คำพูด “ต้องห้าม” | วรากรณ์ สามโกเศศ
สำหรับมนุษย์คนหนึ่ง การมีความสัมพันธ์ที่ดีเป็นหัวใจของการประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัวและการงาน
ดังนั้น ทักษะในการจัดการความสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยาม “อารมณ์ระเบิด” ซึ่งมีการโต้เถียงกันและอาจนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ อีกได้
มีนักจิตวิทยาที่ให้คำแนะนำในการช่วยไม่ให้การโต้เถียงเกินเลยไปสู่ปัญหาที่รุนแรงขึ้นหรือไม่ให้เกิดขึ้นเลย ข้อแนะนำก็คือ ห้ามใช้คำพูดดังต่อไปนี้อย่างเด็ดขาด
“ฉันไม่เคยพูดอย่างนี้สักที” นี่คือประโยคสำคัญที่มักนำไปสู่การทะเลาะกันได้ง่ายที่สุดเพราะจะทำให้เกิดการโต้กลับของอีกฝ่ายว่า “ไม่จริง คุณพูด” จากนั้น “วิญญาณเด็ก” ก็เข้าสิง “คุณพูด” “ฉันไม่ได้พูด” เถียงกลับกันไปมาจนกว่าโลกจะสลาย
“คุณทำอย่างนี้เสมอเลย” หรือ “คุณไม่เคยทำอย่างนี้เลย” คำกล่าวหานี้มักมาจากการพูดแบบเหมารวมว่าต้องเป็นอย่างนั้น ๆ เสมออย่างเกินเลยความจริง เช่น ฝ่ายหนึ่งมารับอีกฝ่ายหนึ่งสายซึ่งไม่บ่อยนัก
แต่ก็พูดว่ามารับสายเสมอ อีกฝ่ายก็จะโต้เถียงกลับ จนอาจกลายเป็นเรื่องวิวาทได้ อีกเรื่องก็เช่น “คุณไม่เคยซื้อดอกกุหลาบในวันวาเลนไทน์ให้ฉันเลย” ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะบางปี (ที่ไม่ลืม) ก็ซื้ออยู่บ้าง
การพูดที่เกินเลยความจริงและเหมารวมนี้ เป็นต้นเหตุแห่งการเกิดการโต้เถียงได้ง่ายที่สุด
“เธอควรเป็นเหมือนอย่าง.......” หรือ “ทำไมเธอไม่เห็นเหมือน.......เลย” ประโยคนี้ทำลายความมั่นใจและการเห็นคุณค่าของตนเองของคู่สนทนาได้ ไม่ควรใช้ไม่ใช่เฉพาะระหว่างคู่ชีวิต คู่รัก พ่อแม่กับลูก พี่กับน้อง ฯลฯ เท่านั้น หากครอบคลุมไปถึงระหว่างเพื่อนสนิท ครูกับศิษย์ เจ้านายกับลูกน้องอีกด้วย ไม่มีใครในโลกนี้ชอบการถูกเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
มนุษย์ไม่เหมือนกัน แต่ละคนคืองาน “ชิ้นเอก” ของธรรมชาติ ถ้าต้องการทำลายความสัมพันธ์ละก็ ประโยคนี้ได้ผลที่สุด และจะได้ผลมากหากไม่ถูกฆ่าตายเสียก่อนถ้าพูดกับแฟนว่า “ทำไมคุณไม่เห็นเหมือนแฟนเก่าฉันเลย”
ประโยคนี้อาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความหึงหวง หรือความหมั่นไส้คนที่ถูกเอามาเปรียบเทียบด้วย (“ทำไมหุ่นคุณไม่ดีเหมือนแฟนไอ้อ๊อดเลย” “ทำไมลูกเรียนไม่เก่งเหมือนน้อยข้างบ้านเลย”) ประโยคเหล่านี้ทำให้เกิดความซวยแก่ “แฟนไอ้อ๊อด” และ “น้อย” และไม่เป็นธรรมแก่คนเหล่านี้ด้วย
“เรื่องนี้ไม่เคยเป็นเรื่องสลักสำคัญอะไรเลยกับแฟนเก่าของฉัน” หากอยากถกเถียงกันจนจะฆ่ากันตายก็จงพูดประโยคนี้ มันสร้างความโกรธให้พลุ่งขึ้นมาอย่างฉับพลัน
เพราะมันทำลายความไว้วางใจระหว่างกันได้ทันที (“อ๋อ ตลอดเวลาเขามองเราอย่างนี้หรือ”) ประโยคนี้จะนำไปสู่การขุดคุ้ยความผิดพลาดของฝ่ายหนึ่งและความไม่พอใจต่าง ๆ จากเหตุการณ์ในอดีตขึ้นมาทันที ถ้าคู่ชีวิตของคุณเป็นคนใจร้อนและความจำดี คุณจะเดือดร้อนได้มาก วลี “ระเบิด” นี้จงอยู่ให้ไกลที่สุด
ใช่นะ แต่ว่า” วลีนี้นำไปสู่การโต้เถียงเพราะ “ใช่” คือการยอมรับไปงั้น ๆ ข้ออ้างหรือคำอธิบาย หรือคำกล่าวหาอยู่ตรง “แต่ว่า”
เช่น “คุณไปรับลูกที่โรงเรียนสายใช่ไหมวันนี้” “ใช่ แต่ว่าคุณก็ไปรับสายเหมือนกันและบอกว่าเพื่อทำให้ลูกเข้มแข็ง จนลูกหกล้มหัวแตกตอนคอยคุณ” “ฉันไม่เคยพูดอย่างนั้นสักหน่อย” “คุณพูด” “ฉันไม่เคยพูด” “คุณพูด” “ฉันไม่เคยพูด” ฯลฯ
“ใจเย็น ๆ” วลีสั้น ๆ ที่ปลอบประโลมให้บรรยากาศเย็นลงนั้น บ่อยครั้งเปรียบเสมือนราดน้ำมันลงไปในกองไฟ มันกลับยิ่งทำให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น เพราะสำหรับฝ่ายตรงข้ามแล้วมันมีความหมายว่า “คุณบ้าไปแล้ว” กล่าวคือ ถ้าไม่บ้าแล้วจะบอกให้ “เย็นลง” ทำไม แทนที่จะพูดวลีนี้ คำแนะนำก็คือ “เราพักกันสักครู่นะ”
“เรื่องแค่นี้คุณอย่าดราม่าเกินไปนักเลย” การพูดเช่นนี้เหมายถึงการไปประเมินคนอื่นว่าเขา “เกินไป” มันเป็นการกล่าวหาซึ่งสร้างความไม่สบอารมณ์และนำไปสู่การโต้เถียงที่รุนแรงขึ้น โดยธรรมชาติแต่ละฝ่ายไม่ชอบการถูกกล่าวหาเพราะมันยั่วยุให้โกรธมากขึ้น
“ไม่เห็นเป็นเรื่องอะไรใหญ่โตเลย” คำกล่าวนี้ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าถูกทำให้ตัวเล็กลง คำพูดของเขามันไม่มีความสำคัญอะไรเลยหรือ เข้าใจว่าคนพูดต้องการให้ ตกลงกันได้เพราะมันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่สำหรับอีกฝ่ายหนึ่งมันหมายถึงการบอกว่าสิ่งที่เขาพูดไปมันไม่มีความหมาย และเป็นเรื่องเล็ก การพูดอย่างนี้ทำให้บรรยากาศร้อนแรงขึ้นแน่นอน
การไม่กล่าวคำพูดต้องห้ามเหล่านี้ช่วยให้ความร้อนแรงของการโต้เถียงซึ่งเป็นตัวบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลลดลง มันใช้ได้ทั้งระหว่างเพื่อน คู่ชีวิต คู่รัก พ่อแม่กับลูก ฯลฯ หรือไม่ยั่วยุให้เกิดด้วย
ชีวิตคนนั้นสั้นนัก อย่ามัวแต่ถกเถียงวิวาทกันเลย ไม่มีใครรู้ว่าจะตายจากกันเมื่อไหร่ หากเอาเวลาเหล่านั้นมาสร้างความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดความสุขในชีวิตกัน ผมว่าจะฉลาดกว่านะครับ