Google เสนอกลยุทธ์ ขับเคลื่อน ‘โอกาส AI’ ในประเทศไทย 

Google เสนอกลยุทธ์ ขับเคลื่อน ‘โอกาส AI’ ในประเทศไทย 

Google เสนอแผนกลยุทธ์การพัฒนาเพื่อมุ่งสู่อนาคต AI ที่เต็มไปด้วยโอกาสและความท้ายทาย ภายใต้ “วาระขับเคลื่อนโอกาสด้าน AI สำหรับประเทศไทย”

KEY

POINTS

  • ชู 3 เสาหลัก สนับสนุนให้ประเทศไทยนำเทคโนโลยี AI มาใช้ให้ได้เต็มศักยภาพ
  • ปลดล็อกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 2.6 ล้านล้านบาทภายในปี 2573
  • มองไทยมีความพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI
  • โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้าน AI ของประเทศ

เทคโนโลยี AI มีศักยภาพที่จะช่วยเปิดโอกาสที่มีอยู่อย่างมากมายให้กับผู้คนทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย...

งานวิจัยของ Access Partnership ระบุว่า หากภาคส่วนและองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยนำนวัตกรรม AI มาใช้งาน จะสามารถปลดล็อกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 2.6 ล้านล้านบาทภายในปี 2573

แจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการ Google ประจำประเทศไทย แสดงทัศนะว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ผู้คนในประเทศต่างมีความกระตือรือร้นที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากศักยภาพของเทคโนโลยี AI

โอกาสในการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกนั้นมีอยู่มากมาย การตัดสินใจของภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคมในวันนี้จะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ AI เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้อย่างไรบ้าง

ชู ‘3 เสาหลัก’ ขับเคลื่อนโอกาส

สำหรับ Google ประเทศไทย ได้เสนอแผนเชิงนโยบายเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้สมุดปกขาว (White paper) “วาระขับเคลื่อนโอกาสด้าน AI สำหรับประเทศไทย” โดยหลักการได้เสนอแนะ 3 เสาหลัก ที่มุ่งสนับสนุนให้ประเทศไทยนำเทคโนโลยี AI มาใช้ให้ได้เต็มศักยภาพอย่างมีความรับผิดชอบ ดังนี้

1. การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม : เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี AI ได้อย่างเต็มที่ ประเทศไทยควรลงทุนในการวิจัยและพัฒนาและโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีคลาวด์ 

โดยโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่งและการร่วมมือกับภาคเอกชนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้าน AI ของประเทศ และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยี AI

นอกจากนี้ นโยบายและสภาพแวดล้อมด้านการกำกับดูแลที่เอื้ออำนวยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาแนวทางการกำกับดูแล AI ตามระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันไปในแต่ละกรณี การกำหนดกรอบระเบียบด้านลิขสิทธิ์เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมควบคู่ไปกับการเคารพสิทธิอันชอบธรรม และการสนับสนุนนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First) เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยี AI ในวงกว้าง

Google ยังได้นำเสนอการพิจารณาให้กรอบนโยบายของประเทศไทยสอดคล้องกับกรอบนโยบาย AI ระดับภูมิภาค เช่น ASEAN Guide on AI Ethics and Governance และมาตรฐานด้านเทคนิคระดับนานาชาติด้าน AI เพื่อให้สามารถทำงานข้ามระบบและลดความไม่สอดคล้องกัน

ประสานความร่วมมือ ‘รัฐ - เอกชน’

2. การเตรียมแรงงานให้พร้อมรับมือกับเทคโนโลยี AI : การมีทักษะด้าน AI จะช่วยให้คนไทยได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี AI โดย Access Partnership คาดการณ์ว่า การลดช่องว่างด้านทักษะทางดิจิทัลด้วยการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจไทยได้มากถึง 1 ล้านล้านบาท ในปี 2573

ในส่วนนี้ต้องมีการนำโปรแกรมการฝึกอบรมทักษะ AI ไปประยุกต์ใช้ในภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาโปรแกรมการฝึกอบรม สนับสนุนการใช้เทคโนโลยี AI และการสร้างความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อขยายโครงการเหล่านี้ รวมทั้งทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ด้านรัฐบาลไทยเองได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของ AI ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาทักษะและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ผ่านโครงการต่างๆ จำนวนมาก

3. การส่งเสริมการยอมรับและการเข้าถึงอย่างทั่วถึง : รัฐบาลไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการใช้งาน AI ในภาคส่วนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือยังขาดการใช้งานอยู่ รวมถึงการนำ AI ไปประยุกต์ใช้ในการบริการของภาครัฐ เพื่อให้แน่ใจว่าเทคโนโลยีนี้สามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง และช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

นอกจากนี้ ควรมีการยกระดับและส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี โดยต้องสร้างความมั่นใจว่ากฎระเบียบด้าน AI จะเป็นเครื่องมือส่งเสริมและไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจกลุ่มนี้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการกำหนดกฎระเบียบด้าน AI ที่ได้สัดส่วนและแบ่งตามระดับความเสี่ยง และการส่งเสริมมาตรฐานทางเทคนิคร่วมกันทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ เพื่อให้เอสเอ็มอี สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานสากลได้

มุ่งสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI

Google เชื่อว่า ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะคว้าโอกาสจากเทคโนโลยี AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม การพัฒนากรอบนโยบายที่มีประสิทธิภาพ

รวมไปถึงการเสริมสร้างทักษะด้าน AI และการส่งเสริมระบบนิเวศ AI ที่ครอบคลุมจะช่วยให้ประเทศไทยปลดล็อกศักยภาพของเทคโนโลยี AI ได้อย่างเต็มที่

Google พร้อมที่จะกระชับความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของประเทศไทยในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI และเป็นประโยชน์ต่อทุกคน