สมดุลคน 2 วัย (3)
โลกธุรกิจวันนี้ต้องการ Resilience ที่ล้มแล้วต้องกลับมาเดินหน้าต่อได้อย่างเร็วที่สุด
เกริ่นไว้ใน Think out of The Box ฉบับที่แล้วถึงแนวทาง 5 ประการเพื่อแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยภายในองค์กร เริ่มจากการรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ มีเป้าหมายและมุ่งมั่นสู่เป้าหมาย การทำทุกอย่างตามธรรมชาติของตัวเรา การกล้าเผชิญความไม่รู้ และการเคารพต่อหน้าที่ของตัวเอง
ต่อกันใน ข้อหก ต้องทำสมองให้ปลอดโปร่งทุกครั้งก่อนตัดสินใจเรื่องต่างๆ เพราะบางครั้งเราอาจอยู่ในอารมณ์โศกเศร้าหรือโกรธเคืองซึ่งเป็นภาวะที่เราขาดความมั่นคงทางอารมณ์จนอาจทำให้เราไม่อาจตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
การสำรวจตัวเองว่าอยู่ในอารมณ์แบบใด และมั่นคงเพียงพอไหมก่อนทำการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จึงช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ การทำงานจะได้ประสิทธิภาพสูงสุดก็ต่อเมื่อเราอยู่บนทางสายกลางคือไม่เครียดแต่ก็ไม่ผ่อนคลายมากเกินไป
นอกเหนือจากนั้นก็ต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้ดีเมื่อพบกับคำวิจารณ์แบบตรงไปตรงมา ซึ่งมักจะไม่ถูกใจเรานัก เพราะนั่นเป็นภาพสะท้อนของตัวเราเองที่สามารถนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีจุดยืนที่มั่นคงหากเป็นเรื่องที่เรามั่นใจแม้จะไม่ถูกใจผู้อื่นก็ตาม
ข้อเจ็ด กล้าทำและกล้ารับผิดชอบ เพราะการคิดอย่างเดียวโดยไม่ลงมือทำย่อมไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่เมื่อลงมือทำแล้วก็ต้องกล้ารับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำด้วยเช่นกัน และที่สำคัญต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งทีมเพราะเราไม่ได้ทำงานโดยลำพัง
การปล่อยให้คนในทีมรับผิดชอบกับความล้มเหลวหรือความผิดพลาดเพียงคนเดียวย่อมกัดกร่อนพลังในการทำงานเช่นเดียวกับการที่มีใครคนใดคนหนึ่งเสนอตัวรับความดีความชอบไปเพียงคนเดียวเพราะทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงานเช่นกัน
การสร้างความสำเร็จร่วมกันย่อมเป็นหนทางในการสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ในขณะที่ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นก็ถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทำให้คนทั้งทีมเกิดประสบการณ์และการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดร่วมกันจึงทำให้พวกเขาแกร่งขึ้นได้ในอนาคต
ข้อแปด อย่ากดดันตัวเองมากเกินไป เพราะในโลกธุรกิจยุคดิจิทัลนั้นทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งผลรุนแรงต่อธุรกิจและอุตสาหกรรม ความขยันอดทนต่องานที่มีความกดดันสูงเช่นนี้นับว่าน่าชื่นชมแต่ก็ต้องรู้จักสมดุลและรู้จักปล่อยวางบ้างหากพบว่าตัวเองอยู่ในสภาวะที่ตึงเครียดเกินไป
หลาย ๆ คนอาจมั่นใจว่ารับความเครียดและความกดดันได้ดี แต่เมื่อต้องพบเจอกับความเครียดอย่างต่อเนื่องก็อาจรับไม่ไหวส่งผลให้สุขภาพจิตย่ำแย่ ซ้ำร้ายบางคนอาจต้องพบกับความล้มเหลวแล้วทำใจไม่ได้จนอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วโลกธุรกิจวันนี้ต้องการความยืดหยุ่นหรือ Resilience ที่ล้มแล้วต้องกลับมาเดินหน้าต่อได้อย่างเร็วที่สุด ความผิดพลาดจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การกลับมาเดินหน้าต่อโดยเรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นต่างหากที่จะทำให้เราเข้มแข็งขึ้น
นักธุรกิจและนักกีฬามีความเหมือนกันที่สภาพจิตใจของผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้ชนะได้นั้นต้องแกร่งเพียงพอ เพราะในการแข่งขันเพื่อเฟ้นหาแชมเปี้ยนนั้นจะพบว่านักกีฬาแต่ละคนไม่ว่าจะเป็นเทนนิส ปิงปอง มวย ฯลฯ ล้วนมีความแข็งแกร่งทางร่างกายที่ไม่ต่างกันมากนัก
แต่สภาพจิตใจต่างหากที่เป็นตัวชี้ขาด เพราะความวิตกกังวล ความไม่มั่นใจ ความกลัวพ่ายแพ้ ฯลฯ ล้วนเป็นตัวกดดันให้นักกีฬาทำผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐานจนอาจถึงขั้นพ่ายแพ้ ตรงกันข้ามกับนักกีฬาที่เข้าแข่งขันด้วยความมั่นใจ และมองเห็นว่าตัวเองมีโอกาสชนะ เขาย่อมมีความฮึกเหิมและทำผลงานได้ดีจนคว้าชัยขนะได้ในที่สุด
การฝึกตัวเองให้เกิดความสมดุลระหว่างการทำงานอย่างมุ่งมั่นจริงจังและการผ่อนคลายไม่กดดันตัวเองจนมากเกินไปจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และต้องหาแนวทางเพื่อสร้างสมาธิให้ตัวของเราตระหนักและเข้าใจตัวเองและสภาวะแวดล้อมรอบตัวอย่างถ่องแท้ต่อไป
...ยังมีข้อคิดเห็นอื่นๆ โปรดติดตามในตอนต่อไปครับ