แจกเงินดิจิทัล VS กระแสต้าน 'ปีศาจจำนำข้าว' ก็เอาไม่อยู่?
พูดถึงนโยบายประชานิยมสำหรับคนไทย มีกระแสสองด้านเสมอ ด้านหนึ่งคนจน คนชนบท ชาวนาชาวไร่ ผู้มีรายได้น้อย ตั้งหน้าตั้งตารอที่จะเป็นผู้รับ เพื่อบรรเทาเบาบางทุกข์ร้อน อีกด้าน มีกระแสต้านจาก “ผู้รู้” นักวิชาการ กลุ่มปัญญาที่เป็นห่วงความเสียหาย ใช้งบประมาณสูง ได้ไม่คุ้มเสีย
นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน งบฯ 560,000 ล้านบาท ของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ก็เช่นกัน
เช่นเดียวกันกับ ต้นตำรับ “ประชานิยม” หลายนโยบาย ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรและพรรคไทยรักไทย จนมาถึงพรรคเพื่อไทย มีทั้งที่น่าจดจำและไม่น่าจดจำ
สำหรับ “นโยบายแจกเงินดิทัล” จนถึงวันนี้ แม้จะมีกระแสต้านอย่างร้อนแรง และทรงพลังจากหลายฝ่าย แต่รัฐบาลเศรษฐา ก็ยังคงยืนยันจะเดินหน้าโครงการ โดยไม่มีการทบทวน หรือ ยกเลิก เพราะเป็นนโยบายหลักที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียง จากสโลแกน “คิดใหญ่ ทำเป็น” รวมทั้งคาดหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้าให้ขยายตัว 5-6% ทั้งนี้ได้แต่งตั้งบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต เร่งพิจารณาหาแหล่งเงินแล้ว ก่อนจะเริ่มแจก 1 ก.พ. 2567 ผ่าน “เทคโนโลยีบล็อกเชน”(ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง)
ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุด “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรียังชี้แจงแหล่งที่มาของเงินว่า มีทางเลือก 3 ทาง หลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการก่อหนี้อย่างเข้มข้น
ทางเลือกที่ 1 คือ การบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 โดยปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น รวมทั้งการขอให้เลื่อนหรือชะลอโครงการหรือการซื้อของขนาดใหญ่ออกไปแล้วรัฐบาลเติมเงินบำรุงรักษาให้
ทางเลือกที่ 2 ใช้เงินนอกงบประมาณ โดยให้หน่วยงานของรัฐออกเงินให้ก่อน รัฐบาลอาจใช้ช่องทางนี้ในการจัดหาแหล่งเงินทุน 2-3 แสนล้านบาท หากเลือกวิธีนี้ต้องขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 แต่ขยายเท่าใดจะขึ้นอยู่กับว่าใช้เงินจากช่องทางนี้แค่ไหน แต่มีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาคืนให้ชัดเจน โดยหลักการแล้วหน่วยงานของรัฐเหล่านี้รัฐบาลถือหุ้นเต็ม 100% เท่ากับว่า หนี้ที่รัฐบาลกู้ยืมมาเป็นหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันทั้ง 100% ที่สำคัญรัฐบาลได้เตรียมแผนรองรับใช้หนี้ทุกปีงบประมาณ เช่น ปีละ 1 แสนล้าน และจะใช้หมดภายใน 3 ปี หากดูจากขนาดของงบประมาณปีละกว่า 3.3 ล้านล้านบาท มั่นใจว่าสามารถบริหารและใช้คืนเงินกู้ในส่วนนี้ได้อยู่แล้ว
“เหมือนในอดีตที่รัฐใช้เงินทำกองทุนหมู่บ้านก็ไปเอาเงินของธนาคารออมสินมา74,000 ล้านบาท และตั้งงบใช้หนี้คืนปีละ 1 หมื่นกว่าล้าน เป็นเวลา 7 ปี ถ้ามีแผนใช้คืนหนี้ที่ชัดเจนก็จะไม่กระทบกับเครดิตเรตติ้งของประเทศ มีทางที่จะหาเงินมาคืนได้แน่นอน เพราะรัฐบาลบริหารเงินเป็น และไม่ได้ทำให้การคลังของประเทศเสียหาย”
ทางเลือกที่ 3 คือ การกู้เงินโดยตรง ขณะนี้ยังไม่ได้ดูช่องทางนี้ จริงๆแล้วสามารถกู้ได้เพราะว่าตอนนี้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 60% ขณะที่เพดานอยู่ที่ 70% ทั้งขนาดของจีดีพีอยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท เท่ากับว่ามีช่องที่จะกู้เงินตรงนี้อยู่ 1.7 ล้านล้านบาท และถ้าจีดีพีโตยิ่งมีพื้นที่หายใจมากขึ้นอีก
ส่วนกระแสต่อต้านหรือคัดค้านที่ถือว่า ทรงพลังที่สุด ก็เห็นจะเป็น แถลงการณ์ 99 นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ เพราะมีบุคคลสำคัญ อย่าง ดร.วิรไท สันติประภพ-ดร.ธาริษา วัฒนเกส 2 อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ มี รศ.ดร.อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ดร.บัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร จาก ทีดีอาร์ไอ ร่วมลงชื่อด้วย ที่สำคัญ มีการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก“นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” (6 ต.ค.)
เหตุผลโดยสรุป คือ 1) เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยสำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.8 ในปี 66 และขยายตัวร้อยละ 3.5 ในปี 67 จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา มีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ ในไตรมาส 2 ของปีนี้ การบริโภคขยายตัวถึงร้อยละ 7.3 นับว่าสูงสุดในรอบ 20 ปี สูงกว่า 2 เท่าของค่าเฉลี่ย 10 ปี คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 6.1 และ 4.6 ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐ เพื่อสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออก
นอกจากนี้ การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ อาจทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีกหลังจากเงินเฟ้อได้ลดลงจากร้อยละ 6.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง การกระตุ้นการบริโภคช่วงนี้ อาจทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (inflationexpectation) สูงขึ้น นำไปสู่สภาวะขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด
2) เงินงบประมาณของรัฐมีจำกัด ย่อมมีค่าเสียโอกาส การใช้เงินจำนวนมากถึง560,000 ล้านบาท อาจทำให้รัฐเสียโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digital infrastructure หรือการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ล้วนสร้างศักยภาพในการเจริญเดิบโตในระยะยาว แทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป ค่าเสียโอกาสสำคัญคือการใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน
3) การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัว โดยรัฐแจกเงิน560,000 ล้านบาท เข้าไปในระบบ เป็นการคาดหวังเกินจริง เพราะปัจจุบันข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง(fiscal multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลัง สำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของภาครัฐ
ผู้กำหนดนโยบายหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งเลื่อนลอย ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินงอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า ไม่ว่าจะแอบซ่อนมาในรูปใดก็ตาม สุดท้ายประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น หรือราคาสินค้าแพงขึ้นเพราะเงินเฟ้อ อันเนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงิน
4) ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น เริ่มตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตร หรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจ หรือกู้สถาบันการเงินของภาครัฐ ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หนี้สาธารณะของรัฐ ปัจจุบัน 10.1 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 61.6 ของ GDP ต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องชำระคืนหรือกู้ใหม่ จึงมีผลต่อภาระเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปี โดยยังไม่นับเงินค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาทนี้ด้วย
5) ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศต่างจำเป็นต้องการขาดดุลการคลังและสร้างหนี้จำนวนมาก เพื่อใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข กระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลายประเทศได้แสดงเจตนารมณ์ที่ฉลาดรอบคอบ โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (fiscal consolidation) เพื่อสร้าง ‘พื้นที่ว่างทางการคลัง’ (fiscal space) เอาไว้รองรับวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต
นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยมีอัตราส่วนรายรับจากภาษี เพียงร้อยละ 13.7 ของรายได้ประชาชาติ(GDP) ถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ มาก การทำนโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบระมัดระวัง และไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (creditrating) ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทยสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย
6) การแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง เศรษฐีและมหาเศรษฐี ที่อายุเกิน 16 ปี ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น
7) เมื่อประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภาระการใช้จ่ายด้านสวัสดิการและสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกลจึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด
“ด้วยเหตุผลต่างๆนี้เอง นักวิชาการ และคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้นั้นน้อยกว่าต้นทุนที่เสียไป และสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว และควรทำแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ผู้มีรายได้น้อย ไม่เหวี่ยงแหครอบคลุมคนทุกกลุ่ม”
นอกจากนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ยังมีมติตั้งคณะกรรมการศึกษา คู่ขนาน เพื่อเสนอปัญหาต่อรัฐบาล ถึงการทุจริตคอร์รัปชันที่จะเกิดขึ้นด้วย คล้ายที่เคยทำกับโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรซึ่งผลก็คือ ป.ป.ช.เตือนแล้วแต่รัฐบาลไม่ฟัง จึงนำมาสู่การเอาผิดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วย
อย่าลืมว่า โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่เพียงทำให้ “ยิ่งลักษณ์” อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องหนีโทษ ระหกระเหินอยู่นอกประเทศ รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลถูกตัดสินจำคุกคนละหลายสิบปี ข้าราชการระดับสูงติดร่างแหไปด้วยมากมาย จนมีบทเรียนเป็น “อภิมหาประชานิยม” ที่ไม่น่าจดจำของพรรคเพื่อไทยมาแล้ว
หากแต่ยังสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมหาศาล และยังคงเป็นหนี้ผูกพันมาจนถึงทุกวันนี้
ข้อมูลจาก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) ที่เผยแพร่ “รายงาน 10 ปีคดีโกงของนักการเมืองไทย” ผ่านเวบไซต์และเฟซบุ๊กองค์กร (17 เม.ย.2566) ระบุชัดเจนตอนหนึ่งว่า
“คดีที่ระบุได้ว่าสร้างความเสียหายให้ประเทศมูลค่าสูงสุดในรอบสิบปี ได้แก่ คดีโครงการจำนำข้าว (มูลค่า 1.3 แสนล้านบาท) ตามด้วยคดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน(มูลค่า 2.49 หมื่นล้านบาท) ไม่เพียงเท่านั้น เฉพาะ 8 คดีที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและฮั้วประมูลมีมูลค่าความเสียหายรวมกัน ราว 5.2 หมื่นล้านบาท”
นี่คือ บทเรียนราคาแพง “ภาพปีศาจร้าย” ของโครงการ “อภิมหาประชานิยม” ที่ตามมาหลอกหลอนโครงการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลเศรษฐา แม้ยังไม่เริ่มโครงการด้วยซ้ำและแม้ไม่อาจชี้ชัดได้ว่า ผลจากการดำเนินโครงการจะย่ำรอยกันหรือไม่
แต่ถึงกระนั้น การที่ประชาชนจำนวนหนึ่งต้องการอย่างสูง เพราะมันคือ สิ่งหล่อเลี้ยงชีวิต ต่อลมหายใจที่ทุกข์เข็ญลำเค็ญออกไปได้ อย่างน้อยก็ผ่อนหนักเป็นเบา ยิ่งแทบพูดได้ว่า เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบเหตุผลที่รัฐบาลอ้างกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาล การเดินหน้าโครงการ จึงมีทั้งเสียงคัดค้านและสนับสนุนต่อสู้กัน ที่รัฐบาลจะต้องชั่วน้ำหนัก
ยิ่งกว่านั้น ที่ต้องไม่ลืม แม้แต่โครงการรับจำนำข้าว ที่หลายคนโจมตีว่า “ล้มเหลว” สร้างความเสียหายให้ประเทศมหาศาล แต่สำหรับชาวบ้าน ประชาชนรากหญ้า กลับชอบและเชียร์ เพราะมันเป็นทางเดียวที่ช่วยให้ขายข้าวได้ราคา ไม่ถูกกดขี่จากพ่อค้าคนกลาง เพียงแต่มีปัญหาการบริหารจัดการ และทุจริตคอร์รัปชัน ของนักการเมือง ถ้าตัดปัญหาดังกล่าวออกไปได้ ไม่แน่โครงการรับจำนำข้าว อาจดูดีมีราคามาถึงทุกวันนี้ก็เป็นได้
อาจด้วยเหตุนี้ แม้ว่าจะมีกระแสต้านจากคนบางส่วน แต่พรรคเพื่อไทย เชื่อมั่นในสิ่งที่จะได้รับในทางการเมืองว่า ได้คุ้มกว่าเสียแน่นอน
แม้ว่า โครงการรับจำนำข้าว จะตามมาหลอกหลอน แต่คำถามคือ หลอกหลอนใคร? หลอกหลอนคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามใช่หรือไม่ เพราะพรรคเพื่อไทย ไม่เคยยอมรับว่าโครงการรับจำนำข้าวล้มเหลวเลยแม้แต่น้อย
ดังนั้น พรรคเพื่อไทย จึงไม่กลัว และไม่หลอน กับ “ความเสียหาย” จากโครงการรับจำนำข้าว ที่ถูกโจมตี หากแต่พร้อมเดินหน้าสวนกระแสต้าน “แจกเงินดิจิทัล” อย่างท้าทาย และเต็มสูบ
ที่สำคัญยิ่งเหนือสิ่งใด เพราะรู้ผลลัพธ์อยู่แล้วว่า กระแสชาวบ้านรากหญ้า คนยากคนจน จำฝังใจแน่นอน?