คอนเน็คชัน” ในวงการสูง รู้จักคนมากทั้งระหว่างสโมสรด้วยกันไปจนถึงเครือข่ายแมวมองและเอเยนต์นักเตะ 
    
แต่ในความเป็นจริงแล้วงานของผู้อำนวยการสโมสรในยุคปัจจุบันมีรายละเอียดที่มากกว่านั้นมาก และต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆมาทำงาน 

    สำหรับแอชเวิร์ธ เคยเป็นอดีตนักฟุตบอลระดับเยาวชนของนอริช ซิตี มาก่อนแต่ไปไม่ถึงฝันถูกสโมสรปล่อยตัวออกมา ทำให้ชีวิตต้องผจญภัยต่อไปซึ่งเจ้าตัวมีโอกาสเดินทางไปทั้งเล่นฟุตบอล ทำงานเป็นครู และเก็บวิชาความรู้อยู่ที่สหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาทำงานในระดับฟุตบอลเยาวชนซึ่งเริ่มจากทีมปีเตอร์โบโรห์ ยูไนเต็ดในช่วงปี 2000

    แต่จุดเปลี่ยนในชีวิตคือการที่ได้โอกาสเขยิบขึ้นมานั่งแท่นผู้อำนวยการสโมสรของเวสต์ บรอมวิช อัลเบียนในปี 2007

    ในเวลานั้นตำแหน่งผู้อำนวยการสโมสรฟุตบอลเป็นทั้งของแปลกและของใหม่ของวงการฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งมีขนบธรรมเนียมแตกต่างจากสโมสรในภาคพื้นยุโรป (Continental) ที่จะมีการแยกงานส่วนของการบริหารไปจนถึงงานสรรหาคนแยกส่วนจากการคุมทีมฝึกซ้อมและงานในสนาม 

    คำว่าผู้จัดการทีม (Manager) ของอังกฤษคือการรับเหมาเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในการตัดสินใจ
    
แต่เวสต์บรอมฯ มองเห็นศักยภาพในตัวของแอชเวิร์ธ ก่อนจะให้โอกาสเขาได้ลองทำงานในส่วนนี้โดยทำงานร่วมกับโทนี โมวเบรย์ ผู้จัดการทีมในเวลานั้น ซึ่งปรากฏว่าทั้งสองทำงานเข้าขากันอย่างมาก จนโมวเบรย์ถึงกับออกปากชมว่าผู้อำนวยการสโมสรคนใหม่เก่งมาก ทำงานใส่ใจในทุกรายละเอียด
    
ความละเอียดในการทำงานของแอชเวิร์ธคือการลงดีเทลทุกอย่าง ในทุกส่วน โดยใช้เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลที่จะนำมาประกอบการตัดสินใจในทุกเรื่อง
    
แอชเวิร์ธทำงานแบบนี้อยู่หลายปีก่อนจะถูกชวนไปช่วยวางรากฐานให้ทีมชาติอังกฤษ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง “England DNA” ที่เปลี่ยนวงการฟุตบอลเยาวชนของอังกฤษให้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตนักเตะดาวรุ่งเก่งกาจได้มากที่สุด
    
ก่อนที่จะมาโด่งดังที่สุดกับไบรท์ตัน อยู่เบื้องหลังการขุดเพชรเม็ดงามมากมายหลายคนที่ต่อมาถูกยักษ์ใหญ่ซื้อไปร่วมทีม ไม่ว่าจะเป็น อเล็กซิส แม็คคัลลิสเตอร์, มอยเซส ไคเซโด, มาร์ค กูกูเรญา และอีกมากมาย
    
เมื่อได้รับข้อเสนอให้มารับงานใหญ่กว่ากับนิวคาสเซิล ที่มีเป้าหมายในการยกระดับสโมสรไปสู่การเป็นมหาอำนาจของวงการฟุตบอลในปี 2022 แอชเวิร์ธ ซึ่งมีนิสัยชอบความท้าทายและต้องการประสบการณ์การทำงานใหม่จึงตอบรับ
    
ผลงานของเขาที่เซนต์ เจมส์ ปาร์ค มีทั้งส่วนที่มองเห็นได้ชัด เช่น การดึงนักเตะอย่างซานโดร โตนาลี, ฮาร์วีย์ บาร์นส ไปจนถึงการผลักดันเยาวชนจากอคาเดมีอย่างลูอิส ไมลีย์ และส่วนที่ทำงานในเบื้องหลังเช่นการของบ 10 ล้านปอนด์ปรับปรุงสนามซ้อมให้ทันสมัยเทียบเท่าสโมสรชั้นนำ และวางแผนสำหรับการสร้างศูนย์ฝึกขนาดใหญ่ในอนาคต
 

15 ล้านปอนด์แลกอนาคต คุ้มไหม?


    อย่างไรก็ดีแอชเวิร์ธ ได้ตัดสินใจแล้วที่จะไปจากนิวคาสเซิลเพื่อรับงานที่แมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งไม่ได้เป็นโปรเจ็คต์ธรรมดา แต่เป็น “เมกะโปรเจ็คต์” เลยทีเดียว
    
ตามรายงานข่าวผู้อำนวยการแห่งเซนต์ เจมส์ ปาร์ค ตัดสินใจแจ้งต่อผู้บริหารระดับสูงของนิวคาสเซิลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อย
    
เพียงแต่ปัญหาคือนิวคาสเซิลนอกจากจะไม่พร้อมที่จะปล่อยตัวเขาไปแล้ว ยังไม่พอใจกับท่าทีของแมนฯ ยูไนเต็ดที่ลอบเจรจาก่อนโดยไม่มีการทาบทามอย่างถูกต้องตามมารยาทที่ควรจะเป็น
    
ที่สำคัญกว่านั้นคือด้วยบทบาทหน้าที่การงาน แอชเวิร์ธ เรียกได้ว่าเป็น “มันสมอง” ของสโมสร และนิวคาสเซิลไม่สามารถปล่อยให้สมองไหลออกไปได้ง่ายๆ เพราะเขามีข้อมูลทุกอย่างของสโมสรอยู่ในมือ ที่แม้แต่เอ็ดดี ฮาว ผู้จัดการทีมก็แสดงความกังวลว่าหากปล่อยให้ไปก็กลัวข้อมูลเหล่านี้จะถูกเอาไปด้วย
    
ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้นิวคาสเซิล เลือกใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดด้วยการสั่ง “แขวน” แอชเวิร์ธเอาไว้ด้วยการใช้คำว่า “Gardening leave” ที่ไม่ได้หมายถึงการไปชมสวนทำสวน แต่เป็นการสั่งพักงานไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสโมสรอีก แต่จะได้รับเงินเดือนตามปกติ
    
พูดง่ายๆคือ Leave with pay โดยที่มีกำหนดระยะเวลา 20 เดือน หรือจนกว่านิวคาสเซิลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ระหว่างนี้แอชเวิร์ธ จะไม่สามารถมาทำงาน ห้ามเข้าออฟฟิส และห้ามเข้าระบบใดๆของสโมสรเด็ดขาด 

แดน แอชเวิร์ธ ‘ขงเบ้งลูกหนัง’ ปีศาจแดงอาจทุ่มเงินซื้อ 15 ล้านปอนด์ แต่คุ้ม
    
การเปลี่ยนแปลงคำสั่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเจรจาหารือกันลงตัวระหว่างนิวคาสเซิลกับแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยทีมจากนอร์ธอีสต์ของอังกฤษต้องการเรียกเงินชดเชยจำนวนถึง 15 ล้านปอนด์ ที่จะนำมาใช้โปะบัญชีเพื่อให้เป็นไปตามกฎ Profit and sustainability rule (PSR)
    
ข่าวยังไม่แน่ชัดว่าแมนฯ ยูไนเต็ดยินดีที่จะจ่ายเงินจำนวนนี้หรือไม่ หรือพร้อมจะจ่ายแค่ไหน
    
เพียงแต่ในมุมนักวิเคราะห์แล้ว เงิน 15 ล้านปอนด์ถือว่าถูกมากหากเทียบกับคุณค่าและมูลค่าของบุคลากรที่เก่งกาจระดับแอชเวิร์ธที่เป็นหนึ่งไม่มีสองในวงการนี้ที่ยังทำงานอยู่ (ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส ยังไม่กลับมาทำงานในวงการและปฏิเสธการกลับมาลิเวอร์พูลไปแล้ว) 
    
แอชเวิร์ธ คือคนที่แมนฯ ยูไนเต็ดขาดมาตลอด 11 ปีหลังนับจากที่ไม่มีเดวิด ดีน ที่อำลาสโมสรไปพร้อมกับเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน นี่คือคนที่จะพลิกโฉมหน้าของสโมสรให้กลับมาเป็นมหาอำนาจของวงการอีกครั้งด้วยองค์ความรู้ที่มี 
    
ขนาดแล้งไร้ความสำเร็จจนเหี่ยวเฉามานานขนาดนี้ แมนฯ ยูไนเต็ดยังเป็นทีมที่มีมูลค่ามหาศาลที่สุดของอังกฤษ แล้วถ้าสโมสรกลับมากอบโกยความสำเร็จได้เหมือนในอดีต นั่นหมายถึงทีมจะเป็นปีศาจติดปีกที่ไม่มีใครหยุดได้
    
ก็อยู่ที่คนของฝ่ายแรตคลิฟฟ์แล้วว่าจะหาทางตกลงกับนิวคาสเซิลอย่างไร
    
เพราะใจของแอชเวิร์ธมาแล้ว เหลือแค่ตัวเท่านั้นที่รอจะตามไป