เปิดประวัติ 'ตระกูลชินวัตร' ฉบับไป่ตู้ สารานุกรมจีน
ประวัติตระกูลชินวัตรในสารานุกรมภาษาจีนออนไลน์ไป่ตู้ไป่เคอ baike.baidu.com แสดงข้อมูลต้นตระกูลของ 'ทักษิณ ชินวัตร' ตั้งแต่รุ่นปู่ทวดที่เป็นคนจีนจากมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งต่อมาได้อพยพย้ายถิ่นมาอยู่เมืองไทย
KEY
POINTS
- สารานุกรมจีนออนไลน์ไป่ตู้ (baike.baidu.com) แสดงข้อมูลต้นกำเนิดตระกูลชินวัตร ครอบครัวนักการเมืองไทยไว้อย่างน่าสนใจ พบว่ามีบรรพบุรุษมาจากหมู่บ้านชาวแคะ เมืองเหมยโจว มณฑลกวางตุ้ง
- ปู่ทวดของทักษิณ ชินวัตร มีนามว่า ชิวจี้ฉิน 丘志勤 เดินทางมาเมืองไทยจากท่าเรือซัวเถา ไปยังเมืองจันทบุรี ภาคตะวันออกของสยาม ต่อมารุ่นปู่ของทักษิณ (เชียง ชินวัตร) ทำธุรกิจที่เชียงใหม่ และเป็นนายอากร (ภาษี) ให้กับรัฐบาล
- ตามกฎหมายไทย ชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยสามารถเปลี่ยนนามสกุลเป็นภาษาไทยได้ หลังจากผ่านไป 3 ชั่วอายุคน ตระกูลชิวจึงเลือกนามสกุลไทยว่า "ชินาว่า (ชินาวา)" ซึ่งแปลว่า "ทำความดีตามกฎเกณฑ์"
สารานุกรมภาษาจีนออนไลน์ไป่ตู้ไป่เคอ baike.baidu.com มีหมวดเรื่องราวว่าด้วยตระกูลชินวัตร ครอบครัวนักการเมืองและอดีตนายกรัฐมนตรีไทยที่น่าสนใจ เนื่องจากได้นำเสนอเนื้อหาการสืบค้นประวัติความเป็นมาของต้นตระกูล อันมีบรรพบุรุษได้เดินทางมาจากหมู่บ้านชาวแคะ ชื่อว่าหมู่บ้านถ่าเซี่ย 塔下村 เป็นบ้านในสังกัดเมืองผู่ไจ๋ อำเภอเฟิ่งชุน เมืองเหมยโจว มณฑลกวางตุ้ง ภายใต้การรวบรวมจากชาวจีน
เรื่องราวดังกล่าวเพิ่งมีการสืบค้นกันหลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของอดีตนายกรัฐมนตรีเหวินเจียเป่า เมื่อปี 2548 ในครั้งนั้นได้เดินทางไปยังหมู่บ้านเหมยเจียว เมืองเหมยโจว เพื่อพบปะญาติฝ่ายมารดา และปรารภว่าเสียดายที่ไม่ได้พบรากเหง้าบรรพบุรุษฝ่ายบิดาที่ยังเป็นปริศนาอยู่
ทำให้เกิดการค้นคว้าเรื่องราวของตระกูลชิว (แซ่คู) เป็นเอกสารชื่อว่า “รายงานการสอบสวนประวัติครอบครัวของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรแห่งประเทศไทย” 泰国他信总理家世调查报告 ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ "เดือนเกิดของชาวจีนโพ้นทะเลเหม่ยโจว" ฉบับที่ 4 ปี 2548
เนื้อหาของรายงานเล่าถึงบรรพชนตระกูลชิว จากหมู่บ้านถ่าเซี่ย อำเภอเฟิ่งชุน โดยสรุปดังนี้
ปฐมบทต้นตระกูลชินวัตร 'ชิวจี้ฉิน' ปู่ทวดของทักษิณ
เริ่มต้นจากปู่ทวดของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย มีนามว่า ชิวจี้ฉิน 丘志勤 และนางหลิว มีบุตรสามคน หนึ่งในนั้นคือ 丘春盛 ชิวชุนเซิง (สำเนียงกวางตุ้ง-คูชุ่นเส็ง) ครอบครัวนี้เดินทางไปประเทศสยามตอนที่ชิวชุนเซิงอายุ 12 ปี จากท่าเรือซัวเถา ไปยังเมืองจันทบุรี ภาคตะวันออกของประเทศสยาม แต่ต่อมาครอบครัวประสบปัญหา ชิวจี้ฉินและครอบครัวเดินทางไปกลับประเทศจีน ทิ้งให้ชิวชุนเซิงผู้เป็นบุตรอยู่ในประเทศไทยต่อ ทำงานภายใต้การปกครองของบ้านตระกูลหวง นามว่า หวงซื่อหลุน 黄子伦 เรื่องราวส่วนนี้เป็นข้อมูลใหม่ที่เพิ่มเติมมาจากประวัติที่ปรากฏในไทยแต่เดิม
ต่อมา คูชุ่นเส็งหรือชิวชุนเซิง ก็ได้แต่งงานกับ 娘通里 เนียงถ่งลี แล้วให้กำเนิดบุตรสองคน หนึ่งในนั้นคือปู่ของทักษิณ ชินวัตร นามว่า ชิงอาเชิง 邱阿昌 (ชื่อไทย เชียง ชินวัตร) ต่อมาย้ายไปทำธุรกิจที่เมืองเชียงใหม่ เป็นนายอากร (ภาษี) ให้กับรัฐบาล ต่อมาเขาเริ่มดำเนินธุรกิจผ้าไหมไทย โดยมียอดขายในประเทศและส่งออก รวมถึงการผลิตและการขายแบบครบวงจร
บุญเลิศ 奔历 บิดาของทักษิณ ทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ 3 โรง และเป็นนักการเมืองและเคยเป็นผู้แทนราษฎรสองสมัย นอกจากนี้ ไป่ตู้ให้ข้อมูลภรรยาของบุญเลิศไว้ว่าชื่อ 黄金里 หวงจินลี่ (ชื่อไทย นางยินดี ชินวัตร) พี่น้องตระกูลชินวัตรเคยเดินทางไปยังหมู่บ้านตระกูลหวงสายมารดามาก่อนแล้ว
ข้อมูลการค้นคว้าของจีน ที่ปรากฏผ่านไป่ตู้ ทำให้เรื่องราวความเป็นมาของตระกูลชินวัตรชัดเจนขึ้น จากประวัติเดิมที่ตั้งต้นจากแค่ คูชุ่นเส็ง ผู้เป็นทวด (พ่อของปู่เชียง) ชาวจีนฮากกา ที่ได้เดินทางมาถึงจันทบุรี และอพยพมาอยู่เชียงใหม่ โดยไม่ทราบด้วยซ้ำว่า บ้านเกิดเดิมที่เมืองจีนอยู่ที่ใดกันแน่
ทักษิณ ชินวัตร คนไทยเชื้อสายจีนผสมผสาน ทั้งแต้จิ๋วและฮากกา
ด้วยข้อมูลใหม่ที่เพิ่มขึ้นทำให้ทราบว่า ต้นตระกูลชินวัตรที่เดินทางมาก่อนคือปู่ทวด ชิวจี้ฉิน 丘志勤 ที่มาพร้อมกับครอบครัวและได้เดินทางกลับบ้านเกิดไปก่อน และเรื่องราวความเป็นมาของ คูชุ่นเส็ง (ทวด) ในยุคแรกที่จันทบุรีนั้นอาศัยกับตระกูลชาวจีนที่ช่วยดูแล ก็คือตระกูลหวง และยังสามารถสืบหาร่องรอยญาติพี่น้องที่สืบสายจากชิวจี้ฉินที่ประเทศจีนได้
สารานุกรมไป่ตู้ ยังให้ข้อมูลว่า ชื่อจีนของ ทักษิณ ชินวัตร คือ 丘达新 (ชิวต้าซิน) เขาได้เคยกล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน ว่าเขาเป็นทั้งชาวแต้จิ๋วและชาวฮากกา เนื่องจากบ้านบรรพบุรุษของพ่อของเขาอยู่ในเขต เฟิ่งชุน และมารดาของเขาเป็น ชาวฮากกาจาก ซงโข่ว เขต เหมยเซี่ยน เมืองเหมยโจว
ในครั้งนั้นเขายืนยันว่าครอบครัวที่ไทยพูดสำเนียงฮากกา เวลากินข้าวออกเสียง “ชิดฟ่าน” แทนที่จะเป็น ฉือฟ่าน อันเป็นสำเนียงจีนกลาง “吃饭”叫 “食饭” ไป่ตู้ บรรยายว่า “ตามความทรงจำของทักษิณ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แม่ของเขากลับไปยังบ้านเกิดที่เฟิงชุน มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเธออาศัยอยู่ที่บ้านบรรพบุรุษของเธอเป็นเวลาสองปี แล้วย้ายไปฮ่องกงเป็นเวลาสองปีก่อนที่จะกลับมาประเทศไทย เมื่อเธออายุสิบขวบก็สามารถพูดภาษาจีนแคะ จีนกลาง และกวางตุ้งได้คล่อง”
ครั้งหนึ่งทักษิณเคยเข้าร่วม การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของ สมาคมเฟิงซุ่น ในประเทศไทย เมื่อพูดคุยกับผู้คนเขาเล่าว่า “เมื่อเขายังเด็ก แม่ของเขาเคยสอนให้เขาร้องเพลงกล่อมเด็กที่แพร่หลาย เป็นภาษาฮากกา ชื่อเพลงว่า แสงจันทร์ 月光光”
ตระกูลชินวัตร ตระกูลใหญ่ที่อยู่ในไทยมานาน 3 ชั่วอายุคน
สำหรับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอีกคนจากตระกูลนี้ ไป่ตู้ให้ข้อมูลว่ามีชื่อจีนเรียกว่า 丘英乐 ชิวหยิงเล่อ เธอและทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชาย เคยกลับไปเยี่ยมถิ่นบรรพบุรุษพร้อมกันสองครั้ง คือ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2557 เดินทางไปพร้อมกับทักษิณ เพื่อกลับไปยังบ้านบรรพบุรุษของพวกเขาในเมืองเหมยโจว และในวันที่ 5 มกราคม 2562 เดินทางกลับไปยังบ้านบรรพบุรุษของตนที่ เฟิงซุ่น เหมยโจว อีกครั้งเพื่อเยี่ยมญาติและสักการะบรรพบุรุษของพวกเขา
ไป่ตู้กล่าวถึงนายกรัฐมนตรีจากตระกูลชินวัตรคนปัจจุบัน คือ แพทองธาร ชินวัตร ว่า มีเชื้อสายจากฮากกา ตระกูลชินวัตร เดิมเป็นชาวฮากกาแซ่คิว จากกวางตุ้ง ประเทศจีน และอพยพมาอยู่ที่เชียงใหม่ ประเทศไทย ในคริสต์ศตวรรษที่19
ตามกฎหมายไทย ชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยสามารถเปลี่ยนนามสกุลเป็นภาษาไทยได้หลังจากผ่านไป 3 ชั่วอายุคน ดังนั้น ตระกูลชิวจึงเลือกนามสกุลไทยว่า "ชินาว่า (แปลว่า ชินาวา)" ซึ่งแปลว่า "ทำความดีตามกฎเกณฑ์" และได้บรรยายเรื่องราวประวัติความเป็นมาที่ค่อนข้างละเอียด มีบทหนึ่งที่กล่าวถึงการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยผ่านทาง “ประตูหลัง” 大学“走后门” ด้วยวิธีการพิเศษจนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชน
หมายเหตุ:
1) แซ่ ชิว เป็นภาษาจีนกลาง แต่ในสำเนียงใต้ออกเสียงว่า คู ประวัติตระกูลชินวัตรที่แพร่หลายแต่เดิมจึงเรียกชื่อ คูชุ่นเส็ง
2) นามสกุลชินวัตร ที่เปลี่ยนเป็นไทยเมื่อ พ.ศ. 2482 น่าจะมาจาก อักษร ช. และ ว. อันเป็นแซ่เดิมนั่นเอง
3) บทความนี้ประมวลจากบทความภาษาจีนต้นทางโดยใช้กูเกิ้ลทรานสเลทช่วยแปล อาจมีข้อบกพร่องจากขั้นตอนการแปลที่ไม่ครบถ้วน ขอให้สอบทานจากอ้างอิงด้านล่าง
อ้างอิง : baidu1, baidu2, baidu3, baidu4
..........................................
เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ