มองตามเจ้าของรางวัลโนเบลเห็นอะไร?

มองตามเจ้าของรางวัลโนเบลเห็นอะไร?

ผู้รับรางวัลโนเบลด้านเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2567 เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอเมริกัน 3 คน ผู้ศึกษาเหตุปัจจัยที่ทำให้บางประเทศมั่งคั่งและบางประเทศยากจน นอกจากนั้น 2 คนยังศึกษาการปันผลของเทคโนโลยีในช่วง 1 พันปีที่ผ่านมาอีกด้วย

ประเด็นเหล่านี้เป็นที่สนใจของนักเศรษฐศาสตร์มานานและได้รับการวิเคราะห์จากมุมมองต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดย 3 คนนี้มองไปที่กฎหมายและสถาบันในสังคมโดยเฉพาะที่สร้างขึ้นโดยผู้ล่าอาณานิคมจากยุโรป

บทสรุปหลักได้แก่ ประเทศใดที่กฎหมายและสถาบันทางสังคมและการเมืองถูกสร้างขึ้นมา โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวมเป็นที่ตั้ง ประเทศนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางดีและมีความมั่งคั่ง ตรงข้าม ประเทศใดที่กฎหมายและสถาบันต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเอื้อให้ชนชั้นนำแสวงหาประโยชน์โดยการเอาเปรียบประชาชนโดยทั่วไป ประเทศนั้นไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางดี ทำให้มีแต่ความยากจน

ส่วนด้านเทคโนโลยีมีข้อสรุปว่า ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ไปตกอยู่ในมือของชนชั้นนำ นอกจากนั้น ผู้ได้รับรางวัลยังย้ำเตือนอีกว่า แนวทางพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันนี้จะมีผลร้ายต่อทั้งเศรษฐกิจและระบอบประชาธิปไตย

ข้อสรุปเหล่านี้คงใช้เป็นฐานของการมองต่อไปได้หลากหลายทิศทาง ขอนำบางอย่างมาให้พิจารณา ผู้ได้รับรางวัลโนเบลเน้นการพิจารณาบทบาทของผู้ล่าอาณานิคมจากยุโรปในการวางรากฐานของตัวบทกฎหมายและสถาบันในสังคม ซึ่งก่อให้เกิดความแตกต่างทางด้านการเปลี่ยนแปลง 

เนื่องจากไทยและญี่ปุ่นไม่ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งแม้จะถูกเอาเปรียบมากก็ตาม ฝรั่งจึงไม่มีบทบาทโดยตรงต่อตัวบทกฎหมายและสถาบันของประเทศทั้งสอง อย่างไรก็ดี ประมุขของ 2 ประเทศทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกลจึงส่งคนรุ่นหนุ่มไปเรียนวิชาการด้านต่างๆ กับฝรั่งในยุโรป 

ความแตกต่างระหว่างญี่ปุ่นกับไทยในด้านการสร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวง เกิดขึ้นหลังคนหนุ่มเหล่านั้นเรียนจบและกลับบ้านเกิด กล่าวคือ หนุ่มญี่ปุ่นกลับไปสนับสนุนการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมนำไปสู่อุตสาหกรรมนำ ส่วนหนุ่มไทยกลับมานำทำการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง 

ซึ่งก่อให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด เพื่อชนชั้นนำฉบับแล้วฉบับเล่า แม้ในขณะนี้ก็ยังมีความเคลื่อนไหวจะเปลี่ยนฉบับที่กำลังใช้อยู่ จะเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ของชาวไทยโดยทั่วไป หรือเพื่อใครและกลุ่มใดยังเป็นที่กังขา

ความแตกต่างหลากหลายอย่างระหว่างญี่ปุ่นกับไทยในขณะนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ ญี่ปุ่นเปิดให้ชาวไทยเข้าไปท่องเที่ยวโดยปราศจากวีซ่ามา 11 ปี ชาวไทยที่เข้าไปท่องเที่ยวที่นั่นน่าจะได้สังเกตโดยทั่วกันว่า ทางเท้าในญี่ปุ่นต่างกับทางเท้าในเมืองไทยราวกับอยู่คนละโลก ความสามารถในการก่อสร้างและรักษาทางเท้าของชาวไทยคงไม่ด้อยกว่าของชาวญี่ปุ่น แต่อะไรทำให้เกิดความแตกต่างดังปรากฏ?

คงมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่าง อย่างไรก็ตาม ขอให้พิจารณาความมักง่ายซึ่งนำไปสู่ความฉ้อฉลที่คนไทยดูจะมีมากกว่าคนญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ เรื่องนี้โทษผู้ล่าอาณานิคมไม่ได้ ต้องโทษความมักง่ายของไทยเอง ความมักง่ายที่จะมีผลร้ายแรงมากต่อไปได้แก่นโยบายประชานิยมจำพวกลดแลกแจกแถมที่ไทยกำลังใช้อยู่ แต่ญี่ปุ่นไม่เคยใช้

ผู้นำของบางประเทศในเอเชียตระหนักในบทบาทของปัจจัยดังกล่าว จึงใช้มาตรการเข้มข้นลดความมักง่ายและความฉ้อฉลอย่างจริงจัง เช่น ลี กวน ยู และ ปัก จุง ฮี ผลเป็นอย่างไรย่อมเป็นที่ประจักษ์แล้ว

ด้านเทคโนโลยี คอลัมน์นี้อ้างถึงหลายครั้งรวมทั้งได้เสนอพร้อมคำแปลว่า มันมักมีคำสาป (The Curse of Technology) แฝงมาด้วย คำสาปจะร้ายแรงเพียงใดขึ้นอยู่กับอานุภาพในตัวมันบวกกับปัญญาและเจตนาของผู้ใช้ เช่น คำสาปของพลังงานนิวเคลียร์ย่อมร้ายแรงกว่าของดินปืน 

ส่วนปัญญาประดิษฐ์ซึ่งมักนิยมใช้ตัวย่อ “เอไอ” (ย่อจาก Artificial Intelligence) จะมีผลร้ายต่อเศรษฐกิจอย่างไรดูจะยังไม่เป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดนัก แต่ผลร้ายต่อระบอบประชาธิปไตยเริ่มเห็นได้จากการใช้มันสร้างเรื่องเท็จอันแสนแนบเนียนขึ้น แล้วส่งออกไปตามสื่อโดยกลุ่มต่างๆ ทางการเมืองเพื่อใส่ร้ายฝ่ายตรงข้ามในการเลือกตั้งในสหรัฐ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้