ความเคลื่อนไหว ASEAN กับ Generative AI | บวร ปภัสราทร
ในงาน ASEAN Economic Outlook บอกว่า อาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่เป็นทางเลือกสำคัญของการลงทุนค้าขาย ในยามที่โลกกำลังมีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
โดยเรื่องหนึ่งที่กล่าวถึงกันมากคือเรื่อง AI ซึ่งน่าจะอนุมานว่าเจาะจงไปที่ Generative AI เป็นสำคัญ เพราะเป็น AI ที่ใช้งานกันเป็นรูปธรรมโดยที่รับรู้ตัวกันว่ากำลังใช้ AI กันอยู่ ในขณะที่ AI ด้านอื่นๆ นั้น มักจะแผงตัวอยู่กับงานอื่นๆ จนผู้ใช้ไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้งาน AI อยู่
รัฐบาลทุกประเทศในอาเซียนต่างเดินหน้าเรื่องนี้กันทั้งนั้น หวังว่า AI จะช่วยดึงดูดการลงทุนค้าขายจากต่างประเทศ
ผู้บริหารบริษัทข้ามชาติกล่าวถึงแนวทางในการช่วยพัฒนาฝีมือในด้าน AI ในแทบทุกเวทีที่จัดขึ้นในประเทศอาเซียนเกือบจะเปิดคลิปที่บันทึกไว้แทนการนำเสนอบนเวทีได้เลย ดูดีๆ แล้วอาเซียนแต่ละประเทศมีเป้าหมายที่ต่างกันอยู่มากทีเดียว
บ้านเราป่าวประกาศเรื่องการลงทุนก่อสร้าง Data Center จากต่างประเทศ มีคณะกรรมการ AI ทั้งในระดับรัฐบาลมาแล้วสามสี่รัฐบาล และล่าสุดก็มีในระดับกระทรวงเพิ่มขึ้นมาอีก
เป้าหมายของเราอยู่ที่การเป็นผู้นำ AI ในภูมิภาค เราจะเป็น “อาเซียน ฮับ” ในหลายเรื่องรวมทั้งเรื่อง AI การมีดาต้าเซนเตอร์เป็นเสมือนมีห้างสรรพสินค้าที่ต้องการสินค้า และบริการที่ดีเลิศมาประกอบให้กลายเป็นความสำเร็จที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม ห้างสรรพสินค้าที่มีดูสวยงามใหญ่โตที่ต้องปิดกิจการไปแล้วเคยมีให้เห็นมากมาย ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าในบ้านเรา จึงสามารถไปซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าใหญ่โตในต่างประเทศได้
แผนกลยุทธ์ของสิงคโปร์ กล่าวว่า สิงคโปร์จะเป็น AI Powerhouse โดยกำหนดไว้ชัดเจนว่า Generative AI เป็นเรื่องสำคัญที่จะเดินหน้าอย่างจริงจัง โครงการ AI Singapore พยายามผนวก Generative AI เข้ากับการประมวลผลข้อมูลที่มาจากภาษาที่ผู้คนสื่อสารกัน แทนที่จะเป็นข้อมูลจากภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นยังพยายามที่จะผนวกเข้ากับ Machine Learning และ Computer Vision
เขาหวังว่าสถาบันวิจัยในมหาวิทยาลัยระดับนำของโลกในบ้านเขา จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ไปค้าขายได้ทั้งในวงการธุรกิจ และอุตสาหกรรม โดยมี Generative AI เป็นองค์ประกอบสำคัญ เขาไม่ได้อยากเป็นฮับ แต่เขาอยากเป็นประเทศผู้สร้าง AI ไปขายทั่วโลก
อินโดนีเซียมองต่างไปจากสิงคโปร์ คือเขาตั้งใจจะใช้ Generative AI พลิกโฉมระบบรัฐบาลบ้านเขา
ซึ่งคงทราบกันดีว่า ที่อินโดนีเชียดีวันดีคืนในทศวรรษที่ผ่านมานี้ ส่วนสำคัญมาจากการปฏิรูปการเมืองและรัฐกิจในบ้านเขาได้อย่างประสบความสำเร็จ จนกระทั่งการเมืองบ้านเขามีกิจกรรมเกี่ยวกับอนาคตของบ้านเมือง มากกว่ากิจกรรมเพื่ออนาคตของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าเขาจะไม่เก่งเรื่องการแพทย์เท่ากับบางประเทศในอาเซียน แต่ตอนนี้เขาทุ่มเทในเรื่องการใช้ Generative AI กับการแพทย์อย่างมากมาย ส่งคนหนุ่มสาวไปเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยในประเทศชั้นนำด้านนี้
จนกล่าวเล่นๆ กันว่า ที่ไหนมีแล็บเก่งๆ ด้านนี้ ที่นั่นจะมีนักศึกษาจากอินโดนีเซียเล่าเรียนอยู่ ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ คงต้องดูกันอีกยาว
แต่เขามีปลายทางที่อยากไปชัดเจน เหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อนที่เกาหลีมีเป้าหมายที่ชัดเจนในเรื่อง บูรณาการระหว่างสมาร์ตโฟนกับ K-Pop จากแผนกลยุทธ์เพียงไม่กี่หน้า เทียบกับบ้านเราที่มีหลายร้อยหน้า
ความสำเร็จของเกาหลีในวันนี้ อาจเป็นความสำเร็จของอินโดนีเซียในวันหน้าจากการมุ่งมั่นไปสู่ปลายทางที่มีรูปธรรมแน่ชัด ไม่ใช่แค่เป็นนามธรรมที่ตีความกันได้สารพัดแบบที่นิยมกันอยู่ในบ้านเรา
มาเลเซีย มองไปที่เศรษฐกิจเป็นสำคัญ เขาอยากใช้ Generative AI ช่วยสร้างนวัตกรรมที่นำไปสู่การเติบโตของธุรกิจ และอุตสาหกรรม แต่แทนที่จะเริ่มต้นเองทั้งหมด มาเลเซียหาทางลัดไปสู่ความสำเร็จด้วยการแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรทั่วโลก ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกิจกรรมจากความร่วมมือที่เกิดขึ้น
เวียดนามอยากเป็น Hub ของ ASEAN เหมือนบ้านเรา โดยใช้เรี่ยวแรงจากนักลงทุนจากต่างประเทศเป็นสำคัญ เขาเน้นให้คนของเขาเก่งเรื่อง Generative AI
ลาวพยายามใช้ AI กับการท่องเที่ยว และการเกษตร กัมพูชาอยากใช้ AI กับการเกษตร แม้แต่เมียนมาก็ยังบอกว่ากำลังสร้างความสามารถด้าน AI ให้ผู้คนในประเทศ
ทุกประเทศในอาเซียนทำเรื่อง AI แต่บางประเทศมีความชัดเจน บางประเทศก็เป็นได้แค่ตามกระแสโลก.