สร้างคนหรือสร้างกรอบ

สร้างคนหรือสร้างกรอบ

ยิ่งเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้นเพียงใด เราก็ต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพมากขึ้นตามไปด้วย เพราะยิ่งเราใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยคิดและช่วยวางแผน เราก็ยิ่งต้องการบุคลากรจำนวนมากเพื่อลงมือทำตามแผนเหล่านั้นให้ได้สำเร็จ

ต้นทุนที่สำคัญที่สุดสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในวันนี้จึงยังคงหนีเรื่องทรัพยากรมนุษย์ไปไม่พ้น โดยเฉพาะในยุคที่เราแข่งขันกันด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เราจะเห็นแนวคิดแปลกๆ ใหม่ๆ มากมายแต่ความคิดเหล่านั้นจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากขาดคนลงมือทำ

ตัวชี้ขาดถึงความสำเร็จของธุรกิจในวันนี้จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนที่ “คิดก่อน” เสมอไปเพราะหลายครั้งที่คนคิดก่อนต้องพ่ายแพ้ให้กับคนที่ “ลงมือทำก่อน” การมีบุคลากรที่มีคุณภาพสูงให้พอเพียงและพร้อมลงมือทำเสมอจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือบุคลากรชั้นดีนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในวันที่บริษัทเซ็นสัญญาจ้างเขา หากแต่เขาเป็นผลิตผลที่ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่ครั้งที่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ย้อนกลับไปจนถึงระดับมัธยม ประถม รวมถึงการบ่มเพาะจากครูอาจารย์ พ่อแม่ และสังคมรอบข้าง

การจะสร้างให้เด็กหนึ่งคนเติบโตไปเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพจึงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับทั้งชีวิตของเขาช่วยกันฟูมฟักขึ้นมา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นคือการปัดความรับผิดชอบไปให้กับครู โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย เป็นหลัก

เพราะเมื่อบทบาทหลักอยู่ที่หน่วยงานที่ดูแลด้านวิชาการ ในขณะที่เด็กแต่ละคนไม่ได้เก่งในด้านวิชาการเหมือนกันทั้งหมด ผลก็คือเรามีเด็กจำนวนมากที่อาจจะมีความโดดเด่นในด้านดนตรี กีฬา หรือกิจกรรมอื่น ๆ แต่กลับถูกตราหน้าว่า “ไม่เอาไหน” เพราะทำคะแนนด้านวิชาการได้ไม่ดีนัก

นั่นหมายความว่าการศึกษาในระบบนั้นมุ่งเน้นไปที่ “จุดอ่อน” ของเด็กจำนวนมากเพื่อเคี่ยวเข็ญให้เขาทำคะแนนในด้านวิชาการให้สูงที่สุด เพราะผลสำเร็จของสถาบันการศึกษาก็คือระดับคะแนนเฉลี่ยของทั้งโรงเรียนที่สูงขึ้น เด็กที่ได้รับการยกย่องจึงมักเป็นเด็กที่มีผลการเรียน 4.00 ในทุกวิชา

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่ประสบความสำเร็จอยู่ในทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักการเมือง นักเคลื่อนไหวทางสังคม ฯลฯ อาจไม่ใช่คนที่เรียนได้เกรด 4.00 ทุกวิชา เพราะเขาอาจทำได้ดีเฉพาะวิชาที่เขาชอบ และอาจสอบตกในบางวิชาเสียด้วยซ้ำ แต่เขาก็ประสบความสำเร็จได้ด้วยทักษะด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ด้านวิชาการ

การตัดสินอนาคตเด็กด้วยคะแนนทางด้านวิชาการอย่างเดียวจึงไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เพราะเด็กแต่ละคนมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกัน การที่เด็กมีความโดดเด่นด้านกีฬา ด้านดนตรี หรือด้านกิจกรรมอื่นๆ

เราอาจส่งเสริมให้เขาเติบโตไปในแนวทางดังกล่าว เพราะเขาก็สามารถใช้ทักษะที่โดดเด่นเหล่านั้น สร้างเส้นทางประสบความสำเร็จเป็นของตัวเองได้ในอนาคต

อนุมานถึงคนสวนที่เราจ้างให้มาตกแต่งสวนตามบ้าน ซึ่งแน่นอนว่าเขาช่วยดูแลสวนของเราให้เป็นระเบียบได้ แต่คนสวนเหล่านั้นก็ไม่สามารถปลูกต้นไม้ที่มีดอกสวยงามเหมาะสมกับบ้านเราและจัดไม้ดอกประเภทต่างๆ ให้เข้ากันได้

เพราะเขาถูกสอนมาให้ถอนหญ้า ตัดแต่งกิ่งไม้ ฯลฯ ไม่ได้ถูกสอนมาในเรื่องของการปลูกและคัดเลือกพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ ไม่ต่างอะไรกับเด็กที่ถูกบ่มเพาะมาแต่เรื่องของวิชาการแต่เพียงอย่างเดียวแล้วหวังให้เขาพร้อมไปทำงานสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ในอนาคตโดยที่ไม่เคยฝึกฝนเขาเรื่องกิจกรรมอื่นๆ เลย

ทั้งๆ ที่เราเข้าใจเรื่องการทำงานของสมองซีกซ้ายและซีกขวา ซึ่งเด็กแต่ละคนล้วนมีความแตกต่างกัน การเคี่ยวเข็ญให้เขาทำในสิ่งที่ไม่ถนัดและเขาอาจไม่มีวันที่ทำได้ดีจึงเป็นเหมือนการลงโทษเขาทางอ้อมและตัวเราเองก็ย่อมคิดไปเองว่าเขาสู้เด็กคนอื่นไม่ได้

เมื่อสภาพแวดล้อมของเด็กคนนี้เป็นแบบนี้มาโดยตลอด โดยไม่เคยถูกส่งเสริมจุดเด่นที่เขามีอยู่ภายในตัว สุดท้ายแล้วเขาก็ย่อมเติบโตขึ้นมาโดยถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบ แต่เป็นกรอบที่ไม่ส่งเสริมให้เขามีคุณค่าใดๆ ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ในอนาคต