อนาคตเด็กอนาคตไทย

อนาคตเด็กอนาคตไทย

ก้าวสู่ปีใหม่ เราก็มีความหวังใหม่กันอีกครั้งว่าปีนี้น่าจะเป็นปีที่ดีกว่าปีที่แล้ว เป็นปีที่น่าจะมีโอกาสใหม่เปิดกว้างมากกว่าเดิม

เพราะตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมานั้น เราต้องประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ หนำซ้ำต้องพบกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ จนทำให้เราต้องปรับตัวกันตลอดเวลา

แต่ความหวังและความฝันของเรานั้นอาจต้องฝากไปกับอนาคตของประเทศซึ่งก็คือเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่กำลังเติบโตและผ่านกระบวนการบ่มเพาะอยู่ในระบบการศึกษาทุกระดับชั้นในวันนี้ ซึ่งเกริ่นไว้ใน Think out of The Box ตอนที่แล้วว่า เราอาจกำลังสร้างกรอบที่ไม่ส่งเสริมให้เขามีคุณค่าที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศได้ในอนาคต

เพราะกรอบดังกล่าวได้ประทับตราลงไปในตัวเขาแล้วว่า “ไม่เก่ง” เพียงเพราะไม่ได้มีความเป็นเลิศทางวิชาการในเรื่องใด เรื่องหนึ่ง ตามที่โรงเรียนคาดหวังเอาไว้ ซึ่งน่ากังวลว่าเด็กเหล่านี้เมื่อถูกครูตำหนิหรือพ่อแม่ต่อว่า สุดท้ายแล้วเขาอาจต่อต้านสังคมและคนรอบข้าง เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า และทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ

บทบาทในการหล่อหลอมเยาวชนเหล่านี้จึงไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่เป็นสถาบันครอบครัวและคนรอบข้างที่ต้องช่วยกันสร้างแนวทางให้เด็กแต่ละคนซึ่งล้วนมีความแตกต่างกัน และล้วนมีคุณค่าที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง

เปรียบเหมือนเพชรพลอยแต่ละเม็ดที่อาจมีสีสันและความงามที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะมีสีอะไรก็ล้วนมีคุณค่าเหมือนกันแต่การเจียระไนให้เปล่งประกายได้สวยที่สุดต่างหาก ที่จะช่วยทำให้เพชรพลอยเหล่านั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้

ปรัชญาจีนโบราณที่สอนไว้ว่าหนึ่งปีมี 365 วัน ซึ่งหากเป็น 365 อาชีพ ทุกอาชีพก็ล้วนมีจอหงวนที่โดดเด่นและเชี่ยวชาญในอาชีพนั้นๆ เพราะทุกคนไม่จำเป็นต้องประกอบอาชีพเดียวกัน คนทำอาหารเก่งก็ทำร้านอาหารที่ดีและมีคนติดใจมาใช้บริการเป็นประจำได้

ร้านอาหารนั้นอาจขยายสาขาไปทั่วประเทศได้หากทำได้ดีจริงก็อาจขยายไปสู่ระดับโลกได้ซึ่งมีตัวอย่างให้เราเห็นมากมาย ไม่จำกัดเฉพาะร้านอาหารแต่ยังมีไอศกรีม ร้านขนม ร้านเบเกอรีต่างๆ จำนวนมากที่โด่งดังจนมีสาขาทั่วโลก

งานอดิเรกบางอย่าง หรือความสนใจในบางด้านก็สามารถพัฒนาเป็นธุรกิจที่มีสาขามากมายได้ เช่นการรักสัตว์เลี้ยง เราก็จะเห็นร้านอาหารสัตว์ที่เติบโตมีสาขากระจายทุกจังหวัด หรือจะเป็นร้านซ่อมรองเท้า ซ่อมนาฬิกา ฯลฯ สะท้อนให้เห็นว่าทุกสาขาอาชีพล้วนมีช่องทางเจริญเติบโตด้วยกันทั้งนั้น

แต่การจะหาแนวทางให้เด็กแต่ละคนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะมาตรฐานการเรียนการสอนในปัจจุบันที่เน้นการอัดฉีดความรู้ด้านวิชาการให้เด็กนักเรียนที่มากเกินความจำเป็น ทำให้บทบาทในการเรียนการเรียนขึ้นอยู่ครูอาจารย์เป็นหลักแม้จะบอกว่ามีนโยบายให้เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลางก็ตาม

ผลก็คือครูมีทำบทบาทในการสอนหรืออัดฉีดความรู้ด้านวิชาการให้เด็กถึงมากกว่า 80% ของเวลาเรียน เหลืออีกไม่ถึง 20% ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความสามารถเฉพาะตัวให้ครูและอาจารย์ได้เห็นซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอสำหรับเด็กทุกคน

หากกลับกันเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมสัก 60%-70% ผลที่ได้รับอาจเปลี่ยนไปมาก เพราะครูอาจารย์จะได้รับฟังเด็กๆ มากขึ้น ทำให้ได้รู้ว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกันอย่างไรและมองเห็นว่าจะพัฒนาเด็กๆ แต่ละคนให้มีแนวทางเฉพาะตัวได้อย่างไร

ผลที่ได้คือพลังความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ที่จะกลายเป็นบุคลากรคนสำคัญป้อนให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งนั่นคือโอกาสที่แท้จริงของประเทศแม้จะต้องใช้เวลาและงบประมาณมหาศาลแต่มันจะคุ้มค่าอย่างแน่นอน

ปีใหม่ที่มาถึงนี้จึงเป็นปีที่เรายังคงมีความหวังและความฝันเช่นเดิม แต่เราทุกคนมีส่วนร่วมสร้างอนาคตได้ด้วยการใส่ใจดูแลเด็กรุ่นใหม่ทุกคน เพื่อให้เขามีแนวทางที่ดีเป็นรากฐานในการสร้างอนาคตที่ดีให้กับประเทศไทยไปพร้อมกัน

สวัสดีปีใหม่แด่ผู้อ่านทุกท่านครับ...