คิดและทำหลายสิ่งพร้อมกัน....ใช่ว่าจะดี

กล่าวได้ว่าในปัจจุบันเป็นยุคของการถูกรบกวน หรือ Age of Distraction ที่พัฒนาการของเทคโนโลยีได้ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรม
ทำให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะถูกรบกวนด้วยบรรดาสัญญาญเตือน เสียงเรียกเข้าต่างๆ ได้ตลอดเวลา ทำให้ต้องตอบรับอยู่ตลอดเวลา และทำหลายอย่างไปพร้อมกัน
เกิดความเข้าใจผิดว่า การตอบรับตลอดเวลาและสามารถทำหลายอย่างไปพร้อมกันเป็นสิ่งที่ดีและมีประสิทธิภาพ
ภาพชินตาที่จะพบในห้องประชุม ในวงสนทนาของเพื่อนหรือครอบครัวคือ จะมีผู้หยิบโทรศัพท์เพื่ออ่านข้อความ ตอบข้อความ หรือ อ่านอีเมล อยู่เป็นประจำ
บางท่านอาจจะคิดว่าการตอบข้อความอย่างทันทีแม้จะทำอย่างอื่นอยู่เป็นการแสดงความใส่ใจ รวมทั้งการที่สามารถประชุมไปด้วยตอบไลน์ไปด้วยก็เป็นการแสดงประสิทธิภาพในการทำงาน
อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยที่ชี้ออกมาว่าการทำหลายสิ่งพร้อมกัน หรือ การสลับไปมาระหว่างงานที่ทำ นำไปสู่ปัญหาในการทำงานของสมองทั้งเรื่องความจำ สมาธิ และการตัดสินใจ
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่าการทำหลายอย่างพร้อมกัน ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพแต่อย่างใด แต่กลับทำให้สูญเสียเวลาเพิ่มขึ้น 40% เนื่องจากสมองจะต้องสลับไปมา
Multitasking หรือ การทำหลายสิ่งพร้อมกัน กลายเป็นค่านิยมในสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะประชุมไปพร้อมกับการตอบไลน์ หรือ คุยอยู่แต่ดูคลิปวนไปด้วย
ส่วน Multithinking หรือ การคิดในหลายเรื่องพร้อมกัน มีลักษณะคล้าย Multitasking แต่เป็นเรื่องของการคิด การทำงานของสมอง เช่น กังวลกับปัญหาที่บ้านระหว่างการประชุม
หรือ คิดถึงสิ่งที่กำลังจะพูดพร้อมกับนั่งอ่านรายงานในอีกเรื่อง หรือ การนั่งคิดถึงข้อความที่จะตอบไลน์ของหลายๆ กลุ่มพร้อมๆ กัน (ซึ่งมักจะนำไปสู่การตอบผิดกลุ่ม)
Multitasking และ Multithinking อาจจะถือเป็นทางลัดที่คนจะใช้ในการตอบสนองต่อโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งรบกวนและต้องการความเร็วมากขึ้น แต่ก็มีข้อเสียอยู่หลายประการด้วยกัน อาทิเช่น
1. พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป จะเป็นผู้ที่คอยตอบสนองต่อข้อความหรือสิ่งเร้าที่เข้ามาตลอดเวลา กลายเป็นคนที่ขาดความอดทน สมาธิถูกรบกวนหรือดึงดูดได้ง่าย ไม่สามารถทำงานใดอย่างหนึ่งได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้ที่คอยเช็คโทรศัพท์ตัวเองตลอดเวลาทั้งระหว่างมื้ออาหาร การสนทนา หรือ การทำงาน ซึ่งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากความตั้งใจแต่กลายเป็นอุปนิสัยไปแล้ว
2. การตัดสินใจที่ไม่มีคุณภาพ การมีหลายความคิดอยู่ตลอดเวลา ทำให้การตัดสินใจที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจที่รวดเร็ว ขาดความลึก คุณภาพ และผ่านการคิดอย่างรอบคอบ อีกทั้งเมื่อรับฟังข้อมูล ก็มักจะพลาดข้อมูลที่สำคัญ
3. ทำให้สุขภาพจิตเสีย จิตใจจะมีลักษณะ Always On ตลอดเวลา แม้เวลาพักก็จะไม่ได้พัก จิตใจจะไม่ได้พัก นำไปสู่ความเครียด กระวนกระวาย ความอ่อนเพลีย รู้สึกเหน็ดเหนื่อย
4. งานที่ได้ไม่มีคุณภาพ เป็นงานที่เน้นความเร็ว ขาดความลึกและความรอบคอบ ชอบเริ่มงานใหม่ๆ ไว้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสร็จ งานบางอย่างทำค้างไว้แล้วเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น พอกลับมาทำงานเดิมก็ลืมไปว่าทำถึงจุดใด เวลาที่ใช้ในการทำงานจะนานขึ้น
สำหรับแนวทางในการแก้ไขนั้นไม่ใช่การไม่ทำ Multitasking กับ Multithinking ไปเลย แต่ควรจะจำกัดการทำ Multitasking / Multithinking ไว้ โดย
1. หัดที่จะทำ Monotasking นั้นคือฝึกหัดให้ตัวเองทำงานทีละอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานที่มีความสำคัญ และอาจจะกำหนดเวลาไว้ 20-30 นาที สำหรับการมีสมาธิในการทำงานดังกล่าว
2. ไม่ต้องตอบเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องตอบทันทีเพื่อแสดงให้เห็นว่าใส่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างการทำงานอย่างอื่นอยู่
3. พึ่งพาเทคโนโลยีอย่างระมัดระวัง ปิดระบบเตือนที่ไม่จำเป็น หรือ อาจจะกำหนดชั่วโมงที่ปราศจากการรบกวนโดยการเตือน
ลองดูและสังเกตพฤติกรรมของท่านและคนรอบตัวว่าเป็นพวก Multitasking / Multithinking หรือเปล่า และลองนำแนวทางข้างต้นไปปรับดูเผื่อจะได้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างแท้จริง.