'พิธา' ไม่ลดเพดานแก้ 112 เลือกนายกฯพลิกขั้วได้ง่าย

'พิธา' ไม่ลดเพดานแก้ 112 เลือกนายกฯพลิกขั้วได้ง่าย

การออกมาแสดง “จุดยืน” ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล กรณีไม่ลดเพดานแก้ม.112 ทั้งยังยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ต่อรัฐสภา เติมเชื้อไฟเข้าไปอีก

รวมถึงข้อเสนอของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ผ่านเฟซบุ๊กหัวข้อ แก้ 272 ปิดสวิทช์ ส.ว. หากพวกเขายังไม่ยอมอีก ก็ถอยมาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน

มองในมุมนี้ ดูเหมือน ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ของ “พิธา” อาจไม่สำคัญเท่าแนวทางต่อสู้ทางการเมือง และ “อุดมการณ์พรรค” แล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ดูเหมือน “เกม” ของ “พิธา” และพรรคก้าวไกล พุ่งเป้าไปสู่ การชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ “ถล่มทลาย” ในการเลือกตั้งครั้งหน้าเรียบร้อย

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับ “พิธา” และพรรคก้าวไกล สามารถปลุกกระแสได้ว่า ถ้าต้องการ “รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย” จะต้องเลือกส.ส.เข้ามาแบบถล่มทลาย เท่านั้น จึงจะชนะเกมแห่งอำนาจ ของ “ฝ่ายเผด็จการ”

และอาจคาดหวังถึงขั้น สามารถจัดตั้ง รัฐบาลพรรคเดียว ได้ด้วย ถ้ากวาดส.ส.ได้กว่า 300 ที่นั่ง ขึ้นไป

แม้ว่า ยังยืนยัน ที่จะผลักดันให้มีการเสนอชื่อ “พิธา” เพื่อโหวตเลือกนายกฯรอบสองในวันที่ 19 กรกฎาคม อีกครั้ง หลังจากไม่ผ่านการโหวตของรัฐสภาในรอบแรก

ด้วยเหตุนี้ การเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ละย่างก้าว จึงน่าจับตามอง

โดยเฉพาะ สิ่งที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาล หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในที่ประชุมหาทางออกเกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกฯ ว่า ในการโหวตรอบสอง “พิธา” อาจมีคู่แข่ง จากขั้วตรงข้าม โดยเฉพาะ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคพลังประชารัฐ

เพราะถ้า พล.อ.ประวิตร ถูกเสนอชื่อแข่งขันกับ “พิธา” โอกาสที่ ส.ว. 250 คน (เสียงส่วนใหญ่) บวกกับ 188 เสียง ของพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิม เชื่อว่า เกิน 376 เสียงแน่นอน นี่คือข้อกังวลใจ และฝากให้แต่ละพรรคนำกลับไปเป็นการบ้าน ก่อนจะมาเจอกันอีกครั้งในวันที่ 18 กรกฎาคม ก่อนโหวตเลือกนายกฯรอบสอง

นั่นแสดงว่า 7 พรรคร่วม ที่ถูก “ก้าวไกล” ผูกมัด ด้วยโซ่ตรวนเส้นใหญ่ “รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย” เอาไว้แต่ต้น จำเป็นต้องดัน “พิธา” อย่างสุดฤทธิ์สุดเดช เท่าที่มีช่องทางจะเป็นไปได้

โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย แม้ความเป็นจริง สามารถจัดตั้งรัฐบาลแข่งได้ เพราะมีเสียงห่างกันแค่ 10 เสียง แต่ด้วยพันธกิจที่ผูกมัดกันมาตั้งแต่เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน และจับขั้ว “ฝ่ายประชาธิปไตย” ในการต่อสู้ทางการเมือง จนส่งผลให้การเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ประชาชนเทคะแนนให้ ฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งอย่างชัดเจนจึงต้องเล่นบทเสียสละให้พรรคที่ชนะอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาล และสนับสนุนเต็มที่ในการจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย แม้มีความเห็นต่างบางเรื่อง มีความขัดแย้ง ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร จน “ด้อมแดง” บางกลุ่ม ออกมาเรียกร้องให้ถอนตัวจากการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค และจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคก้าวไกล และก็ยังเรียกร้องมาจนถึงวันนี้

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่จะมีกระแสข่าวมาตลอดว่า พรรคเพื่อไทย อาจโดดข้ามฟาก จับมือกับบางพรรคในฝ่ายรัฐบาล “ปัจจุบัน” จัดตั้งรัฐบาล เพื่อ “ผ่าทางตัน” ที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ จะไม่โหวตให้รัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย ตราบที่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล เพราะมีแนวคิดแก้ไขป.อาญา ม.112 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วย เรื่องหมิ่นสถาบันเบื้องสูง    

หรือ แม้แต่กระแสข่าวว่า “เพื่อไทย” มีแผนที่จะโดดข้ามฟากอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องดัน“พิธา” เป็นนายกฯให้ถึงที่สุดก่อน และทำให้ประชาชนเห็นถึง “ทางตัน” จริงๆ จึงจะหาเหตุผลอันชอบธรรม จับมือจัดตั้งรัฐบาลกับคนที่มีอิทธิพลต่อส.ว.สูง อย่างพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรคพลังประชารัฐ โดยอาจเสนอชื่อ “บิ๊กป้อม” เป็นนายกฯ เพื่อไม่ให้มีปัญหากับการ “ผ่านด่านส.ว.” นัยว่า แผนนี้มีเงื่อนไขพ่วง ดูแล “ทักษิณ” กลับบ้านด้วย?

รวมทั้ง นักวิเคราะห์หลายคน มีความเห็นตรงกันว่า “เพื่อไทย” ไม่น่าจะมีความสุขที่ได้ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ซึ่งตั้งเงื่อนไขผลักดันหลายเรื่องที่ขัดแย้งกัน และเป็นการกดดันพรรคร่วมให้ทำตาม โดยส่วนใหญ่เนื่องมาจากเป็นแนวทางต่อสู้ทางการเมืองของพรรคก้าวไกลนั่นเอง

ทั้งหมดอยู่ที่พรรคก้าวไกล ว่าจะยึดเหนี่ยวพรรคเพื่อไทยเอาไว้ได้นานแค่ไหน ด้วยข้อต่อรองอะไร ขณะเดียวกัน ก็อยู่ที่พรรคเพื่อไทย จะอดทนต่อความดื้อรั้นของพรรคก้าวไกล ในการเอาตัวเอง เป็น “ศูนย์กลาง” ทุกอย่างได้นานแค่ไหน หรือใครจะเป็นฝ่าย“ปล่อยมือ” ก่อน เท่านั้น

ไม่แน่เหมือนกัน กรณี “ก้าวไกล” เดินหน้าเกมของตัวเองอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ทั้งการผลักดันแก้ไข ป.อาญา ม.112 ให้ได้ ตาม “พันธกิจ” ที่ให้ไว้กับมวลชน “3 นิ้ว” และการขยายปมขัดแย้งกับ “ส.ว.” กรณียื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ อาจเป็น “เงื่อนตาย” ที่ทำให้รัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำหรือ รัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล ไม่ผ่านการโหวตเลือกนายกฯ จนเป็นทางเลือกสุดท้าย ให้พรรคเพื่อไทยต้องปล่อยมือจากพรรคก้าวไกลในที่สุด และตัดสินใจง่ายขึ้นที่จะข้ามฟากไปจับมือกับบางพรรคในขั้วตรงข้าม  

ที่น่าสนใจ นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol วิเคราะห์ว่า “ลุงป้อมจะเป็นนายก?

1. ในการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในคราวหน้า ประธานจะเปิดให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตาม "วาระเลือกนายกรัฐมนตรี" ต่อไป

"วาระให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี" ไม่ใช่ "วาระพิจารณาญัตติ" ซึ่งเป็นคนละประเภทกัน

การโมเมมั่วว่า "วาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี" เป็นญัตตินั้น สุดจะทุเรศและไม่เข้าท่า!!!!

จากนั้นก็จะปิดการเสนอชื่อ และเป็นขั้นตอนการโหวตลงคะแนนโดยเปิดเผย!

ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี จะมีคนเดียวหรือมากกว่า ก็ได้

2. แว่วข่าวว่า 8 พรรคการเมืองจะเสนอชื่อ นายพิธา

และจะมีพรรคการเมืองอื่นเสนอชื่อลุงป้อมด้วย!!!

ในกรณีนี้ลุงป้อมจะได้รับความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี!!!!

ผู้กองธรรมนัสและนายสันติ จะเป็นผู้จัดการรัฐบาล ขับเคลื่อน "นโยบายก้าวข้ามความขัดแย้ง เดินหน้าประเทศไทย" ทันที และรีบออก "พระราชกำหนดเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ" 

3. ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่แตกแถวไปร่วมรัฐบาลกับลุงป้อม ก็จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือรัฐบาลงูเห่า โดยพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ จะต้องตระบัดสัตย์ เป็นครั้งที่ 2

ถ้าพรรคเพื่อไทยแตกแถวไปร่วมรัฐบาลกับลุงป้อม พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคก้าวไกล จะเป็นฝ่ายค้าน!!!!

ส่วนรัฐบาลผสมจะมี พรรคพลังประชารัฐ เพื่อไทย ภูมิใจไทย ชาติไทย ประชาชาติ และเสรีรวมไทย

4. ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่แตกแถว รัฐบาลลุงป้อมก็จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ในวันถวายสัตย์เข้ารับหน้าที่ ฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นเสียงข้างมากก็จะยื่นเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจในข้อหาเป็นปรปักษ์ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และฝ่ายค้านก็ใช้คนเพียง 3 คนอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วลงมติในวันรุ่งขึ้น รัฐบาลก็จะถูกขับไล่ออกไป

ประธานรัฐสภาก็ต้องจัดประชุมรัฐสภาเลือกนายกฯต่อ และจะเป็นอย่างนี้ไปจนกว่าส.ว.จะหมดวาระหรือถูกปิดสวิทช์

สถานการณ์ล่าสุด พรรคเพื่อไทย อาจจะไม่แตกแถว เพราะพวกหิวแสงทำไก่ตื่นเสียก่อน

มีการส่งข่าวกันให้เตรียมถล่มพรรคเพื่อไทย หลังจาก นายพิธา ไม่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ และจะเดินเครื่องยุบพรรค ซึ่งเตรียมไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์66 ทันที!

และนักไสยศาสตร์ก็ปูดข่าวเสียเองว่า เมื่อคุณทักษิณกลับเมืองไทย ก็ต้องติดคุกตลอดไป เพราะไม่อยู่ในข่ายได้รับการผ่อนผัน ซึ่งไม่เป็นไปตามดีลลับ

ข้อสำคัญ สายจันทร์ส่องหล้า ไม่เชื่อว่าดีลลับจะเป็นความจริงเพราะบทเรียน 18 ปี ที่ถูกไล่ล่า ถูกยึดทรัพย์ ถูกจำคุก ไม่มีวันลืมเลือนได้ ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

จุดที่น่าโฟกัส จากการวิเคราะห์ของ “ไพศาล พืชมงคล” ก็คือ การมี “บิ๊กป้อม” เข้ามาเป็นตัวเลือกหรือไม่ ในการโหวตเลือกนายกฯรอบสอง และจะจบลงในรอบนี้หรือไม่

 

ถ้ามีชื่อ “บิ๊กป้อม” และรัฐสภา โหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี(ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน 188 เสียง บวก ส.ว.ส่วนใหญ่) ในขณะที่มีส.ส.อยู่ในมือแค่ 40 เสียง ก็เท่ากับว่า เป็นการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยทันที จึงเป็นไปได้หรือไม่ ที่พรรคพลังประชารัฐ จะประสานดึง“เพื่อไทย” เข้าร่วม รัฐบาล เพื่อให้มีเสถียรภาพมากขึ้น

อย่าลืมว่า การประกาศวางมือทางการเมืองของ “บิ๊กตู่”  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่ากับไม่มีเงื่อนไขที่ “เพื่อไทย” เคยตั้งเอาไว้ว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับ พรรคที่มีพล.อ.ประยุทธ์ ต่างจากพรรคก้าวไกล ที่ตั้งเงื่อนไขเอาไว้ “มีลุง ไม่มีเรา มีเรา ไม่มีลุง” ซึ่งหมายถึงทั้ง ลุงป้อม ลุงตู่ และถ้าพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมรัฐบาล ก็จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากที่แข็งแกร่งขึ้นมาทันควัน  

หรือ อาจเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่มี “งูเห่า” อยู่ในพรรคฝ่ายตรงข้าม เพราะอย่าลืมว่า ถ้า “เพื่อไทย” ไม่ได้เป็นรัฐบาล ส.ส.เขต ที่ว่ากันว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ใช้ทุนตัวเอง พรรคจะรักษาเอาไว้ได้ดีแค่ไหน?

ที่น่าจับตามอง ก็คือ การเคลื่อนไหวของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กรณีแต่งตั้งร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธานผู้ประสานงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในท่ามกลางวิกฤติเลือกนายกฯของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล จนถูกมองว่า คล้ายกับบทบาทเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร จุดเปลี่ยนที่จะทำให้การโหวตเลือกนายกฯพลิกขั้วได้ง่ายก็คือ การยืนยันไม่ลดเพดานแก้ม.112 ของพรรคก้าวไกล เพราะเท่ากับเป็นการเปิดทางให้กับคู่แข่ง อย่าง “บิ๊กป้อม” โดยไม่ต้องยื้อแย่งอะไรมาก

เหนืออื่นใด ที่ไม่อาจคาดเดาก็คือ รัฐบาลจะอยู่ได้นานแค่ไหน ความวุ่นวายในบ้านเมืองจะนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงหรือไม่ เรื่องนี้ “ส.ส.-ส.ว.” ต่างรู้ดี อยู่ที่จะปล่อยให้เกิดขึ้นหรือไม่?