การฉ้อโกงขนมไหว้พระจันทร์ | พิเศษ เสตเสถียร
ขนมไหว้พระจันทร์ที่แสนอร่อยของปีนี้ กลับกลายเป็นการหลอกลวงออนไลน์ที่ผู้คนเสียเงินไปหลายล้านบาท
บทความเรื่อง That ‘too good to be true’ mooncake deal is probably a scam เขียนโดยคุณ Bertha Chan ใน Channel News Asia เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา รายงานว่า ที่สิงคโปร์ในเดือน ส.ค.เพียงเดือนเดียวก็มีเหยื่อ 27 ราย สูญเสียเงินอย่างน้อย 325,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 8,634,067 บาท) เนื่องจากถูกหลอกลวงให้ซื้อขนมไหว้พระจันทร์ทางออนไลน์
เมื่อเร็วๆ นี้ในเดือน ก.ย. ผู้หญิงคนหนึ่งได้สูญเสียเงิน 76,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 2,018,925 บาท) หลังจากดาวน์โหลดแอปของบุคคลที่สาม เพื่อซื้อขนมไหว้พระจันทร์ทางออนไลน์เช่นเดียวกัน ไม่ใช่แค่ขนมไหว้พระจันทร์เท่านั้น ยังมีกลโกงที่คล้ายกันเกี่ยวกับอาหารตามฤดูกาลและอาหารราคาแพง
เช่น ทุเรียนและอาหารทะเล กลยุทธ์การหลอกลวงเหล่านี้มักจะดึงดูดความสนใจผู้ซื้อผ่านข้อเสนอที่ “ดีเกินจริง” ซึ่งล่อลวงให้ผู้ซื้อคลิกลิงก์ที่เป็นอันตราย
ในประเทศไทยเรา ยังไม่เคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการหลอกลวงขายขนมไหว้พระจันทร์ (แต่ก็อาจจะมีก็ได้) การหลอกลวงขายของกฎหมายเรียกว่าเป็นการ “ฉ้อโกง” โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 341 ของประมวลกฎหมายอาญาว่า
“ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
แต่พอมาขายบนอินเทอร์เน็ต ก็มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา…"
เคยมีตัวอย่าง การจับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการหลอกขายบัตรคอนเสิร์ตของดารานักร้องชื่อดังให้ได้ยินอยู่เนืองๆ เช่น นักร้องแดนโสมทิพย์ (ใครหว่า?!?!) หรือแจ็กสัน หวัง และล่าสุดการขายบัตรคอนเสิร์ตของแบมแบม ก็ข่าวว่ามีพวกมิจฉาชีพที่เข้ามาหลอกขายบัตรผีอีกด้วย
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดเผยถึงวิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากการหลอกขายบัตรคอนเสิร์ตไว้หลายประการ เช่น เช็กบัตรคอนเสิร์ตก่อนทำการซื้อขายทุกครั้ง ตรวจสอบหมายเลขบัญชีธนาคารและชื่อผู้ขายทุกครั้ง เพื่อป้องกันการใช้บัญชีม้าสวมรอย ในระหว่างการซื้อขายให้บันทึกข้อมูลการสนทนา และรายละเอียดผู้ขายไว้ เพื่อเป็นหลักฐานในกรณีที่ถูกหลอก และนำข้อมูลเหล่านี้ไปแจ้งความได้ ฯลฯ
การมีกฎหมายว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้อาจจะเป็นเรื่องไม่ยาก แต่การเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษดูออกจะไม่ใช่เป็นของง่าย เพราะฉะนั้น เราจึงได้ยินแต่ข่าวเกี่ยวกับการเตือนการหลอกลวงออนไลน์กันอยู่ทุกวัน