ญี่ปุ่นทำสำเร็จ ‘หนูตัวผู้’ มีลูกด้วยกันได้ ปูทางคู่รักเพศเดียวกัน - มีบุตรยาก

ญี่ปุ่นทำสำเร็จ ‘หนูตัวผู้’ มีลูกด้วยกันได้ ปูทางคู่รักเพศเดียวกัน - มีบุตรยาก

นักวิจัยประเทศญี่ปุ่น สร้าง ‘หนู’ จากเซลล์ไข่ของ ‘ตัวผู้’ ทั้ง 2 ตัว ทำให้มีลูกด้วยกันได้ หากเทคโนโลยีนี้วิจัยในมนุษย์สำเร็จ จะเป็นความหวังแก่คู่รักเพศเดียวกันตลอดจนผู้ที่มีบุตรยาก

ฮายาชิ คัตสึฮิโกะ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ผู้ทดลองการสร้างไข่ และสเปิร์มในห้องปฏิบัติการ กล่าวในการประชุมสุดยอดระหว่างประเทศ ครั้งที่ 3 เรื่อง “การแก้ไขจีโนมมนุษย์” ไว้ว่า ตนเองได้ค้นพบวิธีการที่จะทำให้หนูตัวผู้ 2 ตัวมีลูกด้วยกันได้ โดยไม่ต้องใช้หนูตัวเมียมาผสมพันธุ์ 

วิธีการนี้ทำได้โดย “สร้างไข่จากเซลล์ผิวหนังของหนูตัวผู้” โดยเป็นการวิจัยเพื่อเปลี่ยนโครโมโซม XY ของหนูตัวผู้ ให้กลายเป็นโครโมโซม XX ของหนูตัวเมีย เซลล์ผิวหนังของหนูเพศผู้ได้รับการปรับเปลี่ยนพันธุกรรมใหม่ให้อยู่ในสภาพเหมือนเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อที่สามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์อื่นที่เรียกว่า “plurioitent (iPS)”

ญี่ปุ่นทำสำเร็จ ‘หนูตัวผู้’ มีลูกด้วยกันได้ ปูทางคู่รักเพศเดียวกัน - มีบุตรยาก

ซึ่งโครโมโซม Y ของเซลล์นั้นจะถูกลบออก และแทนที่ด้วยโครโมโซม X ที่ยืมมาจากเซลล์อื่น จากนั้นจะได้ iPS ที่มีโครโมโซม XX เพื่อสร้างไข่ ในที่สุดเซลล์นี้จะนำไปฝังในรังไข่เทียม ซึ่งเป็นระบบการเพาะเลี้ยงที่จำลองขึ้นมาจากสภาวะภายในรังไข่ของหนู และได้รับการปฏิสนธิกับสเปิร์มปกติ 

ทีมวิจัยทำการทดลองปฏิสนธิประมาณ 600 ตัว ได้ผลสำเร็จ 7 ตัว เกิดการตั้งครรภ์ และคลอดออกมา ซึ่งมีการเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง มีสุขภาพสมบูรณ์ อีกทั้งยังสามารถสืบพันธุ์ตามธรรมชาติต่อไป และกลายเป็น “พ่อหนู” ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ฮายาชิ ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับระดับโลก โดยเขายอมรับกับผู้เข้าร่วมการประชุมว่า งานของเขายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เพราะไข่ที่สร้างจากเซลล์เพศผู้ของหนูยังมีคุณภาพที่ไม่ดีนัก ดังนั้น วิธีการนี้จึงยังนำมาใช้กับมนุษย์ไม่ได้

ญี่ปุ่นทำสำเร็จ ‘หนูตัวผู้’ มีลูกด้วยกันได้ ปูทางคู่รักเพศเดียวกัน - มีบุตรยาก

หากแต่เขาคาดว่าในอีก 10 ปีต่อจากนี้ แนวทางการรักษาปัญหาการมีลูก และบริการการมีลูกด้วยวิธีดังกล่าว จะเป็นตัวเลือกให้กับทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และคู่รักเพศเดียวกัน หากมีการพัฒนาจนได้รับการรับรองว่าปลอดภัย

ขณะเดียวกัน จอร์จ ดาเลย์ (George Daley) ศาสตราจารย์จากโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แสดงความเห็นกับความสำเร็จของวิธีการนี้ว่า “น่าทึ่ง” และกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การสร้างเซลล์สืบพันธุ์จาก “เซลล์มนุษย์” นั้นมีความท้าทายมากกว่า “เซลล์ของหนู” มาก

เช่นเดียวกับ อแมนเดอร์ คลาร์ก (Amander Clark) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส กล่าวว่า การนำวิธีนี้ไปปรับใช้กับมนุษย์ถือเป็น “การกระโดดก้าวใหญ่”

แต่อย่างไรก็ตาม ฮายาชิก็ยังไม่ยอมแพ้ เขากล่าวทิ้งท้ายว่า “ถ้าหลายคนต้องการ และสังคมยอมรับเทคโนโลยีนี้ ผมก็พร้อมสนับสนุน” 

เรียกได้ว่า วิธีการของฮายาชิจะมีประโยชน์อย่างมากในอนาคต เพราะถือเป็นการปูทางไปสู่การรักษาภาวะมีบุตรยาก หรือการทำให้คู่รักที่มีเพศสภาพเป็นชายทั้งคู่ สามารถมีบุตรที่มาจากสายเลือดแท้ๆ ของตนเองได้

นี่อาจเป็นความหวังครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ 

อ้างอิงข้อมูล: theguardian newscientist

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์