อำนาจ 'คนตุลา' โฟกัส 'อ้วน-มิ้ง' สหายบ้านจันทร์

อำนาจ 'คนตุลา' โฟกัส 'อ้วน-มิ้ง' สหายบ้านจันทร์

51 ปี 14 ตุลา ฟ้าสีทองผ่องอำไพ “สหายใหญ่-ภูมิธรรม” นั่งกลาโหม “สหายจรัส-พรหมินทร์” รับบทนายกฯน้อย

เหมือนฉายหนังซ้ำ 2544 อ้วน-มิ้ง มือกระบี่คู่บารมีทักษิณ 2567 คู่แฝดสหายจันทร์ขันอาสาคุ้มครองแพทองธาร

23 ปีที่แล้ว ทักษิณ ชินวัตร นำพรรคไทยรักไทย ชนะเลือกตั้ง และก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สร้างความตื่นตาตื่นให้แก่คนเดือนตุลา ด้วยการแต่งตั้ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นเลขานุการรัฐมนตรีมหาด ไทย (ร.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์)

พ.ศ.โน้น “คนเดือนตุลา” ยังเป็นหนึ่งเดียว แม้ก่อนหน้านั้น จะเคยมีคนตุลาอย่าง อดิศร เพียงเกษ และชำนิ ศักดิ์เศรษฐ เป็นรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลชวน แต่คนรุ่น 14 ตุลา และคนรุ่น 6 ตุลา ก็ไม่ตื่นเต้นเท่ากับคู่หูอ้วน-มิ้ง เป็นขุนศึกข้างกายทักษิณ

เนื่องจากสหายคง-เสถียร เสถียรธรรมะ (เสถียร เศรษฐสิทธิ์) อดีตหมอทหารเขตงานอีสานใต้ เป็นเจ้าของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง พระราม 3 จึงเลี้ยงฉลองตำแหน่งให้แก่สหายจรัส-หมอมิ้ง และสหายใหญ่-ภูมิธรรม เมื่อค่ำวันที่ 28 ก.ค. 2544

นอกจากเสถียร ก็ยังมีคนเดือนตุลาในนาม “สโมสร 19” (กลุ่มนักศึกษาที่เคยเข้าป่าอีสานใต้) ร่วมเป็นเจ้าภาพเลี้ยงสองสหายค่ายชินวัตร ด้วยความปิติยินดี

นัยว่า ปีนี้คงไม่มีงานเลี้ยงฉลองตำแหน่ง รมว.กลาโหมหรือนายกฯน้อย ไม่มีความตื่นเต้นใดๆในหมู่คนตุลา เพราะความแตกแยกทางความคิด ตั้งแต่สมัยแบ่งขั้วเหลือง-แดง ลามไปถึงยุคนกหวีดปะทะแดง

อำนาจ \'คนตุลา\' โฟกัส \'อ้วน-มิ้ง\' สหายบ้านจันทร์

วันนี้ คนตุลาส่วนใหญ่เลือกข้างฝั่งประชาธิปไตย ไม่หนุนรัฐบาลข้ามขั้ว และสนับสนุนพรรคประชาชน แต่มีคนตุลาบางส่วนที่ยังยืนในฝั่งอนุรักษนิยม

ปัจจุบัน หมอมิ้ง วัย 70 ปี และอ้วน ภูมิธรรม วัย 71 ปี ช่วงวัยรุ่นอายุ 21-22 ปี เป็นแกนนำนักศึกษาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย เข้าป่าจับปืน และเริ่มทำงานการเมืองช่วงวัยกลางคน 

ซ้ายมหิดล

ช่วงปี 2518-2519 หมอมิ้ง-นพ.พรหมินทร์ เรียนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กระโจนเข้าทำกิจกรรมกับขบวนการนักศึกษาเต็มตัว 

ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 หมอมิ้ง ในฐานะเลขาธิการพรรคแนวร่วมมหิดล เป็นหนึ่งในแกนม่วง-เหลือง ร่วมกับตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งแกนม่วง-เหลือง เปรียบเสมือนคณะเสนาธิการขบวนการนักศึกษาต่อสู้เผด็จการในยุคนั้น

“...ขณะที่เขายิงกัน ผมก็โทรไปที่โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามา เพื่อขอรถพยาบาลมาช่วยคนเจ็บ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ผมถูกถามจากปลายสายว่า คุณเป็นใคร ผมก็บอกว่า ผมเป็นศึกษาแพทย์ปี 4 ชื่อนี้ชื่อนี้ ผู้อำนวยการมารับสาย...ผมก็บอกไปว่า เรากำลังโดนอาวุธหนักโดยที่เรามือเปล่า เขาบอกพวกคุณก็มีอาวุธหนัก ซึ่งผมฟังแล้ว ผมถึงกับน้ำตาไหล”

หลังการล้อมในธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หมอมิ้งก็เดินทางเข้าสู่ป่าเขาทางเขตงานอีสานใต้ มีชื่อจัดตั้งว่า “สหายจรัส”

ผู้บุกเบิกชินคอร์ป

ปี 2528 ออกจากป่าก็กลับไปเรียนต่อจนจบ หมอมิ้งเลือกรับราชการ เป็น ผอ.รพ.หนองสองห้อง และ รพ.พล จ.ขอนแก่น

ปี 2536 มีคนมาชักชวนให้ไปทำงานกับทักษิณ หมอมิ้งจึงลาออกจากหัวหน้าฝ่ายแผนงานสาธารณสุข กองแผนงานสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข

อำนาจ \'คนตุลา\' โฟกัส \'อ้วน-มิ้ง\' สหายบ้านจันทร์

เริ่มจากเป็นผู้จัดการอาวุโสพัฒนาธุรกิจ บมจ. อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น และตำแหน่งสุดท้ายคือ ซีอีโอบริษัท ชินแซทเทิลไลท์ คอมมิวนิเคชั่นส์ 

ปี 2541 เมื่อทักษิณเดินหน้าสร้างพรรคไทยรักไทย หมอมิ้งจึงลาออกจากชินแซทฯ มาทำงานการเมือง เข้าประจำการที่ตึกชินวัตรคอมพิวเตอร์ สี่แยกราชวัตร

บนเส้นทางอำนาจ หมอมิ้งเคยเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 2 รอบ(สมัยนายกฯทักษิณ) นอกจากนี้ยังเป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน 

ซ้ายจุฬาฯ

เดิมอ้วน ชื่อ วัฒนชัย เวชยชัย มีเพื่อนรักชื่อ เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ ทั้งคู่จบจากโรงเรียนทวีธาภิเษก และสอบเข้าเรียนรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทั้งคู่ร่วมกันก่อตั้งพรรคจุฬา-ประชาชน พรรคปีกซ้ายในจุฬาฯ มาตั้งแต่ปี 2517

ช่วงการชุมนุมขับไล่จอมพลถนอมที่ลอบเข้าไทย 4-6 ต.ค.2519 อ้วน ภูมิธรรม อยู่ในทีมประเมินข่าวประเมินสถานการณ์การล้อมปราบนักศึกษาที่ชุมนุมในธรรมศาสตร์ 

อำนาจ \'คนตุลา\' โฟกัส \'อ้วน-มิ้ง\' สหายบ้านจันทร์

วันที่ 5 ต.ค.2519 ฝ่ายขวาจัดปลุกระดมผ่านวิทยุยานเกราะ มีสัญญาณการล้อมปราบ “มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะสั่งการว่าจะเลิกหรือไม่เลิกชุมนุม ตอนนั้นบนตึก อมธ. ก็ประชุมกันอยู่..มีทั้งฝ่ายที่อยากให้สลาย กับฝ่ายที่ไม่อยากให้สลาย”

ที่ประชุมแกนนำนักศึกษา สรุปว่าจะสลายตัวกันในเช้าวันที่ 6 ต.ค. แต่ฝ่ายขวาจัดและกำลัง ตชด.ก็ระดมยิงปืนใส่นักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ในสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ฟ้าสาง

หลังเหตุการณ์วันนั้น อ้วนเดินทางไป อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตอีสานใต้ มีชื่อจัดตั้งว่า “สหายใหญ่” ก่อนจะถูกส่งตัวไปทำหน้าที่ขับรถให้สหายนำ ที่สำนักเอ 30 แขวงหลวงน้ำ สปป.ลาว

นักปั้นพรรคไทยรักไทย

ปี 2523 สหายใหญ่คืนเมือง ไปเรียนต่อจนจบ อ้วน ภูมิธรรม เลือกทำงานเอ็นจีโอในนามโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (คอส.) และเป็นพี่ใหญ่เอ็นจีโออยู่ 10 ปี จึงโบกมือลา 

อ้วนมองว่า คำตอบไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้าน อยากเปลี่ยนประเทศต้องเล่นการเมือง เริ่มจากชวนเพื่อนคนเดือนตุลา ก่อตั้ง “พรรคประชาธรรม” แต่ไปไม่รอดเพราะไม่มีทุน

อำนาจ \'คนตุลา\' โฟกัส \'อ้วน-มิ้ง\' สหายบ้านจันทร์

ปี 2537 ทักษิณ ชินวัตร คิดการใหญ่ตั้งพรรคการเมือง จึงเรียก อ้วนและเพื่อนไปคุย โดยมอบให้ทีมอ้วนซุ่มศึกษาว่าด้วยการสร้างพรรคมวลชน เดินแนวทางปฏิรูป

สมัยรัฐบาลทักษิณ อ้วน ภูมิธรรม เคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีมหาด ไทย (ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์) และได้ทำงานร่วมกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เพื่อนรัก ร.ต.อ.ปุระชัย ที่มาประจำการหน้าห้องรัฐ มนตรี

รัฐบาลทักษิณ 2 อ้วนเป็น รมช.คมนาคม พ่วงรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และถูกเว้นวรรค 5 ปีเพราะพรรคถูกยุบ

เมื่อ 23 ปีที่แล้ว อ้วน ภูมิธรรม ได้อธิบายเรื่องคนเดือนตุลามาทำงานให้ไทคูนสื่อสารว่า “คนรวยที่ศึกษาทฤษฎีการเมือง มันก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง...เมื่อคุณทักษิณมาคบหาคนเดือนตุลา ย่อมได้รับอิทธิพลความคิดอุดมการณ์เพื่อส่วนร่วมจากคนรุ่นนี้”