ร้อนรุ่มด้วยโลกร้อน

ร้อนรุ่มด้วยโลกร้อน

ความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในปี 2023 นอกจากปัจจัยเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง และจบอย่างไร ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง

โดยเฉพาะเรื่องของภาวะโลกร้อนที่เราได้รับผลกระทบมากขึ้นทุกปี จนกระทั่งปีล่าสุดนี้ เราได้เห็นภาวะหนาวเย็นสุดขั้วเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

แน่นอนว่าความสุดขั้วที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแค่ด้านเดียว เมื่อต้องพบเจอกับความหนาวเย็นเป็นประวัติการณ์ โอกาสที่เราต้องพบกับภาวะร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ก็มีอยู่สูงมาก ตามมาด้วยอุทกภัยที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นทุกปีเช่นกัน

แม้จะรู้ว่าการบริโภคพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่การเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมและสังคมให้เข้าสู่การใช้พลังงานทดแทนแบบฉับพลันทันทีนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะเราเคยชินกับบริโภคน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ มานับร้อยปี

สำหรับบ้านเรา แม้วันนี้กระแสการตื่นตัวของรถไฟฟ้าจะเกิดขึ้นสำเร็จจนมียอดจำหน่ายนับหมื่นคันแล้ว แต่โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของเรายังแทบจะไม่ต่างจากเดิมเลย เพราะการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกหมายถึงการลุงทนครั้งใหญ่

แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธการปรับตัวในครั้งนี้เพราะเล็งเห็นผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสีเขียวจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพียงแต่มันจะส่งผลถึงต้นทุนในระยะแรก อาจทำให้ราคาของสินค้าหลายอย่างแพงขึ้นด้วยมาตรการส่งเสริมพลังงานทางเลือก เช่นมาตรการทางภาษีและการนำเข้าในหลายประเทศที่กำลังบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

ผู้บริหารและเจ้าของธุรกิจจึงต้องคิดถึงมาตรการเหล่านี้ ยิ่งต้องพึ่งพิงการส่งออกเราก็ย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาคอุตสาหกรรมและรัฐบาลก็ต้องวางแผนการลงทุนระยะยาวที่ลดการใช้พลังงานฟอสซิลลง ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์และวางแผนการลงทุนด้านพลังงานอย่างรัดกุม

ประการต่อมาคือ การระบาดของโรคอุบัติใหม่ซึ่งโควิด-19 ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่อาจมีการกลายพันธุ์ จนทำให้เราต้องใช้ชีวิตอยู่คู่กับมัน สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือการรับมือกับการระบาด การกักตัว การทำงานที่บ้าน ฯลฯ ในอนาคตเราจึงต้องหาทางคุ้นเคยกับการทำงานในลักษณะนี้ให้มากขึ้น

เช่นการทำงานที่พนักงานกลุ่มหนึ่งอาจถูกกักตัวครั้งละ 5-10 คนจะมีมาตรการอย่างไรให้งานดำเนินต่อเนื่องไปได้ สายการผลิตในโรงงานจะจัดการอย่างไรหากมีพนักงานจำเป็นต้องหยุดงาน 10-20 คนต่อวัน หรือมากว่านั้น ตามขนาดของธุรกิจ ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และมีโอกาสได้นำประสบการณ์นี้มาใช้ในอนาคตอย่างแน่นอน

นอกเหนือจากนั้นก็คือเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งสวนทางกับกระแสโลกไร้พรมแดนที่ควรจะทำให้มนุษย์โลกใช้ชีวิตได้อย่างเสรีไร้พรมแดน แต่ตอนนี้กลับต้องถูกกีดกันด้วยความขัดแย้งจากการเมืองระหว่างประเทศจนทำให้อุตสาหกรรมต้องวางแผนระยะยาวเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าห่วงไม่แพ้กันก็คือการกระจายรายได้ที่นับวันประชากรโลกก็จะพบว่าความมั่งคั่งนั้นกระจุกตัวอยู่กับคนเพียง 1%-5% เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนาก็ล้วนประสบปัญหาเดียวกันนั่นคือช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่ห่างจากกันมากขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นผลจากการกระจายรายได้และโอกาสยังไม่ทั่วถึง

ผลที่เกิดขึ้นในระยะสั้นก็คือทรัพยากรของแต่ละประเทศจะขึ้นอยู่กับกลุ่มทุนรายใหญ่ของประเทศที่มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ในขณะที่ชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานแทบจะไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่ดิน แหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ฯลฯ

นั่นหมายความว่ากลุ่มคนด้อยโอกาสก็จะยิ่งขาดโอกาสในการลืมตาอ้าปากเพราะทรัพยากรทุกอย่างล้วนมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่รายได้ของพวกเขาลดลงหรือเท่าเดิม ชนชั้นสูงกลับมีรายได้เพิ่มขึ้นและยิ่งมีชีวิตที่หรูหราฟู่ฟ่ามากขึ้นตลอดเวลา

ปมปัญญาเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่เราต้องคำนึงและหาทางแก้ไขในทุกระดับ เพราะนี่อาจเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมปะทุขึ้นมาภายในปี 2023 นี้ เราจึงต้องเตรียมตัวรับมือกับภาวะวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นเสมอ